บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

ซินจ่าวเวียดนามBy ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 09 มิ.ย. 2024

ผมนึกถึงช่วงหนึ่งน่าจะ 25-30 ปีก่อน ที่คนไทยไปเมือง “เสิ่นเจิ้น” ของจีน เพื่อซื้อของ “ก็อป” คุณภาพดีราคาถูกมาก ในช่วงที่จีนกำลังกลายเป็น “โรงงานผลิตของโลก” ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ Confirm ว่าเวียดนามกำลังจะกลายเป็น “โรงงานของโลก” อีกแห่งหนึ่ง

ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางไปเยือนเมืองโฮจิมิน 2 วัน หลังจากที่ไปครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี 2560 หรือประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากที่ผมไม่ได้ “สัมผัส” กับ “บรรยากาศ” ของประเทศเวียดนามที่ผมมั่นใจว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจและข่าวสารต่าง ๆ ที่ออกมาตลอดเวลาไม่ต้องพูดถึงราคาและดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 2-3 ปีหลังนี้

การไป “เห็นกับตา” และได้เยี่ยมเยียนร้านค้า บ้านเมือง และธุรกิจ รวมถึงการได้คุยกับ “คนเวียดนาม” ที่หลากหลายนั้น จะ Confirm หรือยืนยันว่าสิ่งที่ผมคิดในเรื่องต่าง ๆ ของเวียดนามนั้นเป็นจริงหรือไม่ และอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปด้วยความเชื่อมั่นที่สูง ทั้งหมดนั้นจะช่วยให้ผมสามารถ “ลงทุนระยะยาว” ในธุรกิจและบริษัทที่จะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ได้อย่างมั่นใจและสบายใจขึ้น

รายการแรกที่ผมทำเมื่อเดินทางถึงที่พักทันทีก็คือการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชื่อดังของเวียดนามถึงเรื่องของการลงทุนของผมในเวียดนามและมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียน ความรู้สึกก็คือ

ขณะนี้การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นกิจกรรมที่คนเวียดนามสนใจมาก ว่าที่จริงจำนวนนักลงทุนส่วนบุคคลในเวียดนามนั้นเกินกว่า 7 ล้านคน และน่าจะมากกว่าตัวเลขของตลาดหุ้นไทยแล้ว ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยต่อวันในช่วงเร็ว ๆ นี้ผมคิดว่าน่าจะมากกว่าตลาดหุ้นไทยแล้วถ้าดูจากตัวเลขว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของไทยประกอบไปด้วยการเทรดของต่างชาติเป็นหลักในขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามนั้น เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลน่าจะระดับ 80-90% ขึ้นไป

นั่นก็ทำให้ผมคิดว่า เมื่อถึงวันที่ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับการปรับขึ้นเป็น “Emerging Market” เหมือนกับประเทศหลักอื่น ๆ ของอาเซียนซึ่งทำให้นักลงทุนสถาบันใหญ่ ๆ ของโลกสามารถเข้ามาลงทุนได้ ตลาดหุ้นเวียดนามจะคึกคักขึ้นมาอีกแค่ไหน และนั่นก็อาจจะกำลังเกิดขึ้นในอีกแค่ 2-3 ปี ข้างหน้า

ในฐานะของนักลงทุนแบบ “VI” ผมพยายามถามนักข่าวว่านักลงทุนของเวียดนามนั้นเป็น VI กันบ้างไหม? คำตอบดูเหมือนว่าคำ ๆ นี้ยังไม่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการเล่นหุ้นกันเป็นก๊วน ๆ นั้นน่าจะมีมาก และแนวทางจะเป็นการเล่น “เก็งกำไร” เป็นหลัก และจากที่ผมเข้าใจก็คือ ในตลาดหุ้นเวียดนามนั้น มีการใช้มาร์จินที่สูงกว่าของไทย เช่น อาจจะได้ถึง 60-70% และในบางช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลง ก็จะลงแรงมากเนื่องจากการฟอร์สเซล

สรุปก็คือ ตลาดหุ้นเวียดนามตอนนี้อาจจะคล้าย ๆ กับช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มี “VI” และแนวทาง VI ที่แข็งแกร่งอย่างวันนี้ แต่มี “นักเก็งกำไร” ที่กำลังเข้ามาเล่นหุ้นในตลาดที่กำลังร้อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตถึงจุดที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากเติบโตและทำกำไรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องในบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดกลางตั้งแต่ระดับ 30 ถึง 100 ของตลาดหุ้น ที่ทำผลงานการลงทุนได้โดดเด่นมาก ผมเองไม่รู้ว่าสุดท้ายตลาดหุ้นเวียดนามจะมี “ขบวนการ VI” แบบตลาดหุ้นไทยหรือไม่ และถ้ามี หุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ก็อาจจะกำเนิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คิด

กลับมาที่สภาพของเมืองโฮจิมิน ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือบนถนนหนทางที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซด์ในระดับน่าจะ 90% ขึ้นไป ถึงวันนี้ผมประมาณว่ามีรถยนต์น่าจะพอ ๆ กับมอเตอร์ไซด์ที่ประมาณ 50-50 แล้ว

ในส่วนของบ้านเรือนนั้น คอนโดมิเนียมและตึกสูงผุดขึ้นมามากมายและราคาบ้านก็แพงขึ้นจนเหลือเชื่อ “เหมือนเดิม” และคนนอกที่เป็นชาวต่างชาติก็จะไม่มีวันเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนกินเงินเดือนนั้นจะมีเงินซื้อบ้านได้อย่างไร แต่บ้านก็ยังขายได้ในราคาที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ว่าที่จริงนี่ก็เหมือนเมืองไทยในช่วงที่ผมทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ใหม่ ๆ และเพื่อนร่วมงานที่เป็นฝรั่งคุยกับผมว่าเขาไม่เข้าใจว่าคนไทยจะซื้อบ้านได้อย่างไรเมื่อคำนึงถึงอัตราเงินเดือนที่น้อยมากเทียบกับราคาบ้านในขณะนั้น

เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าภรรยาผมที่ไปด้วยกันมักชอบไปช็อบปิงซื้อของที่ระลึกที่ “ตลาดเบียนถัน” ซึ่งเป็นตลาดสดขนาดใหญ่กลางเมือง ของที่ซื้อก็เป็นแบบงานฝีมือ เสื้อผ้าและเครื่องประดับก็เป็นแนวแฟชั่นรุ่นเก่าบ่งบอกถึงวัฒนธรรมเวียดนาม

รอบนี้ผมไม่มีเวลาไปตลาดเบียนถันแต่ไปตลาดคล้าย ๆ กันใกล้โรงแรมที่พัก สินค้าที่ผมเห็นและคนไทยต่างก็ไปรุมซื้อกันนั้น เป็นแนวเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอื่น ๆ อีกมาก ที่เป็นของ “ก็อป” ยี่ห้อระดับโลก ที่มีคุณภาพเหมือนหรือใกล้เคียงมากกับ “ของจริง” แต่ราคาห่างกัน 10 เท่า นั่นทำให้ผมนึกถึงช่วงหนึ่งน่าจะ 25-30 ปีก่อน ที่คนไทยไปเมือง “เสิ่นเจิ้น” ของจีนเพื่อซื้อของ “ก็อป” คุณภาพดีราคาถูกมาก ในช่วงที่จีนกำลังกลายเป็น “โรงงานผลิตของโลก” ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ Confirm ว่าเวียดนามกำลังจะกลายเป็น “โรงงานของโลก” อีกแห่งหนึ่ง

ผมมีโอกาสไปเมืองที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้หรือติดกับโฮจิมิน สิ่งที่เห็นก็คือ โรงงานที่ทันสมัยจำนวนมากกระจายกันไปเต็มเมือง และก็พบคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยที่สร้างขึ้น พร้อม ๆ กับช็อบปิ้งมอลใหม่ ๆ ที่ออกแบบอย่างสวยงาม นี่คือเมืองสมัยใหม่ของเวียดนามที่จะโชว์ความเป็นสังคมที่ก้าวหน้าเทียบทันหรือเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีอาคารและ/หรือสาธารณูปโภคที่เริ่ม “เก่าแล้ว” และไม่รู้จะสร้างใหม่เพื่ออะไรในเมื่อคนน้อยลงและเศรษฐกิจเริ่มโตช้าแล้ว นี่ก็น่าจะคล้าย ๆ กับจีนกระมังที่คนไปเห็นอาคาร ถนนหนทาง การสื่อสารที่ดูเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกมาก

ผมได้ไปเยี่ยมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีของเวียดนามคือ FPT โดยไปเยี่ยมแผนกงานที่ให้บริการทำระบบและเขียนโปรแกรมให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกโดยเฉพาะทางด้านของรถยนต์และการบินโดยเฉพาะที่ใช้เครื่องบินของบริษัทแอร์บัส ความรู้สึกก็คือ งานเหล่านี้มีความสำคัญในระดับโลกที่หาคนแทนได้ยาก ไม่ใช่เป็นบริษัทที่ทำเทคโนโลยีที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืนเมื่อมีของใหม่ออกมาหรือเมื่อความนิยมหายไป แต่เป็นบริษัทที่เกาะไปกับบริษัทเทคโนโลยีของโลกโดยอาศัยจุดแข็งที่ว่าเวียดนามมีคนเขียนโปรแกรมจำนวนมหาศาลที่ค่าแรงถูกกว่าที่อื่นมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของคน ดังนั้น บริษัทใหญ่ ๆ ของโลกต่างก็ต้องการใช้บริการ

และคนเวียดนามที่ทำงานกับ FPT เองจำนวนมากก็มาจากมหาวิทยาลัย FPT ที่มีสาขาทั่วประเทศและผลิตนักเขียนโปรแกรมปีละหลายหมื่นคน ซึ่งผมเองก็มีโอกาสเยี่ยมมหาวิทยาลัย FPT แห่งหนึ่งที่มีนักศึกษาประมาณหมื่นคน โดยไก้ด์ 2 คนที่มาต้อนรับนำชมเป็นเด็กที่เรียนอยู่ปี 2 และปี 4 ในคณะบริหารการตลาด ทั้ง 2 คนเป็นอาสาสมัครและถือว่าเป็นการทำกิจกรรมนักศึกษา VI ไทย 5-6 คนที่ไปเยี่ยมนั้นต่างก็ประทับใจในความสามารถโดยเฉพาะการพูดภาษาอังกฤษมาก โดยเฉพาะเขาเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านยูทูบเป็นหลัก

เมื่อเราถามว่าจบการศึกษาแล้วเขาจะทำอะไร คำตอบก็คือ เขามี “ความฝัน” และเมื่อเราถามต่อ คำตอบหนึ่งก็คือการไปเรียนต่อต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนว่าครอบครัวจะไม่รวย เขาก็คงจะหาทางไป อาจจะขอทุนอะไรแบบนั้น แต่นี่ก็คงตรงกับข้อมูลระดับสากลที่บอกว่านักศึกษาเวียตนามไปเรียนต่อต่างประเทศสูงที่สุดในอาเซียนและสูงกว่าอินโดนีเซียทั้ง ๆ ที่คนน้อยกว่ามาก และรายได้ต่อหัวของเวียดนามก็ยังต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศใหญ่ของอาเซียน

การไปเวียดนามครั้งนี้ ผมพบกับ “คนรุ่นใหม่” ที่อายุยังไม่มาก ซึ่งรวมถึงพนักงานที่มาต้อนรับและให้บริการหรือมาร่วมงาน ผมพบว่าพวกเขาต่างก็มี “ความฝัน” หรือมีความหวัง และทุ่มเทความพยายามเพื่อบรรลุสู่ความสำเร็จ อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่ประทับใจก็คือการพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยที่ดีมากแม้ว่าแบ็คกราวไม่ได้เรียนมาทางภาษาโดยตรง พวกเขาอาจจะรู้ว่า ถ้าจะพัฒนาและก้าวหน้า เขาจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารทางภาษาได้ดี ดังนั้น เขาก็ต้องขวนขวายเรียนรู้ โดยเฉพาะผ่านทางยูทูบ

ผมสรุปว่า คนเวียดนามมีศักยภาพสูงพอที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งก็เท่ากับพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปอีกนานเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย การเติบโตจะขึ้นไปสูงจนทำให้ประเทศกลายเป็นอย่างน้อยก็ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยน่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วขั้นต้นมากกว่า โดยปัจจัยที่ทำอย่างนั้นได้ก็คือ คุณภาพของคนที่มีศักยภาพและความสามารถทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลกในอนาคต

ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้นโดยเฉพาะเป็นรายตัวรวมถึง FPT หรือแม้แต่กองทุนรวมเวียดนาม เหตุผลก็เพราะมันอาจจะขึ้นมามากและเร็วเกินไป การซื้อหุ้นต้องคำนึงถึงราคาด้วยเสมอ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้ลงทุนระยะยาวจริง ๆ ที่สามารถทนถือหุ้นได้แม้ว่าระยะสั้นหุ้นอาจจะตกมาแรงได้ และตลาดหุ้นเวียดนามก็เป็นอย่างนั้น คือขาลงนั้น บางทีก็หนักจนรับไม่ไหว

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1130581
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

ท้อแท้-สิ้นหวังBy ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 16 มิ.ย. 2024 

"หุ้นไทย" ตกเพราะนักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ” หุ้นในตลาดค่อนข้างมาก และเป็นการขายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้สูงถึงเกือบ "แสนล้านบาท" แล้วในเวลาไม่ถึง 6 เดือน

ตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ ผมคิดว่านักลงทุนจำนวนมากรู้สึก “ท้อแท้” และ “สิ้นหวัง” เหตุผลในภาพใหญ่อาจจะเป็นเรื่องที่ดัชนีตลาดหุ้นตั้งแต่ต้นปีที่ 1,416 จุด ตกลงมาตลอดจนเหลือ 1,306 จุด ในวันที่ 14 มิถุนายน 2567 หรือลดลงมาประมาณ 7.8% ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งหลังจากปีที่แล้วที่ดัชนีตลาดก็ “แย่ที่สุดในโลก” แบบเดียวกัน และที่แย่ลงไปอีกก็คือ หุ้นไทยนั้นตกต่ำลงทั้ง ๆ ที่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลัก ๆ ต่างก็ปรับตัวขึ้นอย่างทั่วหน้า อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นโดดเด่นในขณะที่เศรษฐกิจไทยถดถอยลงมาก

มองจากเหตุผลระยะสั้นแบบเทคนิคก็คือ หุ้นไทยตกเพราะนักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ” หุ้นในตลาดค่อนข้างมาก และเป็นการขายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้สูงถึงเกือบแสนล้านบาทแล้วในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งก็เป็นการขายสุทธิที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ต่างชาติขายเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมแล้วขายมาแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท

แต่การขายสุทธิโดยตัวของมันเองก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นจะต้องลงเสมอไป ตัวอย่างเช่นหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ในช่วงนี้ต่างก็ถูกขายสุทธิเช่นเดียวกัน แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ลง ว่าที่จริงตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงนี้ก็ถูกขายสุทธิจากต่างชาติหนักมาก แต่ดัชนีหุ้นยังปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 13% นับจากต้นปี หรืออย่างดัชนีฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกงเองก็ปรับตัวขึ้นประมาณ 6% ทั้ง ๆ ที่มีปัญหาตกลงมาหนักถึงประมาณ 10% ในช่วงต้นปี

การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาประมาณ 7-8% ในเวลาประมาณ 6 เดือนนั้น ถ้ามองจากสถิติในอดีต ก็อาจจะบอกว่าไม่ถึงกับรุนแรงมากนัก และส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใคร “ถอดใจ” และเกิดความ “ท้อแท้” หรือ “สิ้นหวัง” กับตลาดหุ้น เหตุผลสำคัญก็คือ นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยส่วนใหญ่ก็เป็น “นักเทรด” หรือซื้อขายหุ้นระยะสั้น ที่สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้แม้ในยามหุ้นตก

กล่าวคือ ช่วงระยะเวลาที่หุ้นตกนั้น มักจะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะเด้งหรือดีดตัวขึ้นอาจจะพอ ๆ กัน ดังนั้น พวกเขาก็สามารถช้อนซื้อหุ้นในช่วงหุ้นตกและขายในช่วงที่หุ้นขึ้นทำกำไรได้เสมอ แต่ในช่วงนี้ ดูเหมือนว่า ช่วงที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นนั้น สั้นมาก บางทีแค่ 2-3 ชั่วโมงในตอนเช้า โอกาสที่จะทำกำไรน้อย แต่โอกาสขาดทุนสูง ทำให้หมดกำลังใจที่จะเล่น

