10 กรกฎาคม 2023
---------
Howard Marks ผู้จัดการกองทุน Oaktree Capital Management พูดถึงรายงาน 5 ฉบับที่เขาเคยเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ 5 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
---------
มกราคม ปี 2000
ฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 ท่ามกลางการเติบโตหุ้นเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม อย่างมหาศาล คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ฟองสบู่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จากบันทึก bubble.com ในปี 2000 อธิบายไว้ว่า นักลงทุนซื้อหุ้นเทคฯที่มีอายุน้อย ทั้ง ๆ ที่หลายบริษัทไม่มีกำไร ราคาขึ้นไปตามความคาดหวังของนักลงทุนในหุ้น เทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม
ระยะสั้น ตลาดมีการเก็งกำไรอย่างร้อนแรง ฟองสบู่แตกในต้นปี 2000 ไม่มีเหตุผลอื่นนอกใด นอกจากราคาหุ้นที่สูงเกินไป
ดัชนี Standard & Poor’s 500 ร่วงลง 46% จากระดับสูงสุดในปี 2000 สู่ระดับต่ำสุดในปี 2002 ขณะที่ NASDAQ Composite ร่วงลง 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน หลายบริษัทขาดทุนนัก และถึงขั้นสูญเสียมูลค่า (Worthless) คำว่า “ฟองสบู่” กลายเป็นส่วนหนึ่งของคำพูดในชีวิตประจำวันของนักลงทุน
---------
ปลายปี 2004 - กลางปี 2007
ผลที่ตามมาของฟองสบู่ครั้งนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายผ่อนคลาย โดยปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับต่ำเพื่อต่อสู้กับผลกระทบของฟองสบู่ที่เกิดขึ้น ดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินทำให้นักลงทุนมุ่งหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น นั่นคือการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก
นักลงทุนหันไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยเชื่อว่าราคาบ้านจะมีแต่สูงขึ้น ดูเหมือนว่านักลงทุนเพิกเฉยต่อบทเรียนที่เคยเกิดขึ้น และลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และเชื่อคำบอกว่า คราวนี้แตกต่างออกไป และ ความเสี่ยงสูงหมายถึงผลตอบแทนที่สูง หรือ ถ้ามันไม่เวิร์ค ก็แค่ถอยออกไป มีข้อผิดพลาดเชิงตรรกะเกิดขึ้นมากมายในเวลานั้น
กรกฎาคมปี 2007 ผมเผยแพร่บันทึกชื่อ It’s All Good โดยพูดถึงว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ตรงไหนของวัฎจักร คนเต็มใจลงทุนในที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัยนั้นต่ำเกินไป
8 เดือนหลังจากบทความเผยแพร่ออกไป สองกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของธนาคาร Bear Stearns ซึ่งลงทุนใน MBS ได้พังลง และตามมาด้วย การล้มละลายของ Lehmans Brothers ในเวลาต่อมา ดัชนี S&P500 ตกลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 735 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 ร่วงลง 53% จากระดับสูงสุดที่ 1549 จุดในปี 2007
---------
ปลายปี 2008
