บทความ คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ | MoneyPro จาก กรุงเทพธุรกิจ

Post Reply
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

สังคมสูงวัย...โจทย์ใหญ่ทั่วโลก

.
ในวันที่ประชากรของโลกแตะ 8,000 ล้านคน (15 พ.ย. 2565) สัดส่วนของประชากรสูงวัยในโลกเพิ่มขึ้นเป็น  800 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของประชากรทั้งหมดของโลก และจะเพิ่มขึ้นเป็น 16% ของประชากรจำนวน 9,700 ล้านคน หรือโลกจะมีประชากรสูงวัย ประมาณ 1,552 ล้านคน ในปี 2050

.
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลประเทศต่างๆก็คือ ทำอย่างไรจะดูแลผู้สูงวัยเหล่านั้นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และจะหางบประมาณมาจากไหน วันนี้ขอเล่าคร่าวๆถึงสิ่งที่ประเทศต่างๆได้ทำไปแล้ว หรือกำลังทำ หรือวางแผนจะทำ เพื่อให้ท่านพิจารณาว่าท่านมีทางเลือกอะไรบ้าง และสิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆนำเสนอในเวลาหาเสียงนั้น เมื่อนำมาทำจริง จะพอเป็นไปได้หรือไม่ค่ะ

.
จากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย มีประชากรสูงวัย 19.6% ของประชากรทั้งหมด เป็นเพศชาย 5,974,022 คน เพศหญิง 7,384,729 คน ในปี 2566 นี้ ก็น่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% แล้ว แต่การใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังหน่อยนะคะ เพราะไทยเราเกษียณอายุที่อายุ  60 ปี ในขณะที่หลายประเทศใช้อายุ 65 ปีนับประชากรสูงวัยค่ะ

.
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรสูงวัย (อายุเกิน 65 ปี) มีสัดส่วน 30% ของประชากร ได้เตรียมการเรื่องนี้มาหลายสิบปี โดยในปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ.​ 2543 โดยออกกฎหมาย LTCI (Long-term Care Insurance) บังคับให้ประชากรทุกคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน ซึ่งอัตราจะแตกต่างกันตามรายได้ของแต่ละคน และเมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 65 ปี ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสวัสดิการต่างๆในการดูแลผู้สูงวัยได้

.
สวัสดิการเหล่านี้ รวมถึงการมีแพทย์หรือพยาบาลไปดูแลที่บ้าน การมีคณะกรรมการท้องถิ่นคอยทบทวนความต้องการและความถี่ของการให้บริการตามรายงานของผู้สูงวัยแต่ละคนที่ผู้จัดการการดูแลรายงานมา โดยจะมีเพดานกำหนดงบประมาณขั้นสูงของแต่ละระดับการดูแล ไม่ใช่ว่าใครต้องการอะไรก็จะได้ทั้งหมดค่ะ หากเกินงบประมาณ ทางผู้สูงวัยหรือครอบครัวก็จะต้องเป็นผู้จ่าย การประเมินความต้องการบริการนี้ทำทุกๆ 2 ปีค่ะ และทุกบริการ ผู้ใช้ต้องร่วมจ่ายอย่างน้อย 10%

.
เทศบาลของแต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ค่ะ โดยจะเป็นผู้กำหนดค่าเบี้ยประกัน และเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับองค์กรหรือบริษัทผู้ดูแลด้วย แต่ค่าธรรมเนียมการดูแลถูกกำหนดจากรัฐบาลส่วนกลาง

.
ดิฉันได้มีโอกาสไปดูงานด้านนี้ และได้สอบถามผู้บริหารโรงพยาบาล พบว่า การบังคับให้มีส่วนต้องร่วมจ่ายอย่างน้อย 10% สำหรับทุกบริการนี้ ช่วยลดปัญหาการไปใช้บริการโดยไม่จำเป็นได้ดีมากๆ

.