ในส่วนของนักลงทุนระยะยาว “แนว VI” ซึ่งก็มักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ขึ้นมาและเน้นการลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการนั้น ในอดีตแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมอาจจะไม่ดีนัก แต่ตลอดเวลาก็มีบริษัทหรือหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีหรือมีพัฒนาการหรือสตอรี่ที่ดีที่ทำให้นักลงทุนแห่เข้าไปเล่น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นเหนือดัชนีมาก ทำกำไรให้กับนักลงทุนรายใหญ่ได้เป็นกอบกำ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่เข้าไปร่วม “เก็งกำไร” ก็สามารถทำกำไรได้ “ทุกวัน”

แต่ในช่วงเวลานี้ ดูเหมือนว่าหุ้นที่เคยวิ่งกันคึกคักและราคาปรับตัวขึ้น บางตัวเหมือนติดจรวดเพราะบริษัทมีสตอรี่ที่ดี มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องมาหลายไตรมาศหรือหลายปีจนทำให้หุ้นมีมูลค่าหรือ Market Cap. สูงลิ่วเกินกว่าพื้นฐานเพราะหุ้นถูก “Corner” กลับตกลงมาต่อเนื่องแบบ “คอร์เนอร์แตก” ราคาหุ้นลดลงมาเกิน 30%-40% และไม่รู้จะหยุดตกเมื่อไร

ความหวังของนักลงทุนที่เน้นแนวหุ้นพื้นฐานในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็แทบจะเหลือเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ ผลประกอบการของบริษัทหรือหุ้นที่ตนเองลงทุนอยู่ที่จะออกมาดีพอที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นให้กลับมาเป็นขาขึ้นใหม่ ความเชื่อของพวกเขาก็คือ หุ้นเหล่านั้นเป็นหุ้นที่ดีและยังมีโอกาสกลับมาเติบโตใหม่เมื่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจโลก หรือไม่บริษัทก็เก่งขึ้น สามารถกินส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งได้เพิ่มขึ้น

ผลประกอบการที่ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีสำหรับหลาย ๆ บริษัทนั้น เรียกว่าแทบจะเป็น “หายนะ” บางบริษัทก็อาจจะมีปัญหาหนี้สินที่เป็นหุ้นกู้ที่อาจจะไม่สามารถชำระได้ ดังนั้นหุ้นก็ถล่มทลายหลังจากที่ทยอยลดลงมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว

อีกหลาย ๆ บริษัทที่เคยถูกมองถึงว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น ผลประกอบการออกมา ไม่ได้หายนะแต่ “น่าผิดหวัง” เพราะนักลงทุนเคยหวังไว้สูงว่าอย่างน้อยกำไรจะต้องโต “สองหลัก” และไม่ลดลง แต่ผลที่ออกมาก็คือ การเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด และก็เป็นการลดลงต่อเนื่องมาอาจจะหลายไตรมาศแล้ว เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ก็ทยอยลดลงมาสอดคล้องกัน หุ้นมีอาการ “คอร์เนอร์แตก” มาก่อนแล้ว และดังนั้น การที่บริษัทก็ยังมีกำไรที่ดีอยู่ เพียงแต่โตช้าลงหรือไม่โต จึงไม่สามารถที่จะหยุดการตกลงมาของหุ้นได้

หุ้นขนาดใหญ่บางตัวที่เป็นเป้าหมายการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาตินั้น ประกาศผลประกอบการที่ดีและเติบโตน่าประทับใจมาก ซึ่งก็ช่วยให้คนที่ลงทุนถืออยู่มีความหวังว่าจะทำให้ราคาหุ้นที่ซบเซามาตลอดนั้นคึกคักขึ้น เพราะนั่นก็คือความหวังเดียวที่เหลืออยู่ แต่ข้อเท็จจริงกลับกลายเป็นว่าราคาหุ้นกลับตกลงมาแรง ความเชื่อที่ว่าผลประกอบการของบริษัทเป็น “พ่อทุกสถาบัน” ในวงการหุ้น นั่นคือ ถ้าผลประกอบการดีมาก หุ้นจะต้องวิ่งอย่างแรง ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงในยามนี้

และถ้าผลประกอบการไม่สามารถที่จะทำให้หุ้นขึ้นได้ หุ้นจะไปได้อย่างไร? เราจะรออะไรได้อีก! และทั้งหมดก็คือ ความท้อแท้-สิ้นหวัง ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ซึ่งก็แสดงออกผ่านปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่ลดลงมาเรื่อย ๆ และผมเชื่อว่าลดลงในทุกกลุ่มตั้งแต่นักเล่นหุ้นรายวันไปจนถึงรายใหญ่และเหล่า VI แม้แต่คนที่ถือยาวแบบไม่คิดจะขาย

ประเด็นสำคัญก็คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็น “เรื่องชั่วคราว” แค่ไหน นี่เป็นช่วงเวลา “ตีสี่” อย่างที่คนพูดกันในวงการหุ้นหรือไม่ ความหมายก็คือ เป็นเวลาที่ “มืดมิดที่สุด” แต่ก็ “ใกล้ถึงเวลาสว่าง” แล้ว นักเล่นหุ้น “ระดับเซียน” จะต้องเข้ามาช้อนซื้อหุ้นก่อนเพื่อที่จะทำกำไรงดงามเมื่อถึงวันใหม่ที่ “ฟ้าสดใส” หุ้นก็จะขึ้นมโหฬารอย่างที่ “ไม่มีใครคาดคิด” หรือไม่

แต่ส่วนตัวผมเองนั้น มองว่าปัญหาของหุ้นไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นปัญหาถาวรที่เกิดจากโครงสร้างที่แก้ไขยาก โครงสร้างเหล่านั้น เดิมทีเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ แต่แน่นอน ในขณะที่เราไม่ได้ตระหนักและไม่ได้ปรับโครงสร้างตามที่ควรจะเป็น ผลก็คือ เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นเติบโตไปได้ยาก และก็จะเป็นแบบนั้นไปยาวนานและไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้อีกเลย

โครงสร้างแรกที่กำลังส่งผลอย่างรุนแรงและชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือเรื่องของประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนคนเกิดใหม่น้อยลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า ผลก็คือ จำนวนคนทำงานสร้างผลผลิตหรือ GDP ลดลง และจะลดลงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับประสิทธิภาพที่จะลดลงเพราะคนทำงานที่แก่ตัวลงและมีความรู้ทางเทคโนโลยีไม่พอ

โครงสร้างที่สองก็คือ เรื่องของระบบการปกครองประเทศที่จะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการนำและปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และแนวทางในการบริหารโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศให้สอดคล้องกับยุคสมัย ในความเห็นผมก็คือ โครงสร้างที่เป็นอยู่นั้น น่าจะค่อนข้างล้าสมัยและก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้รวดเร็วพอ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ระบบของเราไม่สามารถตอบสนองต่อเจตจำนงเสรีของประชาชนที่แท้จริงได้เพียงพอ และรัฐบาลก็ไม่สามารถมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะปฏิบัติตามเจตจำนงนั้น และทั้งสองอย่างนั้น เปลี่ยนยากมาก

โครงสร้างที่สามก็คือ โครงสร้างของบริษัทซึ่งก็เป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจ ที่ประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมยุคเก่าหรือยุคปัจจุบันที่กำลังอิ่มตัว บริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้มีการสร้างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสร้างเอสเคิร์บหรือการเติบโตใหม่ ๆ ขึ้น หรือพยายามก็ยังไม่สำเร็จ ในขณะที่คู่แข่งซึ่งก็คือ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เคยเป็นรองไทยในอุตสาหกรรมรุ่นเก่า ขณะนี้กลับนำไทยในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

ข้อสรุปก็คือ โครงสร้างที่เป็นเสาหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเรานั้น เริ่มเสื่อมโทรมลงมาอย่างรวดเร็ว อาจจะประมาณ 10-15 ปีมาแล้ว การรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วแทบจะทำให้การพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างโดยเฉพาะทางการเมืองสะดุดหยุดลงอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ยิ่งน่าห่วงก็คือ การเสื่อมลงนั้นยังไม่หยุดและอาจจะแย่ลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในด้านของประชากรที่ทัศนคติของคนไทยเปลี่ยนไปมากในแง่ที่ไม่อยากมีลูก ซึ่งก็อาจจะส่งผลไปถึงการลดลงของแรงขับดันที่จะสร้างอนาคต และจบลงที่การขาดความฝันและความหวังที่จะสร้างตัวหรือความมั่งคั่งให้กับตนเอง และนั่นก็คือ การจบลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

และแม้ว่ามุมมองทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะไม่ดีเลย แต่ราคาหุ้นของไทยก็ยังไม่ถูกพอแบบในตลาดหุ้นจีน ดังนั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นไทยจึงน่าจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่มีโอกาสเลือก และนั่นก็คือเหตุผลที่พวกเขาขายหุ้นไทยมาตลอด และก็คงจะยังขายต่อไป

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1131606
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

พังเพราะผู้บริหารเล่นหุ้น By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 22 มิ.ย. 2024

การพยายามหลีกเลี่ยง “หายนะ” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนระยะยาว ที่สำคัญจุดหนึ่งคือ การกู้เงินซื้อหุ้นด้วยมาร์จินจำนวนมากที่เราไม่ควรเลยไม่ว่าเราจะคิดว่าหุ้นดีแค่ไหน

ช่วงนี้นักลงทุนส่วนบุคคลแทบทุกกลุ่ม รวมถึง VI รายย่อยและรายใหญ่ “ระดับเซียน” ต่างก็ “เจ็บ” กันหนัก บางคนก็แทบจะเป็น “หายนะ” การที่พอร์ต “ขาดทุน 50%” หรือมากกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ “ผิดปกติ” อีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ตกลงมารุนแรงมากในระดับวิกฤติ และก็ไม่ได้ตกลงมาอย่างรวดเร็วเพราะมีเหตุการณ์ร้ายแรงบางอย่างเกิดขึ้น ว่าที่จริงตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเร็ว ๆ นี้ “เงียบเหงามาก” ปริมาณการซื้อ-ขายหุ้นต่อวันลดลงมาเหลือเพียงวันละประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ย และดัชนีหุ้นก็ผันผวนน้อย-แต่หนักทางลดลงเรื่อย ๆ แบบช้า ๆ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนบอกว่าเป็น อาการ “ต้มกบ” คือ ดัชนีหุ้นลดลงแบบช้า ๆ จนคนไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว

นักลงทุนที่เจ็บหนักมากในรอบนี้ดังที่กล่าวนั้น เป็นเพราะพวกเขาเล่นหุ้นหรือลงทุนในบริษัทขนาดเล็กและกลางที่ก่อนหน้านั้นมีผลงานที่ยอดเยี่ยม ราคาหุ้นขึ้นไปแรงและสูงมากอย่างไม่น่าเชื่ออานิสงค์จากการที่หุ้น “ถูกคอร์เนอร์” เพราะเม็ดเงินของคนที่ซื้อนั้นมีปริมาณมากกว่าปกติมาก และก็มักจะมาจากนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในหุ้นที่มีสตอรี่และกำลังมีผลประกอบการที่โดดเด่น แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยชี้ขาดและจำเป็นก็คือ เจ้าของและผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น เข้ามาร่วม “เล่นหุ้น” ของตนเองด้วย

ถึงวันนี้ คอร์เนอร์หุ้นจำนวนมาก น่าจะ “แตก” แล้ว ราคาหุ้นที่เคยขึ้นไปสูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าในเวลาอาจจะหลายปี ตกลงมาเรื่อย ๆ บางตัวตกลงมาถึง 7-80% ทั้ง ๆ ที่หุ้นบางตัวไม่ได้มีเหตุการณ์ทางธุรกิจที่เสียหายรุนแรง อาจจะยกเว้นเรื่องหนึ่งก็คือ ผู้บริหารและเจ้าของขายหุ้นหรือถูกบังคับให้ขายหุ้นโดยการ “ฟอร์ซเซล” จำนวนมาก ในขณะที่คนซื้อมีน้อยมาก

บทเรียนสำคัญที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ หุ้นที่ “เจ๊ง” หรือล่มสลายในช่วงนี้มักจะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ เป็นหุ้นที่เจ้าของและผู้บริหาร “เล่นหุ้น” ของตนเอง นั่นก็คือ อาจจะเข้าไปซื้อขายโดยตรง ชักชวนคนเข้าไปเล่นหุ้นของตนโดยการให้ข้อมูลข่าวสารในทางที่ดีเกินความเป็นจริง แต่งและปรับตัวเลขผลประกอบการที่ออกมารายไตรมาศ ทำโครงการและ/หรือซื้อธุรกิจอื่นทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มประมาณการการเติบโตของบริษัท และที่มักจะขาดไม่ได้ก็คือ ดึง “เซียนหุ้นรายใหญ่” เข้ามาซื้อและถือหุ้นของตนในจำนวนมาก เพื่อที่จะยืนยันกับนักลงทุนอื่น ๆ ว่าหุ้นของตนนั้น “ดีจริง” ลองมาดูรายละเอียดทีละเรื่อง

สิ่งที่บอกว่าผู้บริหาร “เล่นหุ้น” ตนเองนั้นก็คือ ผู้บริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดอยู่แล้วนั้น ซื้อหุ้นของตนเองเพิ่มขึ้นไปอีก และเงินที่ใช้ซื้อนั้นก็มาจากการกู้โดยเอาหุ้นไปจำนำ หรือวางเป็นหลักประกันในบัญชีซื้อ-ขายหุ้นด้วยมาร์จิน

นี่เป็นอะไรที่ไม่ธรรมดา เพราะถ้าคิดว่าบริษัทดีเติบโตเร็วและหุ้นราคาถูก อนาคตความมั่งคั่งของตนเองก็ต้องสูงมากอยู่แล้ว ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนอีก 5-10% มีน้อยมาก ดังนั้น สิ่งที่อาจจะเป็นจริงมากกว่าก็คือ ผู้บริหารกู้เงินไปดันราคาหรือเข้าไปร่วมคอร์เนอร์หุ้นมากกว่า

การดันราคาหุ้นของผู้บริหารนั้น นอกจากจะเป็นการเพิ่มแรงซื้อให้กับหุ้นโดยตรงแล้ว การที่ผู้บริหารซื้อและต้องเปิดเผยให้กับสาธารณะชนทันที ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและซื้อตาม ยิ่งซื้อมากและซื้ออย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจเพิ่ม ทำให้ความต้องการหุ้นในตลาดสูงกว่าปริมาณคนที่อยากจะขาย

เมื่อถึงจุดหนึ่ง หุ้นก็ถูกคอร์เนอร์ ราคาหุ้นขึ้นไปสุดโต่งและสูงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นมาก ทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกลายเป็นเศรษฐีหุ้นพันหรือหมื่นหรือแสนล้านบาท และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาหนึ่ง

แต่เมื่อคอร์เนอร์ “แตก” ก่อนที่ผู้บริหารและเจ้าของจะ “ออกของ” ทัน และถูกฟอร์ซเซล หายนะก็เกิดขึ้น และก็แน่นอน ไม่ใช่แค่เจ้าของ นักลงทุนทุกคนที่เข้าไปร่วมในการเล่นหรือลงทุนในหุ้นต่างก็ถูกกระทบไปทั่วหน้า พอร์ตหุ้นเสียหายหนักอย่างไม่คาดคิด ผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวที่เคยดีหรือดีมาก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลายคนอาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดด้วยซ้ำ

หุ้นที่มีโอกาส “เจ๊ง” เรื่องต่อมาก็คือ ผู้บริหารมักจะออกมาพูดเรื่องราวทำนองโอ้อวดความสามารถของบริษัท การเจริญเติบโตของกิจการทั้งของเดิมและธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะทำหรือที่มากกว่าก็คือการซื้อหุ้นและ/หรือกิจการบริษัทอื่น พูดง่าย ๆ เป็นเจ้าแห่ง “โปรเจกต์” โดยที่เหตุผลของการทำแต่ละดีลนั้นฟังดูดีเยี่ยมและจะทำให้ผลประกอบการในอนาคตเติบโตขึ้นไปอีกมาก