เหตุการณ์ดูเหมือนจะเงียบสงบในต้นเดือนกันยายนปี 2008 แต่แล้ว Lehman Brothers ได้ยื่นฟ้องล้มละลายในกลางเดือน ตลาดล่มสลายในทันที และที่แย่ไปกว่านั้น Bear Stearns ยุติการเป็นองค์กรอิสร ะซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินทั่วโลกในที่สุด
ย้อนไปในบันทึกที่ผมเขียน ณ เวลานั้น:
เราควรมองโลกในแง่ร้าย ขณะที่ทุกคนมองในแง่ดีมากเกินไป ขณะเดียวกัน เราก็ควรมองโลกในแง่ดี เมื่อทุกคนมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป
ระยะที่สามของตลาดหมี แม้ตลาดจะลงมามากแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลงอีกไม่ได้ หรืออีกมุม ตลาดกระทิงอาจกำลังมา และความเสี่ยงระยะยาวอาจอยู่ที่การไม่ลงทุน
ความผิดพลาดและโง่เขลาในช่วงขาขึ้นของวัฎจักรปี 2003-2007 เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมเคยเห็น ความตื่นตระหนกเกิดขึ้น ในอีกมุม แน่นอนว่า เป็นเวลาที่ดีที่จะเลือกเศษหินหรือก้อนอิฐ
เพราะหลังเหตุการณ์ Lehman ตลาดเต็มไปด้วยความกลัวและมองโลกในแง่ร้าย ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งความคาดหวังของนักลงทุนที่หายไป ราคาสินทรัพย์ที่ไม่ได้แพงเกินไป โอาสน้อยที่จะผิดหวังอย่างหนัก และมีโอกาสที่ดีที่ราคาจะขยับขึ้นไปอีกครั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ นี่เป็นตัวอย่างของโอกาสที่ดีในการเข้าไปลงทุน
---------
มีนาคม ปี 2012
หลังจากฟองสบู่หุ้นเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม แตกในกลางปี 2000 ดัชนี S&P500 ร่วงลงในปี 2000-2002 นักลงทุนจำนวนมากสูญเสียความมั่นใจการลงทุนในตลาดหุ้น สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกระทบจิตวิทยานักลงทุน ส่งผลทำให้ดัชนีS&P500 อยู่ในระดับคงที่ไม่ไปไหนตั้งแต่ปี 2000-2011 ตลอดระยะเวลา 12 ปี ตลาดให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 0.55% ต่อปีเท่านั้น
ผมเขียนบันทึกเหตุการณ์นี้ในปี 2012 ซึ่งมันทำให้นึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและบทความที่ชื่อว่า “The Death of Equities” ในปี 1979 หลังจากที่เงินเฟ้อโหมกระหน่ำ ข่าวร้ายเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นที่ย่ำแย่ นำไปสู่ตลาดหุ้นที่ไม่มีใครสนใจ เข้าสู่วงจรอุบาทว์ที่เหมือนจะผ่านไปได้ แต่ก็ผ่านไปไม่ได้สักที และสภาวะแบบนี้จะคงอยู่เป็นเวลาหลายปี
อย่างไรก็ตาม ผมได้เคยเขียนไว้ในบทความ “Deja Vu All Over Again” ว่า :
อาจเป็นปัจจัยลบที่ชัดเจนสำหรับนักลงทุนทั่วไป แต่ผู้ที่ใช้ตรระกะและความหยั่งรู้ แทนที่จะมองเพียงผิวเผินและใช้อารมณ์ จะเห็นบางสิ่งที่แตกต่างออกไป
บทความ “The Death of Equities” อาจจะเป็นบทความที่เลวร้ายที่สุดในตลาดหุ้นช่วงเวลานั้น แต่ก็นำไปสู่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่ง
เพราะ 21 ปีนับจากปี 1979 (ปีที่บทความออกมา) จนถึง 1999 (ก่อนที่ฟองสบู่ดอทคอมจะแตก) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของ S&P500 อยู่ที่ 17.9% เพียงพอที่จะเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ในปี1979 เป็น 32 ดอลลาร์ในปี 1999!
