อนาคตยังเป็นสิ่งที่เลือนลางสำหรับ First Republic Bank ที่กำลังเผชิญกับสัปดาห์ที่ยากลำบากด้วยการลดลงของราคาหุ้นจำนวนมาก และความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ราคาหุ้นของ First Republic Bank (FRC) ธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ ร่วงลงอีกกว่า 50% วานนี้ (28 เมษายน) และหากคิดเป็นรอบสัปดาห์ พบว่าราคาหุ้น FRC ลงไปแล้วราว 75% โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา FRC เผชิญกับแรงกดดันเชิงลบอย่างหนัก และล่าสุดมีรายงานว่าบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FDIC) มีแนวโน้มที่จะเข้าพิทักษ์ทรัพย์ของ FRC ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และคาดการณ์กันว่า FRC จะมีจุดจบที่การล้มละลาย ตามหลัง Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank (SB)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: สำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า FDIC มีแนวโน้มที่จะเข้าพิทักษ์ทรัพย์ของ FRC เนื่องจากภาคเอกชน ซึ่งนำโดยกลุ่มที่ปรึกษาของ FRC ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการฟื้นฟูกิจการของ FRC ทั้งนี้ FDIC จะเข้าควบคุมกิจการ FRC โดยจะมีการยึดทรัพย์สิน ขณะที่ FDIC หารือกับธนาคารอื่นๆ ที่อาจสนใจเข้าซื้อกิจการของ FRC
แหล่งข่าวระบุก่อนหน้านี้ว่า FDIC, ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังหารือกับสถาบันการเงินหลายแห่งเกี่ยวกับการอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ FRC หลังจากเผชิญการไหลออกของเงินฝากมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาส 1/23 สถานะทางการเงินของ FRC ยังคงไม่ดีขึ้น แม้ว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 11 แห่งของสหรัฐฯ ได้อัดฉีดเงินฝาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อพยุงสภาพคล่องของ FRC ด้านที่ปรึกษาของ FRC ได้แนะนำให้ธนาคารขนาดใหญ่ดังกล่าวเพิ่มความช่วยเหลือด้วยการซื้อสินทรัพย์ของ FRC ในราคาสูงกว่าตลาด ซึ่งแม้จะทำให้ธนาคารเหล่านี้เกิดการขาดทุน แต่ก็จะดีกว่าการปล่อยให้ FRC ล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาด อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวยังคงไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ The Wall Street Journal รายงานเมื่อวันศุกร์ (28 เมษายน) ว่าบรรดาธนาคารขนาดใหญ่รวมถึง JPMorgan Chase & Co และ PNC Financial Services Group กำลังแย่งกันซื้อ First Republic หลังจากถูกรัฐบาลยึด ซึ่งอาจจะได้ข้อสรุปในสุดสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง PNC, JPMorgan และ First Republic ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ในขณะที่ FDIC ไม่ตอบสนองต่อการขอความคิดเห็น กลุ่มธนาคาร 11 แห่งที่ฝากเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ใน First Republic ยังลังเลที่จะลงทุนในบริษัท ขณะที่ธนาคารที่แข็งแกร่งบางแห่งกำลังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือให้ธนาคารเข้าสู่การพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การขายสินทรัพย์ในราคาที่น่าสนใจ FDIC ต้องการหลีกเลี่ยงการถูกพิทักษ์ทรัพย์ เนื่องจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อกองทุนประกันเงินฝาก โดย FDIC ได้กำหนดการประเมินพิเศษในอุตสาหกรรมเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวของธนาคารเมื่อเร็วๆ นี้ งบดุลของ First Republic มีภาระจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งรวมถึงการจำนองขนาดใหญ่จำนวนมาก หนี้เหล่านี้สูญเสียมูลค่าไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความท้าทายของธนาคาร การล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank เมื่อเร็วๆ นี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับธนาคารในภูมิภาคที่มีการถือครองคล้ายกัน ทำให้ผู้ฝากเงินและธุรกิจที่มั่งคั่งถอนเงินออกไป สิ่งนี้ทำให้ First Republic ต้องจ่ายเงินสำหรับการระดมทุนมากกว่าที่จะได้รับจากสินทรัพย์จำนวนมาก แม้จะมีความท้าทายเหล่านี้ ผู้บริหารธนาคารระบุในรายงานผลประกอบการล่าสุดว่า พวกเขามีเงินสดสำรองเพียงพอที่จะให้บริการลูกค้าต่อไป หุ้นของ First Republic ตกลง 97% ในปีนี้ โดยขาดทุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในธนาคารหลังจากความล้มเหลวของผู้ให้กู้ในภูมิภาค 2 รายในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญมองจุดจบ ‘เหยื่ออีกราย’ ของ Perfect Storm ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้โพสต์มุมมองต่อเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ‘ยากที่จะรอด!!!’ โดยระบุเพิ่มว่า ภายในเร็วๆ นี้คงมีคำตอบว่าแบงก์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ขอสหรัฐฯ จะจบลงอย่างไร
- จบแบบ Silicon Valley Bank ที่ถูกทางการเข้าไปยึดดูแล
- จบแบบ Credit Suisse ที่ถูกคลุมถุงชน ควบรวมเข้ากับ UBS
สัญญาณต่างๆ ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่ายากที่จะเดินต่อ เพราะความเชื่อมั่นในแบงก์ได้หมดลงแล้ว โดยผู้ถือหุ้นได้เห็นตัวอย่าง จากกรณี SVB ที่ผู้ถือหุ้นถูกลงโทษ ไม่เหลืออะไรเลย และด้วยความกลัวต่างเร่งขายเมื่อวานนี้ ทำให้ราคาตกลงมากกว่า 50% ในบางช่วง เพื่อออกมาให้ได้ก่อน ก่อนที่ First Republic Bank จะกลายเป็น ‘ใหญ่อันดับ 2 ของประวัติศาสตร์แบงก์ล้มสหรัฐฯ!’ โดยเป็นรองก็เพียงแต่ Washington Mutual (สินทรัพย์ 3.07 แสนล้าน) ที่ล้มไปช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทั้งหมดนี้ หากจะว่าไปแล้ว ทั้ง 3 กรณี
- First Republic Bank ใหญ่อันดับ 14 (สินทรัพย์ 2.12 แสนล้านดอลลาร์)
- Silicon Valley Bank ใหญ่อันดับ 16 (สินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์)
- Signature Bank ใหญ่อันดับ 29 (สินทรัพย์ 1.1 แสนล้านดอลลาร์)
ล้มลงจาก Easy Money หรือสภาพคล่องมากมายที่ออกมาจาก Fed ช่วงโควิด ทำให้แบงก์เหล่านี้ท่วมไปด้วยสภาพคล่อง โดยเงินฝากของ First Republic Bank เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 9 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปลายปี 2019 กลายเป็น 1.76 แสนล้านดอลลาร์ ณ ปลายปี 2022 จากที่เคยเพิ่มขึ้นปีละไม่มากในช่วงก่อนหน้า ซึ่งเงินที่เข้ามามากนี้ทำให้แบงก์ต้องเร่งปล่อยสินเชื่อออกไป ดร.กอบศักดิ์ระบุเพิ่มในโพสต์เดียวกันว่า เงินฝากของ First Republic Bank เพิ่มขึ้นประมาณ 85% ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 3 ปี จาก 9 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.66 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการที่แบงก์โตอย่างก้าวกระโดดนั้นไม่ต่างจากกรณีของ SVB ทำให้การดูแล ควบคุม ความเสี่ยงต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้น ทุกอย่างดูเหมือนจะดี แต่จริงๆ แล้ว ซ่อนปัญหาเอาไว้ ผู้ฝากเงินที่เป็นรายใหญ่พร้อมแห่ถอน รวมถึงสินเชื่อที่เร่งปล่อยคุณภาพน่าจะลดลง ทำให้ภาคเอกชนที่สนใจก็คงหนักใจที่จะเข้าอุ้ม ท้ายสุด เมื่อหมดทางก็คงเหลือแต่แนวทางที่ทางการต้องเข้าไปยึดเพื่อล้างปัญหาที่สะสมไว้ กลายเป็นเหยื่ออีกรายของ Perfect Storm ซึ่งจะทำให้ทุกคนเห็นว่า มาตรการที่ Fed ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมนั้นอ่อนไป และไม่สามารถหยุดการล้มของแบงก์ได้ แบงก์ที่ยังดี แต่คนขาดความเชื่อมั่นพอยังช่วยได้ แต่แบงก์ที่ซุกปัญหา ฐานะอ่อนแอ สุดท้ายก็ล้มได้ เหมือนกรณี First Republic Bank ทั้งหมดทำให้นักลงทุนถามคำถามว่า Who is next? ใครจะเป็นรายต่อไป? ใครที่เหมือน First Republic Bank โดยเฉพาะแบงก์ที่เป็น Regional Banks หรือ Community Banks “มาตามกันดูต่อไปครับว่า จะเกิดอะไรขึ้น และทางการสหรัฐฯ จะแก้เกมอย่างไร ที่จะจัดการปัญหาเรื่องนี้ให้ไม่ลุกลามไปมากกว่านี้ เพราะแค่ 3 แบงก์นี้ก็คิดเป็นสินทรัพย์ประมาณ 5.3 แสนล้านดอลลาร์ เท่าๆ กับแบงก์อันดับ 7 ของสหรัฐฯ ในขณะนี้เรียบร้อยแล้ว และคงต้องบอกว่าหนังม้วนนี้คงจะเป็นหนังม้วนยาวที่ยังไม่จบง่ายๆ ต้องลุ้นกันอีกระยะครับ” ดร.กอบศักดิ์โพสต์ส่งท้าย อ้างอิง:
The post
First Republic จ่อล้ม! FDIC เตรียมเข้าพิทักษ์ทรัพย์ หลังเงินไหลออกไม่หยุด-ความเชื่อมั่นทรุด ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นเหยื่อรายต่อไปของ Perfect Storm appeared first on
THE STANDARD.
Source:
https://thestandard.co/first-republic-bank-fdic/