และก็มักจะช่วยให้ราคาหุ้นของบริษัทวิ่งขึ้นไปตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะพบว่า แทบไม่มีกิจกรรมหรือบริษัทไหนที่ดีตามที่เคยคาดไว้เลย นั่นก็อาจจะเพราะว่า ผู้บริหารทำเรื่องทั้งหมดเพื่อที่จะสร้างภาพของการเติบโตให้บริษัทเพื่อที่ราคาหุ้นจะได้วิ่งขึ้น เป็นคล้าย ๆ กับการ “บริหารหุ้น” หรือ “เล่นหุ้น” มากกว่า

ประเด็นต่อมาก็คือ หุ้นที่ตกหนักมากรอบนี้ มักมีการใช้ “วิศวกรรมการเงิน” กันค่อนข้างมาก ตัวอย่างก็เช่น เรื่องของการเพิ่มทุนให้บุคคลอื่นแบบ PP การขายหุ้นบางส่วนที่มีนัยสำคัญจากเจ้าของให้กับหุ้นส่วนทางกลยุทธ์หรือ Strategic Partner หรือนักลงทุนรายใหญ่ การออกตราสารอนุพันธ์เช่นวอแรนต์ให้ผู้ถือหุ้นจำนวนมาก เป็นต้น

บริษัทที่ทำแบบนี้บ่อย ๆ โดยที่ไม่มีเหตุผลที่ดีอย่างชัดเจนนั้น จริง ๆ แล้วอาจจะเป็น “กลยุทธ์การเล่นหุ้น” คือทำเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าของหุ้นให้ตนเอง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็มักจะพบว่าหุ้น “พัง” เพราะคนที่ซื้อหุ้น PP มักจะไม่ใช่หุ้นส่วน แต่เป็นนักเล่นหุ้นที่หวังกำไรอย่างรวดเร็ว เข้าไปลากหุ้นขึ้นและเทขายอย่างรวดเร็วมากกว่า

หุ้นที่ตกหนักมากรอบนี้ จำนวนมากเคยหรืออาจจะยังเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีหรือดีมากมาก่อน เพียงแต่ในช่วงที่หุ้นขึ้นไปนั้นมีราคาเกินพื้นฐานไปมาก อานิสงค์สำคัญมาจากการที่หุ้นถูกคอร์เนอร์ขึ้นไปมาก ค่า PE สูงลิ่ว บางตัวราคาสูงถึง 40-50 เท่าขึ้นไปจาก “กำไรปกติ” ซึ่งค่า PE ระดับนั้นน่าจะเหมาะกับ “บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก” มากกว่าบริษัทธรรมดา ๆ ของไทย ที่บังเอิญดีในช่วงเวลาที่เอื้ออำนวยกับอุตสาหกรรม

หุ้น “ดี” ที่ตกหนักมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ จึงต้องมี “ยี่ห้อ” หรือมีการ “รับรอง” โดย “เซียนหุ้น” ที่ได้รับการยอมรับในตลาดหุ้น ซึ่งมีผลงานการลงทุนมายาวนาน ดังนั้น จึงพบว่า นอกจากผู้บริหารและเจ้าของหุ้นที่เข้ามาซื้อ-ขายหุ้นลงทุนในบริษัทของตนเองแล้ว บริษัทมักจะมี “เซียนหุ้น” มาเป็น “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” คือถือหุ้นใหญ่เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของบริษัท หรือในช่วงนี้ก็ถือหุ้นอย่างน้อย 0.5% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท

เป็นไปได้ว่า “เซียน” เข้าไปลงทุนตามพื้นฐานและตามหลักการแบบ “VI” จริง ๆ และก็ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือรู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้บริหาร แต่ในหลายกรณีก็ดูเหมือนว่าเซียนก็สนิทสนมกับผู้บริหารและมีกิจกรรมร่วมกันในหลาย ๆ เรื่อง และแน่นอนว่าอาจจะเป็นคนที่ดึงให้เซียนเข้ามา “เล่นหุ้น” ของตนเองด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ในที่สุดหุ้นก็ “พัง” ทำให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่เล่นหุ้นหรือลงทุนตามเซียน “เจ็บหนัก” ไปด้วย

การตกลงมาของหุ้นที่เคยเป็น “หุ้นนางฟ้า” ของนักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทั้งที่เป็นนักเก็งกำไรและที่เป็น “VI” ในรอบนี้ สำหรับหลาย ๆ คน ถือว่ามีความรุนแรงมากน่าจะเท่า ๆ หรือหนักกว่าการตกในช่วงที่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจและการเงินเช่นวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 เพราะอัตราของความเสียหายนั้นสูงในระดับ 40-50% ของพอร์ตเหมือนกัน

แต่สิ่งที่เจ็บหนักกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็คือ นักลงทุนจำนวนมากคิดว่าตนเองถูก “หลอก” ให้เข้าไปเล่น หรือถูก “โกง” โดยคนที่ “วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น” และในกรณีของนักลงทุนแนว “VI” หรือคนที่วิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐานที่ต้องเสียหายอย่างหนักนั้น ความเจ็บปวดของแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับคนที่อยู่มานานและ “เคย” ประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูง น่าจะสูญเสียความมั่นใจกับการลงทุนไปมาก และก็คงจดจำบทเรียนที่สำคัญที่สุดบทหนึ่งที่ว่า

ในระยะสั้น ซึ่งบางทีอาจจะยาวถึง 10 ปีนั้น คุณอาจจะสร้างผลงานการลงทุนได้ยอดเยี่ยมหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปีแบบทบต้น เหนือกว่าแม้แต่วอเร็น บัฟเฟตต์ แต่ในระยะยาวเป็น 20 ปีขึ้นไป ผลตอบแทนทบต้นก็จะวิ่งเข้าหา “ข้อจำกัด” ที่ไม่อาจฝืนได้ เช่น “หายนะ” ที่เข้ามาทำลายผลตอบแทนที่เคยยอดเยี่ยมนั้นให้กลับไปสู่ความเป็นจริง ที่ประมาณ 10% ต่อปีแบบทบต้น บวกลบเล็กน้อยถ้าคุณโชคดีอยู่ในตลาดหุ้นที่เติบโตยาวนาน ผลตอบแทนที่ดีเลิศต่อเนื่องยาวนานนั้น มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่คุณ “นึกไม่ถึง” และก็จะเกิดขึ้นวันใดวันหนึ่ง

สำหรับผมแล้ว การพยายามหลีกเลี่ยง “หายนะ” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุนระยะยาว พยายามคิดหรือศึกษาให้รู้ว่าเราจะ “ตายที่ไหน?” เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ไปที่นั่น นั่นคือคำคมคลาสสิคของชาลี มังเกอร์ เซียนหุ้นที่มีชีวิตยืนยาวมาก และ “ที่ตาย” ที่สำคัญจุดหนึ่งที่ผมคิดก็คือ การกู้เงินซื้อหุ้นด้วยมาร์จินจำนวนมากที่เราไม่ควรไปเลยไม่ว่าเราจะคิดว่าหุ้นดีแค่ไหน

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1132626
 
Last edited by thanonlongtun_p on Mon Jul 29, 2024 3:48 pm, edited 1 time in total.
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

หุ้นหมายเลข 1 เวียดนามBy ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 07 ก.ค. 2024

ถ้าจะถามว่าหุ้นอะไร “ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” ช่วงเร็ว ๆ นี้ คำตอบก็คือ หุ้น “NVIDIA”

หตุผลก็เพราะอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี AI กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และ AI มีการพัฒนาขึ้นมาถึงจุดที่จะ “ปฏิวัติโลก” ในไม่ช้า เพราะ AI จะมีความสามารถสูงมากและจะสูงกว่าคน ดังนั้น สินค้า บริการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอนาคตก็จะถูกประดิษฐ์หรือทำโดย AI ที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะทำโดยคนจำนวนมาก

และคนที่เป็น “ผู้ชนะ” ในเทคโนโลยีนี้ก็คือ Nvidia บริษัทที่บริษัทอื่น ๆ ที่ทำเกี่ยวกับ AI ต้องใช้สินค้าและบริการ ทำให้รายได้และกำไรของ Nvidia “โตระเบิด” ไตรมาศล่าสุดกำไรโตขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของ Nvidia ดีดตัวขึ้นจนกลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap. สูงที่สุดในโลกและสูงกว่าหุ้นไมโครซอฟท์และหุ้นแอปเปิลที่ผลัดกันครองตำแหน่งที่ 1 ในช่วงเร็ว ๆ นี้

และแม้ว่าหลังจากนั้นหุ้น Nvidia จะลดลงบ้างแต่ก็ต้องถือว่านี่ก็คือหนึ่งในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และน่าจะมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปอีกหลาย ๆ ปีจน “ชนะขาด” เมื่อเทียบกับหุ้นเท็คยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในช่วงปัจจุบันถ้าหากว่าบริษัทยังคงรักษาความเป็น “ผู้นำสูงสุด” ในธุรกิจ AI ได้

ในฐานะของคนที่สนใจลงทุนหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ซึ่งต้องเป็นหุ้นที่เก่ง แข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างยั่งยืน อยู่ในธุรกิจที่กำลังโตในระยะยาวหรือเป็นเมกาเทรนด์ ผมจึงสนใจหุ้นที่เป็น “สุดยอด” ของหุ้นในตลาดที่ผมเข้าไปลงทุน และก็แน่นอนว่าผมมองหาหุ้นที่เป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อกหมายเลข 1” หรือหุ้นที่ “ดีและยิ่งใหญ่ที่สุด” และถ้ามีโอกาสซื้อในราคาที่ผมคิดว่าคุ้มค่าหรือราคาถูก ผมก็จะซื้อและถือให้มากที่สุดที่จะรับได้

ตลาดหุ้นเวียดนามที่ผมเพิ่งจะ “เข้าไปไม่นาน” (แม้ว่าจะผ่านมา 6-7 ปีแล้ว) ผมก็เริ่มมองหาหุ้นที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อก และก็พบว่าน่าจะมีหลายตัวในหลายอุตสาหกรรม ผมเริ่มลงทุนในแต่ละตัวอย่างมีนัยสำคัญ ในระหว่างนั้น ผมก็คอยดูและวิเคราะห์ว่าหุ้นตัวไหนจะกลายเป็นหุ้นหมายเลข 1 ในแง่ของความแข็งแกร่ง การเติบโต และขนาดวัดจาก Market Cap. ของหุ้นในอนาคตอีกซัก 10 ปีข้างหน้า

จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์เริ่มต้นจากการที่ต้องประเมิน ซึ่งเนื่องจากระยะเวลาที่ยาวไกล ก็จะต้องอาศัย “จินตนาการ” บ้างว่าประเทศเวียดนามจะเป็นประเทศแบบไหนในสังคมโลก? ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอย่างฝรั่งเศสนั้น เป็นแนวแฟชั่นและความหรูหรา ญี่ปุ่นและไต้หวันเป็นประเทศไฮเทค สหรัฐเป็นซุปเปอร์เพาเวอร์หรืออภิมหาอำนาจของโลกที่เป็นทุกอย่าง และไทย ที่ผมมองว่าในอนาคตก็คงเป็น “แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของโลก”

สำหรับเวียดนามนั้น เดิมทีผมไม่ได้ตระหนักหรือคิดว่าในระยะยาวแล้ว ประเทศนี้จะเป็นอะไร ผมแค่คิดว่านี่คือประเทศที่จะโตเร็ว อานิสงค์จากการที่ยากจนมากจากภาวะสงครามในประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน

เศรษฐกิจที่โตเร็วระดับ 6-7% นั้น ก็น่าจะคล้ายประเทศไทยในช่วง 20-30 ปีก่อน ที่ทำให้คนรวยขึ้นและบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็จะมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้บริโภคเติบโตขึ้นจนเอาชนะคู่แข่งได้เด็ดขาด มีรายได้และกำไรสูงมาก ส่งผลให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปเป็นซุปเปอร์สต็อกหมายเลข 1 ได้ และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้หุ้นอย่าง “วีนามิ้ลค์” ที่ขายนมและโยเกิร์ต เป็นหุ้นที่มีขนาด “ใหญ่ที่สุด” ในขณะนั้น

ต่อมาก็เริ่มเห็นหุ้นค้าปลีกโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดคือ “โมบายเวิลด์” ที่เริ่มขยายไปขายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและกลายเป็นรายใหญ่ที่สุดอีกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังหันไปทำร้านเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตแบบทันสมัยที่อาจจะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนเวียตนามที่เปลี่ยนไป และทั้งหมดนั้นก็ทำให้หุ้นโมบายเวิลด์ เป็นหุ้นที่อาจจะกลายเป็น “หุ้นหมายเลข 1” ได้ในสายตาของผม และผมก็ยอมซื้อหุ้นที่มีพรีเมียมสูงถึง 35% ในช่วงเวลานั้น

หลังจากเกิดโรคโควิด-19 เมื่อ 4-5 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงประเทศเวียดนามเอง ที่เริ่มมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในโลก อานิสงส์สำคัญจากสงครามการค้าและ “สงครามเย็น” ครั้งใหม่ ระหว่างสหรัฐกับจีนและรัสเซีย ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็น “ฐาน” การผลิตที่สำคัญของฝ่ายสหรัฐและโลกเสรี เศรษฐกิจเวียดนามจึงถูกกระทบน้อยและน่าจะกำลังเริ่มเติบโตขึ้นใหม่ในระดับ 6-7% ต่อไปได้อีกเป็น 10 ปีขึ้นไป

การอ่อนตัวลงของการบริโภคในช่วงโควิด-19 เปิดเผยให้เห็นว่าการค้าและการบริโภคภายในประเทศนั้น อาจจะไม่ได้เป็น “หมายเลข 1” ของประเทศ หุ้นที่โดดเด่นในกลุ่มตกลงมาอย่างแรงแม้ว่าในภายหลังจะดีดตัวกลับได้ แต่หุ้นที่ยังเติบโตแข็งแกร่งกลับกลายเป็นหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศคือ หุ้น FPT ที่รายได้และกำไรไม่ถูกกระทบและก็ยังโตในระดับ 20% อย่างต่อเนื่อง

ผมเองถือหุ้น FPT มานานแล้วในระดับที่มีนัยสำคัญ แต่เหตุผลที่ถือนั้นน่าจะเป็นเพราะว่าเป็นบริษัทที่มีกำไรสม่ำเสมอและมีราคาไม่แพง ค่า PE ประมาณ 12-13 เท่าถ้าผมจำไม่ผิด บริษัทมี Market Cap. ประมาณ 7-80,000 ล้านบาท ธุรกิจหลักของบริษัทก็คือการรับจ้างเขียนโปรแกรมให้กับบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกโดยมีตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือสหรัฐ ธุรกิจรองลงมาคือพวก IT และอินเตอร์เน็ตในประเทศ และการศึกษา ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นการสอนด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก

ผมไม่รู้ว่าการเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีระดับโลกในช่วงเร็ว ๆ นี้ ที่หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ที่เป็นหุ้นเทคโนโลยีที่ “ครองโลก” ซึ่งรวมถึงหุ้นไมโครซอฟท์ แอ็ปเปิล Nvidia เป็นต้น ปรับตัวขึ้นมหาศาลและสามารถต่อต้านผลกระทบแม้แต่เรื่องของโรคโควิดได้นั้น จะมีส่วนทำให้หุ้น FPT ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นตามกันหรือไม่

แต่หุ้น FPT ก่อนวิกฤติโควิด-19 ในปี 2562 มีราคาเพียงประมาณ 20,000 ด่องหรือเกือบ 30 บาทต่อหุ้น ล่าสุดวันที่ 5 กรกฎาคม 67 ราคาอยู่ที่ 138,700 หรือประมาณ 200 บาท เท่ากับปรับตัวขึ้นประมาณ 6 เท่าหรือเพิ่มขึ้น 600% ในเวลา 5 ปี เฉพาะปีนี้ หุ้นปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 60% พร้อม ๆ กับข่าวที่บริษัทอย่าง Nvidia มาร่วมมือทำธุรกิจแห่งอนาคตเช่น “AI Factory” ด้วยกัน และโครงการอื่น ๆ รวมถึงการออกแบบ Chip ที่จะทำให้ FPT และประเทศเวียตนามกลายเป็น “ประเทศไฮเทค” ในอนาคต