แต่ปัญหาก็ยังมีค่ะ ปัจจุบันมีผู้ต้องการใช้บริการจำนวนมาก และมีจำนวนผู้ให้บริการ และบุคลากรทางสาธารณสุขไม่เพียงพอ คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้าจะขาดขาดแคลนบุคลากรถึง 3 แสนคน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามในการเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขมาช่วยดูแลผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2551-2552

.
อีกประเทศหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงวัยซึ่งมีสัดส่วน 20.4% ของประชากรคือสวีเดน จำนวนประชากร 9.8 ล้านคน มีผู้สูงวัยอายุเกิน 65 ปี 2 ล้านคน ในปี 1992 ได้จัดย้ายการดูแลผู้สูงวัยไปยังท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณดูแลผู้สูงวัยถึง 3.6% ของจีดีพี  โดยจีดีพี ของสวีเดนในปี 2021 เท่ากับ 635,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 22.25 ล้านล้านบาท งบประมาณดูแลผู้สูงวัยรวมแล้วก็ประมาณ 801,000 ล้านบาทค่ะ ถือว่าเยอะมากๆ

.
จีดีพีของไทยในปี 2565 เท่ากับ 17.4 ล้านล้านบาท น้อยกว่าสวีเดน และงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 เท่ากับ 156,742 ล้านบาท!!!  เท่านี้ก็พอจะมองออกแล้วว่า หากไม่ให้ประชาชนช่วยกันออมเพื่อตนเอง รัฐไม่สามารถจะมีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะจัดการได้ค่ะ

.
ปัจจัยที่ทำให้สวีเดนสามารถดูแลจัดการผู้สูงวัยได้ดี สรุปโดยคุณ จอย อินทริอาโก (Joy Intriago) จาก seasons.com คือ การดูแลให้มีการป้องกันที่ดี (Preventive care) การสูงวัยที่บ้าน หรือ Aging in Place ถึง 90% การเข้าถึงการดูแลที่บ้าน (home health) และบริการช่วยเหลือ การที่แพทย์สั่งให้ทำกิจกรรมทางกาย (ดิฉันเดาเอาว่าทั้งสั่งแทนหรือสั่งควบคู่ไปกับการสั่งยา) และการ​”รักษาทันที” โดยมีเกณฑ์การนัดพบแพทย์ได้ภายใน 7 วัน และไม่เกิน 90 วัน จะต้องได้พบแพทย์เฉพาะทางหรือได้รับการผ่าตัด

.
นอกจากนี้ สวีเดนยังขยายเวลาเกษียณอายุงานจาก 61 ปี เป็น 62 และ 63 ปี และมีมาตรการ และบริการอื่นๆที่สามารถลดจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลด้วย เช่น การตั้งเป้าหมายลดจำนวนคนไข้ใน ของโรงพยาบาล การส่งอาหารปรุงสำเร็จไปตามบ้าน (เข้าใจว่าสำหรับผู้ป่วย และผู้มีปัญหาในการกลืน) ฯลฯ

.
ประเทศไทยต้องวางแผนตั้งแต่ตอนนี้ มิฉะนั้นจะไม่ทันการณ์ และวางแผนเรื่องงบประมาณด้วยนะคะ หากไม่มีงบประมาณที่สามารถจัดสรรได้เพียงพอ ก็ต้องใช้วิธีร่วมจ่ายแบบญี่ปุ่น นอกจากจะร่วมออมเพื่อดูแลตัวเองแล้ว ยังต้องควักกระเป๋าเองทุกครั้งที่ไปใช้บริการ เพื่อให้แน่ใจว่า มีความจำเป็นต้องใช้บริการจริงๆ

.
ฝรั่งเศสก็รู้ตัวว่ามีเงินไม่พอดูแลผู้สูงวัย จึงต้องการขยายเวลาเกษียณอายุงานจาก 62 ปี เป็น 64 ปี ก็พบกับการประท้วงที่ยืดเยื้อและวุ่นวาย จริงๆแล้วการขยายอายุการเกษียณ ทำเพื่อแก้ไขสองปัญหา คือช่วยให้มีคนอยู่ทำงานมากขึ้น ช่วยจ่ายภาษีได้นานขึ้น กับลดระยะเวลาในการใช้สวัสดิการหลังเกษียณ ซึ่งได้รับทราบมาว่าสวัสดิการของคนเกษียณฝรั่งเศสดีมากเลยค่ะ

.
จริงๆแล้ว คนอายุ 60 ปียังแข็งแรง ยังสามารถทำงานได้เยอะ 65-66 ปี ก็ยังสบายๆ

.
ถึงเวลาที่คนไทยต้องคิดและวางแผน รัฐบาลไทยต้องคิดและวางแผนแล้วค่ะ โจทย์นี้ใหญ่จริงๆ

อ้างอิง: https://www.bangkokbiznews.com/health/1064556 
 
Post Reply