หุ้น FPT ในพอร์ตผมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะต้องจ่ายแพงกว่าปกติจากราคาตลาดเพราะหุ้นมี “Foreign Premium” มันกลายเป็นหุ้นที่ผมมีมากที่สุดในระดับกว่า 40% ของพอร์ตหุ้นเวียดนาม เพราะผมเริ่มสรุปว่า นี่อาจจะเป็น “หุ้นหมายเลข 1” ของเวียดนามในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าที่จริง ข้อมูลล่าสุดก็คือ หุ้นเวียตนามที่ใหญ่ที่สุดในช่วงนี้คือหุ้นแบ้งค์ VCB ที่มี Market Cap. ประมาณ 700,000 ล้านบาท อันดับ 2 คือหุ้นแบ้งค์ BID ที่ 390,000 ล้านบาท และอันดับ 3 ก็คือ หุ้น FPT ที่ 290,000 ล้านบาท

เหตุผลที่ผมสรุปว่า FPT มีโอกาสที่จะเติบโตกลายเป็นหุ้นอันดับหนึ่งในตลาดหุ้นเวียดนามในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น เป็นเพราะประเทศเวียดนามนั้น มีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันทางด้านไฮเทคในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ว่าที่จริงในปัจจุบัน FPT ก็แข่งขันได้อยู่แล้วในเรื่องของการเขียนโปรแกรมและก็สามารถเติบโตได้เนื่องจากเวียดนามมีบุคลากรด้านนี้ค่อนข้างมากและยังผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านมหาวิทยาลัยของตนเอง

นอกจากนั้น เด็กเวียดนามมีการศึกษาที่ดีและเน้นในด้านของการเรียนในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากและมากกว่าประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันโดยเฉพาะในอาเซียนมาก เครื่องชี้วัดทุกด้านทางการศึกษารวมถึงนักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศของเวียตนามนั้นเหนือกว่าทุกประเทศยกเว้นสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

ดังนั้น ผมเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เวียดนามน่าจะเป็นประเทศที่มีและใช้เทคโนโลยีในการทำมาหากินค่อนข้างมากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนั่นก็ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปได้ไกลกว่าและจะไม่ติดกับดักคนชั้นกลางที่จะเกิดขึ้นกับหลายประเทศรวมถึงไทย และถ้าประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จในด้านของเทคโนโลยี แน่นอนว่า FPT ก็จะต้องประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะ FPT วันนี้ แทบจะเป็น “เรือธง” ของเวียดนามในด้านการแข่งขันทางเท็คโนโลยีกับประเทศอื่น

แน่นอนว่าอีก 10 ปีเวียดนาคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาแข่งขันกับบริษัทระดับโลกได้ แต่การที่จะ “เกาะกลุ่ม” อยู่ใน “Supply Chain” หรือใช้เทคโนโลยีที่ช้ากว่าบ้างก็น่าจะเป็นไปได้สูง และก็เช่นเดียวกัน อีก 10 ปี เวียดนามก็อาจจะหันไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการเขียนโปรแกรมขาย แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร FPT ก็น่าจะเป็นคนทำเสมอ

และทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เป็นการแนะนำให้ซื้อหุ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ราคาหุ้น FPT ปรับตัวขึ้นมามหาศาลคล้าย ๆ กับหุ้น Magnificent 7 ที่คนเข้าไปซื้อในช่วงนี้อาจจะขาดทุนได้ง่าย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1134713


 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

ทฤษฎีแมลงสาบในตลาดหุ้น By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 14 ก.ค. 2024

"ตลาดหุ้นไทย" ในช่วงเร็วๆ นี้ดูเหมือนว่า “แมลงสาบ” เริ่มโผล่ออกมาเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ แห่ง นี่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี และอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิดโกลาหล และความหวังที่จะเห็นหุ้นฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้อาจจะลดน้อยลง

พฤติกรรมของนักลงทุนและหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นสิ่งที่นักวิชาการจำนวนมากได้ทำการศึกษามายาวนาน และได้สร้างเป็น “ทฤษฎี” ขึ้นมากมาย หลายทฤษฎีก็ “เปลี่ยนโลกของการลงทุน” ไปอย่าง “สิ้นเชิง” ตัวอย่างที่ชัดเจนก็เช่น ทฤษฎี “ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ” หรือ “Efficient Market Hypothesis” ที่บอกว่าตลาดหุ้นนั้นเก่งมาก มีความสามารถในการกำหนดราคาหุ้นทุกตัวให้เหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงของมัน ดังนั้น การที่มีนักลงทุน รวมถึง “เซียนหุ้น” มาคุยว่าสามารถเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานและขายเมื่อราคาสูงเกินไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ไม่จริง “ในระยะยาว”

แต่ในระยะสั้นก็อาจจะทำได้เพราะ “ฟลุ๊ก” แล้วก็เก็บมาคุยโม้จนคนคิดว่าเป็น “เซียน” แต่ถ้าทำไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็พบว่า เขาไม่ได้กำไรมากกว่าผลตอบแทนปกติของตลาดซึ่งระยะยาวให้ผลตอบแทนทบต้นที่ประมาณ 10% ต่อปี เพราะปีต่อ ๆ มาเขาอาจจะขาดทุนหรือกำไรน้อยกว่าที่เคยทำได้ แต่ถีงตอนนั้นเขาก็จะไม่ออกมาพูดแล้ว คนทั่วไปก็ไม่รู้ว่าเขาเป็น “เซียนเยสเตอร์เดย์” ไปแล้ว ยังติดภาพว่าเป็นเซียนอยู่

แต่นักวิชาการซึ่งเป็นคนที่ “ค้นหาความจริง” ก็จะต้องตามดูว่ามีคนที่เป็น “เซียน” จริง ๆ หรือเปล่าในระยะยาวโดยการตั้ง “ทฤษฎี” แล้วก็ “พิสูจน์” ซึ่งก็พบว่าในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพจริง ไม่มีใครเก่งกว่าตลาดได้จริง ๆ (อาจจะยกเว้นกรณีของบัฟเฟตต์)

ดังนั้น คำแนะนำก็คือ นักลงทุนไม่ควรเลือกหุ้นเอง แต่ควรลงทุนในกองทุนรวมที่อิงกับดัชนีตลาดซึ่งจะได้ผลตอบแทนสูงที่สุดเพราะไม่ต้องเสียค่าบริหารกองทุนสูงอย่างกองทุนที่มีการเลือกหุ้นลงทุนโดย “เซียน” และนั่นก็ทำให้โลกของการลงทุนในอเมริกาเปลี่ยนไป “อย่างสิ้นเชิง” คนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีแทนการเลือกหุ้นลงทุนด้วยตนเองหรือลงทุนในกองทุน Active Fund

ผมพูดมายาว แต่สิ่งที่จะพูดในบทความต่อไปนี้จะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎีหุ้นแบบชาวบ้าน” ที่ไม่เคยหรือไม่มีการพิสูจน์ แต่เป็นเรื่องที่คุยกันในวงการนักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนที่เป็น “นักปฏิบัติ” ที่อาจจะไม่ได้สนใจและไม่ได้เชื่อในทฤษฎีตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นความคิดหรือทฤษฎีที่อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับนักลงทุน หุ้นและตลาดหุ้นได้ดี ลองมาดูกัน

เรื่องแรกก็คือ “พฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อย” ที่เขาพูดว่ามีความแตกต่างจากนักลงทุนสถาบันและ/หรือที่เป็นรายใหญ่ ถ้าเป็นในตลาดหุ้นอย่างอเมริกาก็จะมีทฤษฎีที่ว่า รายย่อยเป็นนักลงทุนที่ไม่มีเหตุผลหรือข้อมูลในการลงทุนและมักจะเป็น “หมู” ในตลาดที่จะถูก “เชือด” ดังนั้น ถ้าช่วงไหนนักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อขายหรือเล่นหุ้นในตลาดมากกว่าปกติด้วยความโลภ ก็จงเตรียมไว้ได้เลยว่า เดี๋ยวหุ้นจะร่วง ดัชนีตลาดหุ้นจะตกลงมา

ในตลาดหุ้นไทยเราถึงกับมีคำเรียกนักลงทุนกลุ่มนี้ว่า “เม่า” หรือ “แมลงเม่า” และคาดการณ์ได้เลยว่าในไม่ช้าก็จะขาดทุนหุ้นหนักและ “ตาย” คือหนีออกจากตลาดหุ้น อาการของ “แมลงเม่า” ก็คือ ทุกครั้งที่เห็น “ไฟ” ซึ่งในตลาดหุ้นก็คือ “สตอรี่” ต่าง ๆ ที่ถูกจุดขึ้นมา ไม่ว่าจะมาจากสถานการณ์หรือนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาเล่นหรือ “ปั่น” หุ้น แมลงเม่าหรือนักลงทุนรายย่อยก็จะกรูกันเข้ามาเล่น ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นร้อนแรงเหมือนไฟ แต่รายย่อยก็ “ไม่กลัว” และกลับเข้ามาเล่นเพิ่ม แต่แล้วก็ถูกไฟ “เผา” นั่นคือหุ้นตกลงมาอย่างหนักจนคนเล่นแทบจะเป็นหายนะ

ทฤษฎีชาวบ้านอีกเรื่องหนึ่งก็คือทฤษฎี “งานเลี้ยงค็อกเทล” ของ ปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้บริหารกองทุนผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก ซึ่งบอกว่า ถ้าคนทั่วไปในงานเลี้ยงแบบค็อกเทลไม่สนใจหุ้นเลย เห็นได้จากการที่เมื่อทักทายกับเขาซึ่งเป็น “เซียนหุ้น” ที่บริหารกองทุนรวมแล้วรีบเปลี่ยนเรื่องหรือหนีจากไป นั่นก็แปลว่าตลาดหุ้นกำลังจะขึ้น

แต่ถ้าช่วงไหนเริ่มมีคนคุยอ้อยอิ่งนานขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่รู้ว่าเขาทำงานอะไร นั่นก็แปลว่าตลาดเริ่มปรับตัวขึ้นไปแล้วประมาณ 15% แต่ถ้าในกรณีต่อมาซึ่งตลาดปรับตัวขึ้นไปแล้ว 30% คนก็จะเริ่มมารุมล้อมเขา อาจจะเป็น 10 คน และคนเริ่มถามว่า “หุ้นตัวไหนดี”

ช่วงสุดท้ายก็คือ ถ้าคนเริ่มรุมล้อมเขามาก และบางคนก็เริ่มที่จะแนะนำปีเตอร์ ลินช์ว่าหุ้นตัวไหนดีน่าสนใจ นั่นก็คือเวลาที่คนจำนวนมากสนใจและเข้าไปถือหุ้นเต็มที่เพราะหุ้นบูมจัด ทุกคนพูดกันถึงเรื่องหุ้น นั่นก็คือเวลาที่ตลาดหุ้นขึ้นไปสูงสุดและใกล้จะตกลงมาอย่างแรงแล้ว 

ในตลาดหุ้นไทยเองก็จะมีการดัดแปลงว่าถ้านั่งแท้กซี่แล้วคนขับชวนคุยเกี่ยวกับหุ้นและบางทีก็แนะนำหุ้นเด็ดให้เราด้วย หรือบางทีก็เป็นช่างตัดผมหรือช่างเสริมสวยที่ปกติไม่น่าจะสนใจการลงทุนแต่กลับชวนคุยเกี่ยวกับเรื่องหุ้นและอาจจะบอกได้ด้วยว่าหุ้นตัวไหนดี นั่นก็เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นกำลังพีก และใกล้ที่จะตกลงมาอย่างแรงแล้ว

ทฤษฎีเรื่องต่อมาที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับนักลงทุนรายย่อยโดยตรงแต่มักจะทำให้นักเล่นหุ้นทั่วไปรวมถึงรายใหญ่บาดเจ็บอย่างหนักก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า “ทฤษฎีแมลงสาบ” ซึ่งพูดสั้น ๆ ก็บอกว่า “ถ้าเราเห็นแมลงสาบตัวหนึ่งอยู่แถวห้องครัว ก็จงเชื่อเถอะว่ามันยังมีแมลงสาบอีกหลายตัวที่ซ่อนอยู่และก็จะโผล่ออกมาเรื่อย ๆ”

ความหมายก็คือ เมื่อเกิดเรื่อง “ฉาวโฉ่” หรือการฉ้อฉล หรือสิ่งที่ไม่ดี ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรมจรรยา ซึ่งรวมถึงการบริหารงานบริษัท การซื้อขายหุ้น การใช้ข้อมูลเอาเปรียบผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน การสร้างสตอรี่ที่เกินความเป็นจริง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เดิมทีบุคคลภายนอกก็ไม่รู้ แต่แล้ว จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เรื่องเลวร้ายหรือเรื่องที่ไม่ดีก็ปรากฏขึ้น บางเรื่องอาจจะเป็นอุบัติเหตุ แต่หลายเรื่องก็เป็นเพราะสถานการณ์ภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวยมาก เช่น หุ้นทั่วไปรวมถึงตลาดหุ้นโลกตกต่ำลงมา นั่นทำให้คนทั่วไปเริ่มเห็นสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้บริหาร ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่า “ขยะแขยง” เหมือน “แมลงสาบ” ตัวหนึ่งที่โผล่ออกมา

เมื่อเกิดเรื่องขึ้น แทบจะทุกครั้ง ก็จะมีคนมาบอกและยืนยันว่า เรื่องนั้น “จบแล้ว” และไม่มีสิ่งที่เลวร้ายอื่น ๆ อีก พูดง่าย ๆ มีแมลงสาบเพียงตัวเดียวและเรากำจัดมันไปแล้ว แต่ตามทฤษฎีแมลงสาบนั้นบอกว่า จะยังมีแมลงสาบอีกหลายตัวมากที่ซ่อนอยู่ และในที่สุดมันก็จะโผล่ออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ จนกว่าเราจะกำจัดมันได้หมดจริง ๆ 

ทฤษฎีแมลงสาบนั้น แม้ว่าจะไม่มีนักวิชาการมาพิสูจน์เป็นเรื่องราว ผมคิดว่ามีความถูกต้องมาก แค่คิดถึงเหตุการณ์ฉาวโฉ่ใหญ่ ๆ ของบริษัทขนาดยักษ์ในโลกที่ผ่านมาก็น่าจะคาดได้ว่าทฤษฎีนี้เป็นจริงแน่นอน เหตุผลก็คือ ถ้ามีบริษัทไหนที่ใช้ “กลโกง” บางอย่างได้สำเร็จโดยที่คนภายนอกไม่รู้หรือไม่ตระหนัก ผู้บริหารหรือคนภายในบริษัทก็จะเริ่มหากลโกงอื่นเพื่อที่จะเพิ่มผลตอบแทนขึ้นอีก หรือไม่ก็ต้องหากลโกงอื่นเพื่อที่จะมาปิดบังกลโกงเดิมให้อยู่ต่อไปให้นานที่สุด และนั่นก็คือแมลงสาบที่ขยายพันธุ์ขึ้นเป็นฝูงโดยที่คนภายนอกไม่รู้เลย จนถึงวันหนึ่งที่แมลงสาบตัวหนึ่งถูกขุดพบหรือเผลอโผล่ขึ้นมา

ทฤษฎีแมลงสาบมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมหรือหุ้นบางกลุ่มบูมขึ้นมา ซึ่งมักจะก่อให้เกิดความโลภของคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบุคคลภายในบริษัทที่จะเห็นโอกาสรวยและรวยมากอย่างง่าย ๆ โดยการสร้างสตอรี่ ปั้นตัวเลข สร้างรายได้และกำไรเทียม ไซฟ่อนเงินจากบริษัท ทำกำไรจากการซื้อ-ขายหุ้น ร่วมมือกับนักลงทุนรายใหญ่ในการทำราคาหุ้น และร่วมมือกับสื่อต่าง ๆ ที่จะสร้างกระแสในด้านที่ดี ๆ ทั้งหลายต่อสังคมและโดยเฉพาะต่อนักลงทุน

เกือบจะแน่นอนว่าสิ่งที่ไม่จริงหรือไม่ยั่งยืนที่ถูกสร้างขึ้นนั้น ในที่สุดมันก็ “ไม่ยั่งยืน” ภายในเวลา 3-4 ปี หรืออย่างสูงก็ไม่น่าจะเกิน 6-7 ปี รอยปริก็มักจะเกิดขึ้น และก็จะค่อย ๆ ลามจนแตกในที่สุด บริษัทพลังงานขนาด “ยักษ์” อย่าง Enron ที่มีกิจการทั่วโลกและมีผลการดำเนินงาน “สุดยอด” ซึ่งทำให้หุ้นขึ้นไปที่ราคาประมาณ 90 เหรียญในช่วงกลางปี 2000 ตกลงมาเหลือเพียง 1 เหรียญในเดือนพฤศจิกายน 2001 เมื่อมีการค้นพบเรื่องราวฉาวโฉ่ที่ถูกซุกซ่อนมายาวนาน

Enron ล้มละลายและกลายเป็นการล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาในช่วงนั้น เช่นเดียวกับบริษัทผู้สอบบัญชีระดับท็อป 5 ที่ต้องปิดตัวลงเพราะทำงานผิดพลาดอย่างแรง ผู้บริหารสูงสุดของ Enron ติดคุกและบางคนก็ตายก่อนถูกตัดสิน หลังจากนั้น รัฐบาลสหรัฐต้องออกกฎหมายหลายฉบับส่วนหนึ่งเพื่อ “ปฏิรูป” ระบบการรายงานทางการเงินที่จะทำให้เกิดความเที่ยงตรงและโปร่งใส และความรับผิดชอบของผู้ตรวจสอบบัญชี

เขียนถึงจุดนี้ผมเองก็เกิดความรู้สึกว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็วๆ นี้ดูเหมือนว่า “แมลงสาบ” เริ่มโผล่ออกมาเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ แห่ง นี่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี และอาจจะเป็นจุดที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิดโกลาหล และความหวังที่จะเห็นหุ้นฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้อาจจะลดน้อยลง

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1135725
 
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

กำไรดีแต่หุ้นตก
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 17 ส.ค. 2024

ทำไม่กำไรดีแต่หุ้นตกก็คือ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกำไรเป็นหลัก แต่ในช่วงนี้อาจจะมีปัจจัยเรื่อง “หุ้นแพง” ที่ยังค้างอยู่จากช่วงที่หุ้นไทยมีการเก็งกำไรกันสูงมากก่อนหน้านี้ หน้าที่ของเราก็คือการวิเคราะห์ความคุ้มค่าแนว VI

การประกาศผลการดำเนินงานทุกไตรมาศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นช่วงเวลาสำคัญของนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น Value Investor เพราะในสายตาของ VI จำนวนมากนั้น “กำไรเป็นพ่อของทุกสถาบัน” นั่นก็คือ กำไรเป็นตัวที่เหนือกว่าปัจจัยอื่นทั้งหมดที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนราคาหุ้น ถ้าบริษัททำกำไรดี ราคาหุ้นก็มักจะขึ้น ไม่ว่าปัจจัยอื่นรวมถึงปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจจะเลวร้ายหรือตลาดหุ้นโดยรวมจะตกลงมา ยิ่งกำไรดีมาก ราคาหุ้นก็มักจะขึ้นไปมาก

ในอดีตที่ยาวนานนับ 10 ปีที่ผ่านมานั้น หุ้นไทยมักจะขึ้นลงหวือหวาและตอบสนองต่อกำไรสูงมากมาตลอด บ่อยครั้ง กำไรที่โต 20-30% ต่อเนื่องหลายไตรมาศนั้น มักทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาบางครั้งไม่ถึงปี เหตุผลเพราะนักลงทุนของไทยส่วนใหญ่เป็น “นักเก็งกำไร” ซึ่งชอบเล่นหุ้น “Growth” หรือ “หุ้นเติบโต” แม้ว่าจะเรียกตนเองว่าเป็น “VI” ที่ควรเน้นหุ้นที่มีราคาถูก ดังนั้น เมื่อหุ้นตัวไหนประกาศผลกำไรเพิ่มขึ้น พวกเขาก็จะรีบเข้าไปซื้อ ดันให้ราคาเพิ่มขึ้น และมักจะขึ้นไปมากกว่ากำไรที่เพิ่มขึ้น

แต่ในช่วงไตรมาศนี้ และอาจจะรวมถึงในช่วง 2-3 ไตรมาศก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่าการประกาศผลกำไรจะมีผลกระทบต่อราคาน้อยลงไปมาก หรือในบางกรณีก็เกิดผลในทางตรงกันข้าม นั่นก็คือ “กำไรก็ดี แต่หุ้นกลับตก” สร้างความผิดหวังอย่างแรงให้กับคนที่ “ลุ้น” ว่ากำไรจะดีและก็เป็นไปตามคาด กำไรบวกแรงมาก “หลายสิบเปอร์เซ็นต์” และคิดว่าหุ้นจะต้อง “วิ่งระเบิด” แต่ผลกลับตรงกันข้าม หุ้นถดถอยลงอย่าง “ไม่น่าเชื่อ” ทฤษฎีที่ว่าผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการใช้ไม่ได้แล้วหรือ?

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์อธิบายปรากฎการณ์นี้ว่าเป็นเรื่องของการ “Sell on Fact” นั่นก็คือ การที่คนในตลาดหุ้นได้คาดไว้ก่อนแล้วว่ากำไรของบริษัทจะออกมาดี และ/หรือคนที่ได้ข้อมูลภายในจากผู้บริหารบริษัทหรือ “Insider” รู้ว่างบจะออกมาดี ทำให้พวกเขาทยอยซื้อหุ้นก่อนประกาศงบ ราคาหุ้นก็ทยอยปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดสูงสุดในวันก่อนประกาศงบ พองบถูกประกาศว่าดีจริงตามที่คาด และคนภายนอกทั่วไปแห่กันมาซื้อหุ้น พวกเขาก็จะขายทำกำไรได้งดงามในเวลาอันสั้น ซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาแทนที่จะเพิ่มขึ้น

คำอธิบายเรื่อง Sell on Fact นั้น เป็นเรื่องของการเก็งกำไรสั้น ๆ ที่กินเวลาแค่เป็นวัน และบ่อยครั้งก็ไม่ได้ดูว่าหุ้นหลาย ๆ ตัวนั้น ก่อนหน้าที่จะประกาศงบที่ดีออกมาก็ไม่ได้มีราคาปรับตัวขึ้นแต่อย่างใด ว่าที่จริง หุ้นทยอยตกลงมาเรื่อย ๆ ก่อนประกาศงบ พอประกาศว่างบดี กำไรเพิ่มขึ้น แทนที่หุ้นจะปรับตัวขึ้น มันกลับตกลงไปอีก คำอธิบายคืออะไร?

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะตอบว่า กำไรที่ประกาศนั้น ถึงจะดีขึ้น แต่ก็ต่ำกว่ากำไรเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ทั้งหมดคาดไว้ก่อนหน้านั้น หรือที่เรียกว่า “Consensus Earning Estimate” ซึ่งเป็นฐานของการกำหนดราคาหุ้นที่เหมาะสมของนักวิเคราะห์

ดังนั้น ถ้ากำไรของบริษัทที่ประกาศออกมาต่ำกว่ากำไรที่นักวิเคราะห์คาด ราคาหุ้นก็จะต้องลดลง ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ และดังนั้น เวลาที่นักลงทุนจะ “ลุ้น” เรื่องกำไรของบริษัท เราก็ควรจะลุ้นว่ากำไรจะดีกว่า “กำไร Consensus” ของนักวิเคราะห์หรือไม่ ไม่ใช่ลุ้นว่ามันดีขึ้นหรือแย่ลงเทียบกับปีที่แล้วหรือไตรมาศที่แล้ว

วิธีอธิบายเรื่องงบดีแต่หุ้นตกโดยการใช้ตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์นั้น ผมก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องระยะสั้นอยู่ดีแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องของการเก็งกำไรวันต่อวันแบบ “Sell on Fact” เพราะสำหรับนักลงทุนระยะยาวโดยเฉพาะแนว VI พันธุ์แท้นั้น

กำไรก็ยังเป็น “พ่อทุกสถาบัน” อยู่ดี เพราะถ้ากำไรไม่ขึ้น โอกาสที่หุ้นจะขึ้นหรือทรงตัวอยู่ได้ในระยะยาวก็เป็นไปได้ยาก อย่าลืมว่า “Intrinsic Value” หรือ “มูลค่าหุ้นที่แท้จริง” ของหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับเงินสดที่เราจะได้รับจากบริษัทในอนาคตตลอดไป ซึ่งเงินสดที่จะได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กับกำไรของบริษัทที่ควรจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่บริษัทจะได้จ่ายปันผลให้เราเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ

ประเด็นสำคัญก็คือ “กำไร” ที่ประกาศนั้น แต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกันในแง่ของ “คุณภาพ” และแม้แต่บริษัทเดียวกัน ในแต่ละไตรมาศก็จะมีคุณภาพไม่เหมือนกับไตรมาศอื่น คุณภาพของกำไรนั้นจะมีส่วนสำคัญมากต่อราคาของหุ้น ถ้ากำไรเพิ่มขึ้นมากและเป็นกำไรที่มีคุณภาพสูง ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นแรง ตรงกันข้าม กำไรที่มี “คุณภาพต่ำ” ต่อให้ประกาศออกมามาก ราคาหุ้นก็จะไม่ตอบสนองหรือตอบสนองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก

คุณภาพของกำไรนั้น วัดจากการที่มันเป็นกำไรที่ได้มาจากการขายสินค้าที่มีคุณภาพสูงที่คู่แข่งไม่สามารถแข่งขันได้หรือเสียเปรียบในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น การขายโฆษณาของกูเกิลที่เป็นที่นิยมที่คนจะกลับมาซื้อบริการอีกเพราะเป็นโฆษณาที่ได้ผลดี เช่นเดียวกับเฟซบุคและติ๊กต็อก แต่ตรงกันข้ามกับบริษัทน้ำมันที่มีกำไรที่ได้มาจากการ “เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน” ในช่วงไตรมาศที่ผ่านมา ซึ่งก็มักจะไม่อยู่ทนและสามารถที่จะกลายเป็นขาดทุนในไตรมาศต่อไปได้อย่างง่ายดาย

กำไรที่มีคุณภาพสูงนั้น จะต้องไม่ใช่กำไรที่เกิดจาก “เรื่องชั่วคราว” ที่มักจะเกิดขึ้นไม่กี่ปี เช่นเรื่องของภาวะอุตสาหกรรมบางอย่างที่ขึ้นลงเป็นวัฏจักร ตัวอย่างเช่น ธุรกิจการขนส่งทางน้ำ ปิโตรเคมี ที่มักจะ “ดีเจ็ดปีแย่เจ็ดปี” ซึ่งกำไรหรือขาดทุนมักจะมีคุณภาพต่ำ บางทีกำไรมโหฬารแต่ราคาหุ้นกลับลดลงในวันที่ประกาศงบ

กำไรที่มีคุณภาพสูงนั้น ควรจะมาจากการที่สินค้าของบริษัทเป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการโดยรวมเพิ่มขึ้น และบริษัทเป็นผู้ชนะที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน คู่แข่งไม่สามารถต่อสู้ได้ ทำให้บริษัทสามารถมีกำไรต่อยอดขายสูงกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนั้น โอกาสที่เทคโนโลยีหรือแนวทางการขายสินค้าแบบใหม่ไม่สามารถมาดิสรัปหรือทำลายได้ง่าย ตัวอย่างน่าจะรวมถึงหุ้นดิจิทัลระดับผู้นำโลกทั้งหลายที่มักจะมีกำไรที่มีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ไม่ได้มี “เครือข่าย” ของลูกค้าที่ผูกพันกันซึ่งทำให้สามารถย้ายบริษัทผู้ให้บริการได้ง่ายนั้น คุณภาพของกำไรก็จะต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้า โรงงานผลิตชิพเซมิคอนดัคเตอร์ เป็นต้น ที่แม้ว่าจะโดดเด่นมากในภาวะปัจจุบัน แต่วันหนึ่งก็มีโอกาสที่จะถูกทำลายโดยบริษัทใหม่ที่ค้นพบหรือผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าที่จะดึงดูดลูกค้าไปได้ในกรณีของบริษัทในอุตสาหกรรมรุ่นเก่าหรือรุ่นปัจจุบันที่ไม่ได้เป็นหุ้นเทคโนโลยีหรือดิจิทัลอย่างในตลาดหุ้นไทยนั้น คุณภาพของกำไรของแต่ละบริษัทก็คงต้องมาวิเคราะห์ตาม “โครงสร้างของอุตสาหกรรม” ซึ่งก็คือเรื่องของขนาดของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งก็มักจะบอกต่อไปว่าการแข่งขันทางธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้นจะเป็นอย่างไร ใครจะได้เปรียบ ใครจะเสียเปรียบ ราคาสินค้าที่ขายสูงพอที่จะทำให้บริษัทมีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายสูงหรือต่ำ ซึ่งก็จะส่งผลต่อถึงกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งก็จะนำไปสู่เรื่องของราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

ในอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์นั้น ผู้เล่นหรือบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมมักจะมีจำนวนมาก “ทั่วโลก” และก็ไม่มีใครใหญ่พอที่จะกำหนดราคาสินค้าเองได้ ราคาขึ้นกับความต้องการซื้อและขายในตลาดในแต่ละช่วง ธุรกิจไม่สามารถควบคุมกำไรขาดทุนระยะสั้นในแต่ละไตรมาศได้ ในระยะยาว ผลตอบแทนหรือกำไรก็มักจะ “เฉลี่ย” เท่ากับต้นทุนของเงินเช่นอัตราดอกเบี้ย บวกกับกำไรเล็กน้อย รวมแล้วอาจจะได้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 10% ต่อปี โดยที่กำไรรายปีหรือรายไตรมาศที่ประกาศออกมานั้น โดยหลักการแล้วไม่ควรบอกว่าหุ้นควรจะขึ้นหรือลง

กำไรของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ เป็นผู้นำที่ “แทบจะผูกขาด” และอุตสาหกรรมก็ยังเติบโตอยู่ หาสินค้าหรือบริการที่สามารถทดแทนได้ยาก จะเป็นกำไรที่มีคุณภาพสูง ถ้ากำไรเพิ่มขึ้นก็น่าจะต้องทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นตามกันไป เพราะกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างถาวร ไม่ควรจะตกกลับลงมาในไตรมาศหรือปีต่อไป

ตัวอย่างของอุตสาหกรรมก็เช่น อุตสาหกรรมค้าปลีกในบางประเทศที่มีผู้เล่นที่ใหญ่มากอย่างหุ้นวอลมาร์ท สินค้าผู้บริโภคที่มีบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ที่คนนิยมสูงมากอย่างเช่น เหล้าเหมาไถในจีน หรือหุ้นหลุยส์วิตตอง เป็นต้น

ในบางอุตสาหกรรม โครงสร้างของอุตสาหกรรมเป็นแบบ มี “ผู้เล่นน้อยราย” ซึ่งก็จะทำให้มีการแข่งขันอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังทำให้ราคาสินค้าสูงกว่าปกติบ้าง คุณภาพของกำไรของบริษัทแบบนี้ก็ต้องถือว่าพอใช้ได้ ถ้าเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็ควรจะต้องขยับขึ้นแม้ว่าจะไม่เท่าบริษัทผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีการ “ผูกขาดสูง” ตัวอย่างของกลุ่มนี้ก็อาจจะรวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในหลาย ๆ ประเทศ เป็นต้น

ข้อสรุปของผมเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าทำไม่กำไรดีแต่หุ้นตกก็คือ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกำไร เป็นหลัก แต่ในช่วงนี้อาจจะมีปัจจัยเรื่อง “หุ้นแพง” ที่ยังค้างอยู่จากช่วงที่หุ้นไทยมีการเก็งกำไรกันสูงมากก่อนหน้านี้ หน้าที่ของเราก็คือการวิเคราะห์ความคุ้มค่าแนว VI โดยคำนึงถึงคุณภาพของกำไร บางทีอาจจะเป็นโอกาสที่จะพบหุ้นดีที่ “กำไรดีแต่หุ้นตกได้”

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1140686


 
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

เส้นทางแห่งความมั่งคั่ง เริ่มจากการกินลูกชิ้นเนื้อวัว
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 01 ก.ย. 2024 

ความสามารถในการอดทนต่อสิ่งยั่วเย้าในปัจจุบัน เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคตนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จ

เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่อง “การอดทนต่อสิ่งล่อใจ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต” หรือในภาษาอังกฤษคือ “Delayed gratification” ซึ่งนำเสนอโดย ศาสตราจารย์ Walter Mischel และผ่านการทดลองที่มีชื่อเสียงติดอันดับสูงสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการทดลองทางด้านจิตวิทยาที่เรียกว่า “The Marshmallow Test” เป็นทฤษฎีที่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ควรที่จะรู้ไว้ เพราะทฤษฎีนี้ อาจจะมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จและความมั่งคั่งเท่า ๆ กับทฤษฎีการลงทุนและการเลือกหุ้นโดยตรง

การทดลองทำโดยใช้แมชแมลโลว์มา “ล่อ” เด็กอายุประมาณ 4 ขวบ ซึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด โดยเสนอว่าถ้ากินเลย จะได้กินเพียง 1 ชิ้น แต่ถ้ารอ “สักครู่” เช่นประมาณ 15 นาที ก็จะได้กิน 2 ชิ้น นี่เป็นการทดลองเพื่อดู “ความอดทน” ในจิตใจของเด็กซึ่งทุกคนนั้นอยากกินแมชแมลโลว์เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว

ผลก็คือ เด็กส่วนใหญ่นั้น “ทนไม่ไหว” บางคนเพียง 2-3 นาทีก็กินแล้ว มีบางคนก็รอได้ถึง 5 หรือ 10 นาที และหลายคนก็รอจนถึงเวลา 15 นาทีที่ผู้ทำการทดลองกำหนดและได้กินขนม 2 ชิ้น ผลตอบแทนของการรอ ถ้าคิดว่าเป็น “การลงทุน” ก็คือขนมที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ชิ้น หรือ 100% ในเวลาเพียง 15 นาที

ข้อมูลการทดลองนั้นถูกเก็บไว้เป็นเวลาอาจจะ 10 ปี 20 ปี และต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะนำมาศึกษาว่า เด็กที่สามารถ “รอ” สิ่งล่อใจหรือสิ่งเย้ายวนได้นานกับเด็กที่รอไม่ไหวหรือรอได้ไม่นาน เมื่อโตขึ้นจะมีความแตกต่างของ “ความสำเร็จ” ในชีวิตไหม และมากน้อยแค่ไหน

ผลก็คือ เด็กที่รอได้นานที่สุดและได้กินขนม 2 ชิ้น ประสบความสำเร็จสูงกว่าเด็กที่รอไม่ไหว ยิ่งรีบกินเร็วก็จะประสบความสำเร็จน้อยกว่าและมีความสุขน้อยกว่า การวัดความสำเร็จก็เช่น คะแนนสอบ SAT ซึ่งเด็กทุกคนต้องใช้สมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ระดับการเรียนถึงปริญญาตรีหรือไม่ เงินเดือนหรือรายได้เป็นอย่างไร ส่วนความสุขก็อาจจะเป็นการถามเจ้าตัวหรือพ่อแม่ เป็นต้น นอกจากนั้นบางการศึกษาก็ดูว่าน้ำหนักตัวคือดัชนีมวลกายเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนที่ได้ “คะแนนการรอ” สูง มักมีรูปร่างหรือสุขภาพหรือดัชนีมวลกายดีกว่า คือไม่อ้วนหรืออ้วนน้อยกว่า เป็นต้น

ข้อสรุปของการศึกษาก็คือ “ความสามารถในการอดทนต่อสิ่งยั่วเย้าในปัจจุบัน เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคตนั้น เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จ” ในชีวิต ฟังดูแล้วก็เหมือนกับ “การลงทุน” ที่เราอดทน “เลื่อน” การบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ล่อใจหรือเย้ายวนมนุษย์ทุกคน เพื่อหวังที่จะได้สิ่งที่ดีกว่าหรือการบริโภคที่มากกว่าในอนาคต นั่นก็คือ ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมีเงินมากขึ้นและสามารถบริโภคได้มากกว่าในอนาคต

และถ้ามองตามนี้ คนที่มีความสามารถในการเลื่อนการใช้จ่ายเงินได้มากกว่า ก็น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนมากกว่าคนที่ชอบบริโภคเป็นชีวิตจิตใจ พูดง่าย ๆ คนที่เป็น “นักออม” นั้น มีคุณสมบัติที่จะ “รวย” หรือมีความมั่งคั่งมากกว่าคนที่ไม่ออมและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

เช่นเดียวกัน คนที่ลงทุนได้ยาวนานกว่า และไม่ค่อยยอมขายทำกำไรเพื่อนำมาบริโภคก็ย่อมที่จะมีความมั่งคั่งสูงกว่าคนที่เน้นการลงทุนระยะสั้น ที่พอเห็นราคาหุ้นขึ้นก็มักจะรีบขายทำกำไรอย่างรวดเร็วและก็พลาดได้ผลตอบแทนที่สูงกว่ามากในอนาคตที่ไกลออกไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครทำการศึกษาแบบ แมชแมลโลว์ที่เน้นมาทางด้านการลงทุนประเภทว่าใครพอร์ตใหญ่กว่ากันระหว่างเด็กที่ทำคะแนนความอดทนต่ำกับคนที่ได้คะแนนสูง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พอร์ตใหญ่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อย 3 เรื่องคือ เงินต้น ระยะเวลาที่ลงทุน และผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้น ซึ่งคงจะยากที่จะหาข้อมูลแบบนั้นได้ในกลุ่มคนที่ทำการทดสอบ

แต่ข้อมูลเชิงคุณภาพจากที่เราก็พอจะทราบก็คือ เซียนหุ้น “VI พันธุ์แท้” ระดับโลกหลายคน เช่น วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นคนที่ “ใช้เงินน้อยมาก” ประเภท กินแฮมเบอร์เกอร์เกือบทุกวัน กับโค๊ก ขับรถเก่าและอยู่บ้านแบบคนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กก็ไม่เคยใช้จ่ายอะไรเป็นเรื่องเป็นราว แต่เน้นหาเงินมาลงทุน เช่นเดียวกับคนอย่างป้าแอนน์ ไชเบอร์ นักลงทุน VI พันธุ์แท้แบบ “บ้าน ๆ” ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก มีพอร์ตเป็น “พันล้าน” ก่อนตายทั้ง ๆ ที่มีรายได้จากการทำงานน้อยมาก แต่เป็นคนประหยัดสุด ๆ ซึ่งทำให้สามารถออมเงินและนำมาลงทุนจนรวยได้

ทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมระลึกถึงชีวิตตนเองตั้งแต่เด็กที่เริ่มจำความได้ เนื่องจากครอบครัวยากจน ผมก็แทบจะไม่เคยได้ใช้จ่ายหรือบริโภคอะไรที่ไม่จำเป็นจริง ๆ เลย เสื้อผ้าก็น่าจะมีเพียง 2 ชุดและใส่ตลอดทั้งปี ซึ่งก็จะมีช่วงที่ผ้าขาดและมีการปะชุน ของเล่นไม่เคยซื้อเลยแต่ก็ไม่ได้ขาดเพราะทำของเล่นเองมาตลอดจากวัสดุธรรมชาติและที่ถูกทิ้งเป็นขยะไปแล้ว ว่าที่จริงผมน่าจะไม่มีเงินติดกระเป๋าหรือขอเงินพ่อแม่เลยจนถึงวันที่เข้าเรียนในโรงเรียนที่ต้องมีเงินซื้ออาหารกลางวัน ซึ่งสำหรับผมแล้วก็คือสิ่งที่ “หรูหรา” เพราะมันเลือกได้

อาหารอร่อยมากที่สุดที่ยังจำได้ก็คือ เส้นหมี่แห้งลูกชิ้นเนื้อวัวที่ต้องเป็นลูกชิ้นเอ็นเหนียวที่เคี้ยวอร่อย และโดยปกติเด็กก็จะล้อมวงกันกิน ประเด็นสำคัญก็คือ เด็กอายุ 7-8 ขวบนั้น บางครั้งก็ด้วยความคะนอง ก็จะแย่งลูกชิ้นจากชามเพื่อนที่นั่งกินด้วยกัน ส่วนตัวผมเองยังจำได้ว่า เด็กแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนพอเริ่มกินก็กินลูกชิ้นที่ “โอชะ” ที่สุดก่อนเลย บางคนก็กินระหว่างกลาง หลายคนรวมถึงผมก็มักจะกินทีหลังและตอนสุดท้ายเมื่อเส้นหมดแล้ว

นั่นสำหรับผมก็คือแมชแมลโลว์เทสแบบธรรมชาติ ผมทำแบบนั้นเพราะผมคิดว่า ของดีของอร่อย ต้องเก็บไว้กินทีหลัง เพราะมันให้อารมณ์สุดยอดกว่า ผมเลื่อนการกินลูกชิ้นออกไปเพื่อที่ว่าผมจะได้กินของดีที่ “อร่อยกว่า” แม้ว่ามันจะเป็นลูกเดียวกัน แต่มันเป็นความรู้สึกที่ผมคิดว่ามันเป็นผลตอบแทน ทั้ง ๆ ที่ผมต้อง “เสี่ยง” ว่าจะถูกเพื่อนแย่งกิน บางคนถึงขนาดที่ต้องอมลูกชิ้นก่อนเพื่อให้เปื้อนน้ำลายเพื่อที่จะทำให้เพื่อนไม่สนใจที่จะแย่งไปกิน

แน่นอนว่าผมไม่รู้และจำไม่ได้ว่าเพื่อนคนไหนที่ชอบกินลูกชิ้นหลังสุด และก็ไม่รู้ว่าเขาคนนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ชอบกินลูกชิ้นก่อนหรือไม่ แต่ส่วนตัวผมเองนั้น ตลอดชีวิตที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วก็ชอบที่จะเลื่อนเวลาที่จะมีความสุขจากการบริโภคออกไปเพื่อหวังที่จะได้บริโภคสิ่งที่ดีกว่าหรือมากกว่าเสมอโดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีความมั่งคั่งน้อย

การประหยัดและใช้เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นนั้น ติดอยู่ในใจเสมอ และมาก่อนที่จะรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นมาก พูดง่าย ๆ เป็นนักอดออมมากว่าครึ่งชีวิตจนถึงอายุ 44 ปี ก่อนที่จะเริ่มลงทุนเป็นเรื่องเป็นราว

เริ่มตั้งแต่หาเงินเลี้ยงตัวเองได้เมื่อจบปริญญาตรี ผมก็ไปทำงานโรงงานต่างจังหวัดที่เป็นชนบทที่มีที่พักในโรงงานพร้อมอาหาร 3 มื้อ สิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ในชีวิตประจำวันก็คือพวกสบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายหลักก็จะเป็นการเดินทางเข้ากรุงเทพสัปดาห์ละหนด้วยรถประจำทาง ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากพบปะเพื่อนและอาจจะดูหนังบ้างเป็นบางครั้ง ผมแทบไม่ได้ซื้อของอะไรรวมถึงเสื้อผ้าที่มักจะใส่ชุดพนักงานของบริษัท

เงินรายได้จากการทำงานในช่วง 6-7 ปีแรกนั้น รายจ่ายที่สูงที่สุดก็คือการส่งให้พ่อแม่ทางบ้าน ที่เหลือแทบทั้งหมดเป็นเงินที่ผมเก็บออมไว้ “เพื่ออนาคต” โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร เหตุผลก็อาจจะเป็นว่า “ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร” เพราะมันยังไม่มากพอ สุดท้ายผมก็ใช้มัน “ลงทุนในการศึกษา” จนจบปริญญาโทและเตรียมไปเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศและก็อีกเช่นกัน ชีวิตที่อเมริกาของผมนั้น ก็เป็นชีวิตที่ “ประหยัดอดออม” ส่วนใหญ่นอกจากค่าเล่าเรียนที่เสียเพียงครึ่งเดียวของอัตราปกติแล้วก็คือเรื่องของที่อยู่และอาหาร ซึ่งก็ไม่แพงเลยถ้าเราทำกินเอง เพราะในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สิ่งที่แพงจริง ๆ ก็คือค่าแรง ค่าวัตถุดิบอย่างเนื้อสัตว์นั้นถูกพอ ๆ กับเมืองไทย ในส่วนของเครื่องใช้เช่นเสื้อผ้านั้นผมแทบจะไม่เคยซื้อ แม้แต่รถยนต์ที่เป็นสิ่งที่จำเป็น ผมก็ได้มาฟรีจากเพื่อนคนไทยที่กลับบ้าน แอร์ที่ใช้ก็ซื้อของเก่าราคาไม่กี่ร้อยบาท การตัดผมที่ใช้แรงงานซึ่ง “แพง” ผมก็ตัดเองด้วยใบมีด การกินอาหารภัตตาคารรวมถึงร้านพิสซ่าหรือไอศครีมนั้น นาน ๆ ผมถึงจะไปกินสักครั้งหนึ่ง และนั่นก็คือความสุขที่เพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากการ “รอ” หรือ “เลื่อน” ความอยากบริโภคออกไป

 กลับสู่ประเทศไทยหลังเรียนจบปริญญาเอก ผมก็ยังไม่เคยใช้อะไรที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมาก กินข้าวที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ใช้รถเก่ามือสอง ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองจนอายุกว่า 50 ปีและมีเงินจำนวนมากแล้วจากการลงทุน จนถึงอายุ 60 ปี ที่ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเริ่มมีครอบครัวของตัวเองรวมถึงมีหลานแล้วที่ผมเพิ่งจะรู้สึกเปลี่ยนไป ที่เริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเลื่อนการบริโภคออกไปอีกต่อไปแล้ว อยากจะทำอะไรก็ทำ แต่ส่วนมากแล้วก็ทำตามลูก ตามครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น แทบไม่ได้คิดว่าตนเองอยากทำอะไรหรือบริโภคอะไรเมื่อมีเงินและเลือกได้

และสุดท้ายก็สรุปกับตนเองว่า ที่อดออมและเลื่อนทุกอย่างที่ทำได้เพื่อที่จะได้สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้านั้น สุดท้ายวันข้างหน้านั้นก็ไม่มีจริง หรือถึงจะมีจริง เราก็ไม่ได้อยากใช้มัน และเมื่อหวนย้อนคิดกลับไปก็ตระหนักว่า สิ่งที่ทำในตอนนั้น คือการอดออมและเลื่อนเวลาแห่งความสุขออกไปก็คือความสุขในตัวของมันเอง และนั่นก็คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม วอเร็น บัฟเฟตต์ เองถึงยังขับรถเก่าไปซื้อแฮมเบอเกอร์เองทุกวันเป็นอาหารเช้าในวัยกว่า 90 ปีแล้ว

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/ ... nt/1142764
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

มาละเหวยมาละวา มาซื้อหรือมาขายตาละลา
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 07 ก.ย. 2024

“Timing” หรือจังหวะเวลาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สิ่งดี ๆ ต่อตลาดหุ้นทั้งหลายต่างก็เวียนมาบรรจบกันพอดีแล้วก็ถูก “จุดชนวน” โดย "ทักษิณ" ทำให้หุ้น “ระเบิด” ราวกับติดจรวด ราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรงมาก พร้อม ๆ กับปริมาณซื้อขายต่อวันสูงถึง "แสนล้าน" เป็นตัวเลขที่ไม่ได้เห็นมานาน

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตกลงมาต่ำมากที่ 1,291 จุด และเป็นการตกลงมาจากต้นปีถึง 8.8% ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นตลาดหุ้นที่ “แย่ที่สุดในโลก” ในขณะนั้น แต่หลังจากนั้น ดัชนีตลาดก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 4 กันยายน ดัชนีอยู่ที่ 1,365 จุด วันที่ 5 กันยายน ดัชนีปรับตัวขึ้นไปถึง 39 จุด และวันที่ 6 กันยายน ปรับตัวขึ้นต่ออีก 23 จุด เป็น 1,428 จุด

ทำให้ตั้งแต่ต้นปี ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวขึ้นเป็นบวกแล้วประมาณเกือบ 1% และเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวขึ้นมาถึง 11% กลายเป็นตลาดหุ้นที่แสดงผลงานได้ “ดีที่สุดในโลก” ในช่วง 1 เดือนผ่านมา เพราะตลาดหุ้นโลก “ปรับตัวลงกันทั่วหน้า”

เหตุผลที่ชัดเจนก็คือ ประเทศไทยกำลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่คนเดิมที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง คือคุณแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และก็ไม่เคยมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมาก่อน

เหตุผลที่ชัดเจนก็คือ ประเทศไทยกำลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่คนเดิมที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง คือคุณแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และก็ไม่เคยมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมาก่อน

นายทักษิณได้แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าจะเข้ามาช่วยกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารประเทศทางด้านเศรษฐกิจที่จะฟื้นฟูประเทศไทยจากการ “ถดถอยหรือแน่นิ่ง” มานานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเซียในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงจากระดับประมาณ 4-5% ต่อปีเหลือเพียงประมาณ 2% ต่อปีในช่วงหลัง ๆ

การแสดงออกของคุณทักษิณโดยการแสดง “วิสัยทัศน์” เมื่อ 3-4 วันก่อนหน้านี้ ได้ “จุดประกาย” ให้นักธุรกิจและนักลงทุนในตลาดหุ้น “เกิดความเชื่อมั่น” ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะต้องดีขึ้นและตลาดหุ้นจะต้องดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยตกต่ำนั้น มันอยู่ที่จุดต่ำสุดแล้ว ทุกปัจจัยที่ดีที่ทุกคนต่างก็รอคอยว่าจะมา ถึงตอนนี้ มันกำลังจะมาอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลใหม่นี้พร้อมที่จะทำมันแล้ว

เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะแจกคนละหมื่นบาทกับคนค่อนประเทศที่คนจำนวนมากไม่แน่ใจว่าจะทำได้และทำเมื่อไรเพราะถูก “ต่อต้าน” นั้น บัดนี้ดูเหมือนว่ามันจะเริ่มเกิดขึ้นภายในเวลา “ไม่ถึงเดือน” และเงินนี้ยังไงก็คงทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะจำนวนเงินหลายแสนล้านบาทที่จะถูกฉีดเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องหลายเดือนนั้น ยังไงก็คงส่งเสริมให้ภาคการบริโภคเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน อย่างน้อยในช่วงปลายปีนี้และอาจจะส่งผลต่อไปอีกในช่วงต้นปีหน้า

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของประเทศไทย ซึ่งนักธุรกิจและประชาชนต่างก็ “รอ” มานาน ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าการรอน่าจะใกล้สิ้นสุดเต็มที โดยเฉพาะเมื่อมีสัญญาณชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า สหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการประชุมคราวหน้าอีกไม่กี่วันที่จะถึง ซึ่งจะทำให้แบ้งค์ชาติไม่มีเหตุผลอีกต่อไปที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม และถ้าดอกเบี้ยลดลง การลงทุนและการบริโภคก็จะดีขึ้น ค่าผ่อนชำระเงินกู้ก็จะต่ำลง เงินที่จะใช้เพื่อการบริโภคก็จะมากขึ้น

เศรษฐกิจโดยรวมของไทยเองนั้น ดูเหมือนว่ากำลังจะดีขึ้นจากภาวะที่ซบเซาก่อนหน้านี้ ตัวเลขการส่งออกดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ การท่องเที่ยวก็เช่นกันที่กำลังดีขึ้นและจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ว่าที่จริง จำนวนคนที่เดินในซอยรางน้ำที่ผมอยู่นั้น ดูเหมือนจะคึกคักเกือบเท่าสมัยก่อนโควิด-19 แล้ว ซึ่งก็ทำให้ร้านค้าปลอดภาษีและร้านสะดวกซื้อมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่ไปไหนมานานก็คือ เม็ดเงินที่มาจากสถาบันที่เข้าสู่ตลาดหุ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนประหยัดภาษีของคนที่มีรายได้สูงเช่น LTF นั้นหายไปนานแล้ว และกองทุนที่จะมาแทนนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพพอในการดึงเงินเข้าสู่ตลาดหุ้น หรือไม่ก็เป็นกองทุนที่กำลังคิดหรือกำลังเตรียมการแต่ก็ไม่ออกมาเสียที สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ รัฐบาลยังมีอาการ “ไม่มั่นคง” เนื่องจากประเด็นทางการเมือง

แต่เมื่อถึงวันนี้ ดูเหมือนว่ากองทุนที่มี “ประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด” คือ “กองทุนวายุภักษ์” ก็ปรากฏตัวขึ้นมา และบอกว่าจะเริ่มดำเนินการระดมเงิน 1 แสนหรือ 1.5 แสนล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่ดี ๆ และราคาถูกในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่จะเป็นกองทุนที่รับประกันกับนักลงทุนว่าจะได้ผลตอบแทนอย่างน้อย 3% ต่อปี ในขณะที่ถ้าหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีก็อาจจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นไปสูงสุดถึง 8% ต่อปี ทั้งหมดนี้จะเปิดขายในเร็ววันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำใน “ไตรมาศหน้า” อีกต่อไป

ในส่วนของอายุหรือความมั่นคงของรัฐบาลที่เป็นประเด็นทำให้หลาย ๆ เรื่องต้องชะลอหรืออาจจะไม่เกิดนั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้จะมั่นคงขึ้น มีความรู้สึกว่าทุกอย่างกำลังลงตัว ผู้มีอำนาจ “ตัวจริง” ต่างก็ “ลงมาเล่น” กันหมด แน่นอนว่าจะมีคนเถียงว่ามีการใช้ “นอมินี” หรือตัวแทนกันมากที่สุดเพราะ “ตัวจริง” ขาดคุณสมบัติ แต่ผมมองว่าอาจจะใช่ แต่ตัวจริงนั้นก็ “เปิดตัว” ให้รู้กันชัดเจน เพียงแต่กฎหมายที่ “ไม่เป็นธรรม” อาจจะไม่สามารถเอาผิดได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ “อำนาจนอกระบบ” กับ “อำนาจในระบบ” ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกันมากขึ้น และนี่ก็คือความมั่นคงทางการเมืองแบบ “ไทยๆ”

สรุปก็คือ “Timing” หรือจังหวะเวลาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สิ่งดี ๆ ต่อตลาดหุ้นทั้งหลายต่างก็เวียนมาบรรจบกันพอดีแล้วก็ถูก “จุดชนวน” โดยคุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็ทำให้หุ้น “ระเบิด” ราวกับติดจรวด ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงมากพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายต่อวันสูงถึงแสนล้านบาท ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่เราไม่ได้เห็นมานาน

ประเด็นสำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คือ หุ้นจะขึ้นต่อไปและจะสูงไปถึงแค่ไหน นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “VI” ที่ไม่เล่นหุ้นเก็งกำไรควรจะซื้อหรือควรจะขาย? แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ผมอยากจะหวนย้อนกลับไปดูดัชนีตลาดหุ้นยุคที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาเกือบ 6 ปี

ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ที่คุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 330 จุด ดัชนีก็ทรง ๆ อยู่เท่าเดิมเป็นเวลาถึงประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะเริ่มวิ่งขึ้นไปแรงมากในช่วงปีที่ 3 คือปี 2546 โดยที่เมื่อสิ้นปี 2546 ดัชนีก็วิ่งขึ้นไปถึง 772 จุด เฉพาะปี 2546 ปีเดียว ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 117% ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยหลังปีวิกฤติ 2540 อานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่และ “สูงที่สุด” ถึง 7.2% สถานะทางการเงินของไทยสูงสุดจากการประกาศคืนเงินที่ต้องกู้ยืมจาก IMF ก่อนกำหนดของคุณทักษิณในช่วงกลางปี 2546

หลังจากการขึ้นสู่ “จุดสูงสุด” รัฐบาลที่นำโดยคุณทักษิณก็ประสบปัญหามากมายจากการประท้วงของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 โดยที่การเติบโตของ GDP ลดลงเหลือเพียงปีละ 4-5% และดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 3 ปีหลังของคุณทักษิณไม่สามารถขึ้นไปเกินจุดสูงสุดที่ 772 จุดอีกเลย

รอบใหม่ที่คุณทักษิณกลับมา “หลังจาก 17 ปี” นี้ ดูเหมือนว่าหุ้นจะต้อนรับ “ตั้งแต่วันแรก” เพราะคนอาจจะคิดถึงอดีตที่หอมหวาน คำถามอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงสร้างของประชากรที่แก่ตัวได้ไหม เช่นเดียวกับปัญหาในการบริหารประเทศในระยะยาว ถ้าทำได้ หุ้นก็อาจจะโตต่อไปได้อีกยาวนาน แต่ถ้าหากว่าทำไม่ได้ หุ้นก็คงขึ้นไปได้อีกไม่นาน และถ้าเป็นอย่างนั้น นี่ก็คือโอกาสที่ควรจะขาย เพราะมันอาจจะเป็น “ก๊อกสุดท้าย” ที่เราจะขายหุ้นได้ในราคาที่ดี

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1143737
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

หุ้น VI รุ่นใหม่ไม่มี Moat
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 14 ก.ย. 2024

ถ้าจะลงทุนในหุ้นที่อาจจะดูเหมือนว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่อาจจะกำลัง “โตเร็ว” และอยู่ในอุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ของไทย ก็พึงระวังว่า หุ้นเหล่านั้นอาจจะไม่มี Moat

หุ้นที่ “Value Investor” เล่นหรือลงทุนนั้น มีหลายแบบและก็มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจและหุ้นในขณะนั้น เพราะ VI โดยเฉพาะของไทยนั้น มีหลายแบบมาก ถ้าจะว่าไป เวลานี้นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและมีพอร์ตขนาดใหญ่แทบทุกคนก็เป็นหรือเรียกตัวเองว่าเป็น “VI” แทบทั้งนั้น และพวกเขาต่างก็ยกคำจำกัดความของคำว่า VI ว่าคือการซื้อหุ้นในราคาที่ถูกหรือต่ำกว่า “มูลค่าที่แท้จริง” และขายเมื่อราคาสูงเกินไปแล้ว

และนั่นก็คือสิ่งที่พวกเขาทำ นั่นก็คือ ประเมิน “มูลค่าที่แท้จริง” ของหุ้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็จะมีมุมมองต่อบริษัทหรือกิจการแตกต่างกันมาก บางคนคาดการณ์หรือเชื่อว่ากำไรของบริษัทจะ “โตแบบก้าวกระโดด” เพราะบริษัทหรือธุรกิจของบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มี “S-Curve” หรือเส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็วใหม่ที่จะทำให้กลายเป็น “Global Brand” หรือเป็น “ยี่ห้อระดับโลก” เป็นต้น

ดังนั้น มูลค่าของบริษัทก็ควรจะต้องสูงมาก ราคาหุ้นที่สูงจนทำให้ค่า PE สูงในระดับ 30-40 เท่าก็ไม่แพง ซื้อไว้แล้วเดี๋ยวราคาจะวิ่งขึ้นไปเองเมื่อกำไรในไตรมาศหน้าเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ในอนาคต

และนั่นก็คือแนวคิดหรือแนวทางของ “VI รุ่นใหม่” หลาย ๆ คนที่คิดว่า โอกาสของการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยยัง “เปิดกว้าง” มีหุ้นที่จะลงทุนแบบ VI ได้อีกมากและยังน่าจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีอย่างที่เคยเป็นมานานใน “ยุคทองของ VI” จากช่วงปี 2552 หรือปีหลังวิกฤติซับไพร์ม ถึงประมาณปี 2562 ที่เป็นช่วงของปีวิกฤติโควิด-19 เป็นเวลาถึง 10 ปี

โดยที่พวกเขาคิดว่า สภาพหรือสถานะทางเศรษฐกิจของไทยที่ถดถอยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่ได้กระทบกับสถานะของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั้งหมด ยังมีบริษัทในหลาย ๆ อุตสาหกรรมที่จะเติบโตอย่างโดดเด่นต่อไปได้อีกมากในระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” บริษัทเหล่านั้นมักจะเป็นบริษัทขนาดเล็กและอยู่ในอุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ของประเทศไทยที่แข่งขันได้ในระดับโลก เช่น การท่องเที่ยว การดูแลรักษาสุขภาพและความงาม และธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและขนมที่ไทยมีความโดดเด่น ไม่แพ้ใครในโลก!

ผมเองมีความเห็นว่า อนาคตของเศรษฐกิจไทยนั้น ก็คงจะอยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพราะนั่นคืออุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถไม่แพ้ประเทศอื่น เพราะมันเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เน้นความสามารถทางด้านเทคโนโลยีที่คนไทยไม่ชำนาญ แต่เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นทางด้านการให้บริการและความสามารถทางด้านของศิลปะที่คนไทยไม่แพ้ชาติอื่นในโลก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ อุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีขนาดใหญ่และเติบโตมานานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติระดับหนึ่งมานานแล้ว การที่ประเทศไทยจะสร้างหรือเพิ่มการเติบโตอุตสาหกรรมเหล่านั้นต่อไปจึงมีความเป็นไปได้สูง

แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมนั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขเด็ดขาดว่าจะทำให้หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมทุกบริษัทดีไปด้วย เหตุเพราะว่า ถ้ามีบริษัทใหม่ที่เข้ามาให้บริการ หรือมีคู่แข่งที่เข้ามาให้บริการเพิ่มมากยิ่งกว่าการเติบโตของความต้องการแล้ว การแข่งขันก็จะรุนแรง ราคาค่าบริการหรือสินค้าอาจจะลดลง หรือมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายจะลดลงจนอาจจะทำให้กำไรของกิจการลดลง ซึ่งนั่นก็จะทำให้บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้น แทนที่จะดีขึ้น กลับแย่ลง ในบางกรณีที่มีผู้ให้บริการมากเกินไปมาก ก็อาจจะทำให้บริษัทจำนวนมากล้มละลายได้

ดังนั้น ธุรกิจที่จะดีหรือมีโอกาสที่จะเป็น ซุปเปอร์สต็อก จึงต้องมีอีกคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องมีความสามารถหรือความโดดเด่นบางอย่างที่จะป้องกันไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่หรือคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเข้ามาแย่งลูกค้าได้ ในภาษาของ “VI” ก็คือ ธุรกิจหรือบริษัทมี “Moat” หรือมีป้อมค่าย-คูเมือง ที่สามารถป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามายึดปราสาทหรือเมืองหรือธุรกิจของตนเองได้

ตัวอย่างของ Moat ที่เข้มแข็งมากที่สุดอย่างหนึ่งก็เช่น โปรแกรมที่ใช้ในการรันคอมพิวเตอร์แทบทุกตัวในโลกของไมโครซอฟท์คือวินโดว์ ซึ่งต่อให้มีคนใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นแค่ไหน ทุกคนก็ต้องมาใช้โปรแกรมนี้ เป็นต้น และนี่ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นไมโครซอฟท์นั้นเพิ่มขึ้นและครองอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านมูลค่ามาตลอดแม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว

แต่ถ้าถามว่าหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่คาดว่าจะโตต่อไปเรื่อย ๆ เร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวมนั้น มีตัวไหนหรือกลุ่มไหนบ้างที่มี Moat คำตอบที่ชัดเจนก็คือ มีตัวเดียว นั่นก็คือ หุ้นสนามบินที่มีผู้ให้บริการหลักเพียง 1 ราย และนั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมหุ้น AOT จึงมีมูลค่ามหาศาลระดับ 1 ล้านล้านบาท และอยู่ในอันดับ 1-3 ของหุ้นใหญ่ที่สุดมานานต่อเนื่อง

ส่วนหุ้นกลุ่มธุรกิจอื่นทางด้านการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมนั้น โอกาสที่จะเติบโต ทำกำไรได้ดีและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ผมกลับคิดว่าอาจจะไม่เกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เลย เหตุผลก็เพราะว่า ธุรกิจโรงแรมนั้น ไม่มี Moat ยิ่งอุตสาหกรรมโตเร็ว ก็ยิ่งกระตุ้นให้คู่แข่งเข้ามาให้บริการโดยการสร้างโรงแรมมากขึ้น ห้องพักมีโอกาสล้นมากขึ้น ราคาห้องลดลง กำไรของบริษัทก็จะหดตัวลง แล้วหุ้นจะไปทางไหน?

โรงแรมก็จะหนีไปลงทุนในต่างประเทศแทน แล้วก็ไปเจอกับคู่แข่งในต่างประเทศที่อาจจะน้อยกว่า ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะ “ฝีมือ” ของผู้บริหาร ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยจะเติบโตเป็นเมืองท่องเที่ยวของโลก

ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศไทยที่คน “แก่ตัวลง” และต้องใช้บริการโรงพยาบาลมากขึ้นนั้น พวกเขาก็อาจจะลืมไปว่า เด็กเกิดใหม่ซึ่งต้องใช้บริการโรงพยาบาลมากเช่นกันนั้น ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ธุรกิจโรงพยาบาลโดยรวมจึงอาจจะไม่ได้เติบโตอะไรนัก

โรงพยาบาลที่อาจจะโตได้มากกว่าก็คือโรงพยาบาลที่มีคุณภาพสูงสามารถรักษาโรคซับซ้อนได้ดีที่สามารถดึงดูดให้คนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลของตน และต่างชาติก็จะมา เนื่องจากโรงพยาบาลชั้นนำของไทยนั้น มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับระดับโลกแต่มีราคาค่าบริการต่ำกว่าคู่แข่งในย่านนี้ และเมื่อลูกค้ามาใช้บริการแล้ว ก็มักจะไม่หนีไปไหน เนื่องจากคนไข้ต้องรักษากับหมออย่างต่อเนื่อง ในภาษาของ VI ก็คือ ธุรกิจโรงพยาบาลมี “Exit Cost” ซึ่งคล้าย ๆ กับ Moat ที่กันไม่ให้ลูกค้าหนีไปหาคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลที่มีคุณสมบัติแบบนั้นในไทยก็มีไม่กี่โรง

ในช่วงหลัง ๆ เราเริ่มเห็นโรงพยาบาลที่ให้บริการด้านความงาม โรงพยาบาลเฉพาะทางอย่างเช่นโรงพยาบาลฟัน หรือโรงพยาบาลช่วยให้ตั้งครรภ์ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โรงพยาบาลเหล่านี้ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไปนั่นก็คือ ไม่มี Moat พอมีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น อานิสงส์จากการที่คนรุ่นใหม่ต้องการ “ความงาม” มากขึ้น ซึ่งก็อาจจะมีสาเหตุต่อเนื่องมาจากการที่ต้องออกสื่อสังคมมากขึ้น 

แต่ประเด็นก็คือ คู่แข่งหรือ Supply ที่เป็นคลินิคหรือโรงพยาบาลแบบเดียวกันก็เพิ่มขึ้นได้แบบไม่จำกัด เมื่อใดก็ตามที่จำนวนผู้ให้บริการเพิ่มเกินกว่าผู้ต้องการใช้บริการ ธุรกิจก็จะตกต่ำลง ดังนั้น บริษัทที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันจึงไม่น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีสุดยอดได้ ว่าที่จริง คลินิกเสริมความงามธรรมดานั้นล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว ในอนาคตผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดสถานการณ์แบบนั้นอีกไหมกับธุรกิจโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่น ๆ 

ธุรกิจกลุ่มสุดท้ายที่เป็นความหวังของ VI รุ่นใหม่ก็คือ หุ้นที่ขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวันให้แก่บุคคลทั่วไปที่ “ไม่ใช่สินค้าจำเป็น” เช่น ขนมขบเคี้ยว น้ำชา น้ำหวาน อาหารภัตตาคาร เครื่องสำอาง ทั้งหมดนั้น ถ้าจะดูเฉพาะในประเทศไทยก็เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัวเพราะจำนวนคนไทยโดยโดยเฉพาะที่อายุน้อยที่เป็นลูกค้าหลัก มีจำนวนลดลง

หุ้นที่ VI ชอบ มักจะเป็นบริษัทที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการส่งออก หรือขายให้นักท่องเที่ยว หรือไม่ก็เพิ่มขึ้นเพราะบริษัท “มีความสามารถทางการตลาดเหนือกว่าคู่แข่ง” สตอรี่ก็มักจะบอกว่ายอดขายและกำไรจะโตต่อเนื่องยาวนาน แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไปก็จะพบว่า บริษัทไม่มี Moat ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด

ประเด็นของผมก็คือ สินค้าเกี่ยวกับผู้บริโภคของไทยที่ส่งออกไปขายให้คนต่างชาตินั้น มักจะประสบปัญหาที่สำคัญก็คือเรื่องของ “ภาพพจน์” ที่ว่า คนบริโภคนั้น มักจะ “มองขึ้น” คืออยากใช้สินค้าของประเทศที่พัฒนามากกว่าตนเอง ดังนั้น ถ้าตลาดของสินค้าอยู่ที่ประเทศที่พัฒนากว่าไทย เขาอาจจะซื้อน้อยลง ลองนึกถึงว่าคนไทยชอบสินค้าของประเทศไหนก็จะพบว่าเป็นสินค้าของประเทศที่พัฒนาสูงกว่าเราเป็นส่วนใหญ่ เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มากกว่ามาจากประเทศอย่างเวียตนาม เช่นเดียวกัน สินค้าของจีนในสมัยที่เขายังพัฒนาต่ำกว่าเรา เราก็ไม่ชอบใช้ แต่เวลานี้เราก็เริ่มใช้แล้วเพราะเขาพัฒนามากกว่าเราแล้ว

ดังนั้น ถ้าบริษัทไหนบอกว่าเขาจะขายของไปที่ตลาดไหนมากขึ้นมาก ๆ ก็ต้องระวังว่าจะทำได้แค่ไหน ถ้าประเทศนั้นพัฒนาไปมากกว่าเรา ซึ่งเวลานี้ก็รวมถึงตลาดจีนด้วย

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ ถ้าจะลงทุนในหุ้นที่อาจจะดูเหมือนว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ที่อาจจะกำลัง “โตเร็ว” และอยู่ในอุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” ของไทย ก็พึงระวังว่า หุ้นเหล่านั้นอาจจะไม่มี Moat และจะมีความเสี่ยงว่า อยู่ ๆ ผลประกอบการก็ “เดี้ยง” ไปซะงั้น

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1144757 

 
 
Last edited by thanonlongtun_p on Thu Sep 26, 2024 11:08 am, edited 1 time in total.
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

พอร์ตนี้ดีมี 'ปันผล-คุ้มครองเงินต้น'

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 22 ก.ย. 2024

อัตราผลตอบแทนที่หุ้นไทยเคยทำได้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นของพอร์ตก็จะกลายเป็น 2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว และนี่ก็จะกลายเป็น “โบนัส” ที่เราจะได้จากการลงทุนในพอร์ตหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำมากที่จะขาดทุนถ้าถือถึง 10 ปี

การเปิดจองกองทุนรวมวายุภักษ์สำหรับประชาชนทั่วไปจบลงแล้ว คนที่ไม่ได้จอง แต่สนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีแต่มีความเสี่ยงต่ำ ประมาณว่าได้ปันผลปีละไม่ต่ำกว่า 3% จากเงินลงทุนเริ่มต้นที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อไปเรื่อย ๆ ทุกปีเป็นเวลา 10 ปี และในสิ้นปีที่ 10 เงินต้นก็ยังอยู่ครบคล้าย ๆ กับกองทุนวายุภักษ์

แต่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่เป็น “โบนัส” พิเศษเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาท ถ้าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ตามปกติ และตลาดหุ้นไม่ได้เลวร้ายในระดับเดียวกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนเลย ผมคิดว่ามีวิธีที่เราจะทำได้โดยการออกแบบพอร์ตโฟลิโอที่เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งและมีราคาถูกจำนวนประมาณ 10 ตัว ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

ข้อแรก ลงทุนในหุ้นที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรม ถ้าอยู่ในอันดับ 1 หรือไม่เกินอันดับ 3 ก็จะดี เหตุผลก็เพราะบริษัทที่เป็นผู้นำมักจะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน และในกรณีที่เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมประสบกับปัญหาใหญ่ พวกเขาก็มักจะอยู่รอดได้ และมักจะฟื้นตัวกลับมาได้ดีเมื่อเหตุการณ์เลวร้ายผ่านไปแล้ว ถ้าเราลงทุนระยะยาว เราก็จะปลอดภัย

ข้อสอง ผู้บริหารจะต้องซื่อสัตย์ไว้ใจได้ ข้อนี้อาจจะดูยาก เพราะบ่อยครั้งผู้บริหารบางคนนั้นดูจากภายนอกก็ดูไว้ใจได้ แต่สุดท้ายก็อาจจะ “ดีแตก” ทำเรื่องทุจริต หลอกลวงจนบริษัทพังก็มี ทางหนึ่งที่พอจะทำให้ไว้ใจได้บ้างก็คือการที่บริษัทและผู้บริหารทำงานมานานหลาย ๆ ปีแล้วโดยไม่มีเรื่องราวฉาวโฉ่ หรือเรื่องราวที่ทำให้เรา “เลิกคิ้ว” ว่าอาจจะมีความไม่ชอบมาพากล นอกจากนั้นแล้วก็คือ การที่ผู้บริหารไม่ได้ “โม้” มากเกินไป หรือทำอะไรลวดลายซับซ้อนมากจนเราไม่ค่อยจะเข้าใจ

ข้อสาม บริษัทมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการ ดูจากรายได้และกำไรที่ไม่ปรับตัวขึ้นลงหวือหวาย้อนหลังไปอย่างน้อย 5 ปี เช่น กำไร 5 ปีที่ผ่านมานั้น อาจจะอยู่ที่ปีละ 1,000 ล้านบาท บวกลบประมาณไม่เกิน 20% และไม่เคยขาดทุนเลย

ยกเว้นในกรณีพิเศษที่อาจจะเกิดเหตุการผิดปกติที่อธิบายได้ว่าคงจะไม่เกิดขึ้นอีกในระยะ 3-4 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย และทั้งหมดนั้นก็ต้องเป็น “กำไรที่เกิดจากการดำเนินงาน” ไม่ใช่กำไรพิเศษที่เกิดจากการขายทรัพย์สินหรือกำไรที่เกิดจากการเทคโอเวอร์ธุรกิจหรือซื้อขายหุ้นที่ในระยะหลัง ๆ หลายบริษัทก็ “เล่นท่านี้” อย่างต่อเนื่อง

ข้อสี่ บริษัทจะต้องจ่ายปันผลดี ปีละอย่างต่ำ 2% ขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่จ่ายเกิน 3% ต่อปี บางบริษัทก็จ่ายปีละ 5-6% โดยที่พอร์ตหุ้นที่มี 10 ตัวนั้นจะจ่ายปันผลเฉลี่ยอย่างต่ำ 3-4% ต่อปี และปันผลที่จ่ายนั้น แต่ละบริษัทก็จ่ายต่อเนื่องสม่ำเสมอมาตลอดในอัตราที่ไม่ลดลงมาหลายปีแล้ว

ข้อห้า หุ้นแต่ละตัวจะต้องไม่ใช่หุ้นที่ผลิตและ/หรือขายสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ “ผลิตภัณฑ์เดียว” ที่มีราคาผันผวนมากและมักจะขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก ตัวอย่างเช่น น้ำมัน ค่าระวางเรือ การบิน หรือปิโตรเคมีกลุ่มเดียว ซึ่งทั้งหมดนั้นจะทำให้หุ้นมีความเสี่ยงสูงจากผลประกอบการในช่วงปีที่เลวร้าย

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์หลาย ๆ อย่างที่แตกต่างกันก็จะเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากวัฏจักรของแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมักจะไม่ตรงกัน ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการมีการกระจายความเสี่ยงหักกลบลบกันจนทำให้ความผันผวนของกำไรลดลงไปมาก ทำให้บริษัทมีกำไรต่อเนื่องและมีความสม่ำเสมอในระดับที่ยอมรับได้

ข้อหก หุ้น 10 ตัวที่เลือกมาลงทุนนั้น ควรจะต้องกระจายไปในอุตสาหกรรมหลากหลายไม่ซ้ำกัน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่หาหุ้นที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมดไม่ได้ ก็อาจจะยอมให้มีหุ้นได้ 2 ตัวในอุตสาหกรรมเดียวกัน และในกรณีอุตสาหกรรมการค้าปลีกสมัยใหม่นั้น จะถือว่าสินค้าที่ขายต่างกันถือเป็นคนละอุตสาหกรรม

ข้อเจ็ด สุดท้ายในเรื่องของตัวธุรกิจก็คือ จะต้องไม่เป็นสินค้าหรือบริการที่กำลังถูกทำลายหรือถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลายอย่างที่สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับธุรกิจของตนเองได้และก็อาจจะทำอยู่แล้ว เช่น การค้าปลีกสินค้าที่จับต้องได้ที่มีช่องทางขายแบบอีคอมเมิร์ชด้วยก็ไม่เข้าข่ายนี้

ข้อแปดที่สำคัญที่สุดก็คือ หุ้นที่เลือกจะต้องไม่แพง หรือถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกก็คือ เป็นหุ้นที่ถูกมากที่วัดโดยหลายมิตินั่นก็คือ ค่า PE หรือ ราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นปกติของบริษัท ไม่ควรจะเกิน 20 เท่าในหุ้นที่ยังโตได้ในระดับประมาณ 10% ต่อปี และไม่เกิน 10 เท่าในหุ้นที่ทำธุรกิจที่ “อิ่มตัว” แล้ว

ค่าความถูกแพงตัวที่สองที่สำคัญก็คือ ค่า Dividend Yield หรือเงินปันผลต่อราคาหุ้น ไม่ควรต่ำกว่า 2% ในกรณีที่หุ้นยังอยู่ในธุรกิจที่เติบโตระดับ 10% ต่อปี ในขณะที่หุ้นอิ่มตัวนั้นควรจะจ่ายปันผลอย่างน้อย 4% ต่อปีขึ้นไปเมื่อเทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อ

ค่าความถูกแพงตัวต่อมาคือค่า PB หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีของบริษัท โดยทั่วไปก็ไม่ควรเกิน 1 เท่า แต่ในบางกรณีที่บริษัทยังโตได้ หรือเป็นบริษัทในธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินถาวรในการทำธุรกิจมากนัก ค่านี้ก็อาจจะสูงขึ้นได้ บางทีอาจจะถึง 4-5 เท่าขึ้นไป

พอร์ตหุ้น 10 ตัวดังกล่าว ที่ถือเท่า ๆ กันนั้น เราจะต้องคอยตรวจสอบดูประมาณปีละครั้ง ว่ามีตัวไหนสมควรที่จะต้องเปลี่ยนไปเนื่องจากตกคุณสมบัติที่กำหนดหรือไม่ ผมเองคิดว่าโดยปกติ แต่ละปีไม่น่าจะต้องเปลี่ยนเกิน 2 ตัว สิ่งที่สำคัญก็คือ บ่อยครั้งคุณสมบัติบางข้อจะตกหรือไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วพบว่าเป็น “ปัญหาชั่วคราว” เราก็อาจจะคงถือหุ้นตัวนั้นไว้ต่อไปได้

ด้วยวิธีการแบบนี้ ผมคิดว่าทุกปี ปันผลที่ได้รับจะไม่น้อยกว่า 3% ของเงินที่ลงเริ่มต้น เช่นที่ 1 ล้านบาท เราก็จะได้รับปันผลปีแรกไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท เช่นเดียวกัน ในปีต่อ ๆ ไป เราก็น่าจะได้รับปันผลเท่าเดิมได้ หรือถ้าหุ้นมีการเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจจะโตขึ้น 3% บวกกับเงินเฟ้ออีก 1% ปันผลก็อาจจะเพิ่มเป็น 31,200 หรือ 3.12% ในปีที่สอง และถ้าบริษัท 10 ตัวที่เลือกมายังโตเท่าเดิมที่ 4% ต่อปีไปเรื่อย ๆ ในปีที่ 10 ปันผลก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 42,699 บาท หรือประมาณ 4.27% ของเงินต้นที่เราลงไป 1 ล้านบาท

ในส่วนของราคาหุ้นนั้น หุ้น 10 ตัว ถ้าไม่โตเลยในช่วงเวลา 10 ปี เราก็คงได้รับเงินต้นคืนเท่าเดิมที่ 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจเรายังโตได้ช้า ๆ ที่ 3% ต่อปี พร้อมอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณปีละ 1% เป็น 4% และราคาหุ้นในพอร์ตก็ปรับตัวขึ้นไปตามกัน พอร์ตหุ้นเมื่อสิ้นปีที่10 ก็จะเท่ากับ 1.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50% และนี่ก็น่าจะเป็นได้สูงเมื่อเทียบกับการที่หุ้นจะไม่ปรับตัวขึ้นเลยในช่วงเวลา 10 ปี

ถ้าโชคดี แทนที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นไปปีละ 4% กลายเป็นว่าหุ้นปรับตัวขึ้นไปเกินกว่าการเติบโตของ GDP คือขึ้นไปแบบทบต้นที่ประมาณ 7.2% ซึ่งก็เป็นอัตราผลตอบแทนที่หุ้นไทยเคยทำได้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นของพอร์ตก็จะกลายเป็น 2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว และนี่ก็จะกลายเป็น “โบนัส” ที่เราจะได้จากการลงทุนในพอร์ตหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำมากที่จะขาดทุนถ้าถือถึง 10 ปี

ทั้งหมดนั้น ก็ไม่มีการรับประกันว่าจะได้แน่นอน เพราะการลงทุนนั้น โดยธรรมชาติมีความเสี่ยงเสมอ แต่ในความเห็นของผม โอกาสที่เราจะได้ผลตามที่ผมคาดไว้นั้นน่าจะสูง โอกาสผิดพลาดและได้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำนั้น น่าจะน้อยมาก และโอกาสที่เราจะโชคดีได้รับโบนัสจากการลงทุนก็น่าจะมีไม่น้อย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1145897 


 
 
Post Reply