และปี 2012 เหตุการณ์เดจาวูอีกครั้ง เพราะจนถึงปี 2021 S&P500 ให้ผลตอบแทน 16.5% ต่อปี เป็นอีกครั้งที่การมองแง่ลบมากเกินไป ได้ส่งผลดีอย่างมาก
---------
มีนาคม ปี 2020
เหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เรายังพอจำได้ เป็นช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม S&P500 ลดลงประมาณ 1 ใน 3
บันทึกบทความชื่อ Nobody Knows 2 (มีนาคม 2020) ได้เขียนถึงไวรัสที่กำลังแร่ระบาด โดยสรุปใจความได้ว่า เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น ณ เวลานั้น สามารถสรุปมุมมองสั้น ๆ ได้ว่า :
จุดต่ำสุด คือวันก่อนที่จะมีการฟื้นตัว และเป็นไปไม้ได้เลยที่จะรู้ว่าจุดต่ำสุดเกิดขึ้นแล้ว และ การลดลงของราคา อาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการลงทุน
เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า แต่สิ่งที่เรารู้แล้วแน่นอนคือ มีการระบาดใหญ่เกิดขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯตกลงมาหนึ่งในสาม นั่นคือสาระสำคัญ
ยิ่งมีการขายออกไปเท่าไหร่ ยิ่งมีเหลือให้ขายน้อยลง และยิ่งมีเงินสดเหลือมากขึ้นสำหรับการเข้าซื้อเมื่อพวกเขามองโลกในแง่ร้ายน้อยลง
แม้เราจะไม่ได้ที่มีความสุขท่ามกลางเหตุการณ์โกลาหลนี้ แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว ทำให้เราเข้าถึงราคาที่ดีที่สุด และนั่นก็เพียงพอแล้ว
---------
หวังว่าเราจะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต และเมื่อเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ให้ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ และบทเรียนที่เราเคยเรียนรู้คืออะไร เมื่อตลาดอยู่ในจุดสูงสุดหรือต่ำสุด
สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจในสภาวะปัจจุบัน และทำสิ่งที่เรียกว่า ‘วัดอุณหภูมิของตลาด’ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- ศึกษารูปแบบเหตุการณ์ในอดีต
- ทำความเข้าใจวัฏจักร อะไรที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป สุดท้ายจะกลับมาที่เดิม
- เฝ้าดูช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดีเกินไป และ มองโลกในแง่ร้ายเกินไป
- ในช่วงเวลาสุดโต่ง เคล็ดลับในการทำเงินที่อยู่การกระทำที่สวนทาง ไม่ใช่คล้อยตาม
- จำไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและตลาดส่วนใหญ่ มาจากอารมณ์ของนักลงทุน
- ยืนให้ห่างจากฝูงชน
- ระวังข้อเสนอที่ไร้เหตุผล เช่น ดูแย่เกินจริง หรือดูดีเกินจริง
จากข้อสรุปข้างต้นนำไปสู่หลักการการลงทุนของ Oaktree ที่ว่า เราไม่ตัดสินใจลงทุนบนการคาดการณ์ในระดับมหภาค และ เราไม่ใช่ผู้จับจังหวะตลาด
ทำไมเราถึงหลีกเลี่ยงการคาดการณ์ปัจจัยมหภาค ?
เพราะ เราถือว่าสภาพแวดล้อมระดับมหภาคในอนาคตไม่แตกต่างจากอดีต และ เราจะเผื่อความเป็นไปได้ที่ว่าสิ่งต่าง ๆ จะเลวร้ายกว่าปกติ และทำให้มั่นใจว่างการลงทุนของเรามี “margin of safety”
และสุดท้าย สิ่งที่เราไม่เคยทำคือการคาดว่าสภาพแวดล้อมของมหาภาคจะดีกว่าปกติ การลงทุนที่พึ่งพาว่าปัจจัยมหภาคจะเอื้ออำนวย ทำให้นักลงทุนเกิดความผิดหวังและนำไปสู่การขาดทุนได้ เราไม่ชอบพึ่งพาสมมติฐานที่แง่ดีเกินไป
แล้วทำไมเราจึงไม่จับจังหวะตลาด ?
นักลงทุนควรลงทุนในจุดสมดุลปกติ คือการอยู่ตรงกลางระหว่าง aggressiveness และ defensiveness การไม่จับจังหวะตลาดของเราหมายถึงว่า
เราจะไม่ขายโดยคาดการณ์ว่าอนาคตจะแย่ แต่เราจะขายก็ต่อเมื่อถึงราคาเป้าหมายแล้ว หรือ สภาพการลงทุนแย่ลงแล้ว หรือ เราเจอสิ่งที่ดีกว่า
และเราจะไม่พูดว่าวันนี้ราคาถูก แต่อีก 6 เดือนมันถูกกว่านี้อีก แล้วเราจะรอ เราไม่ทำแบบนั้น ถ้าราคาถูกแล้ว เราจะซื้อ และถ้าราคาถูกลงมาอีก เราก็แค่ซื้อเพิ่ม เพราะไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าของบางอย่างจะมีราคาถูกลงในไม่กี่วันข้างหน้าจริงหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องการทำนายจิตวิทยาของนักลงทุนเท่านั้น
—------
ที่มา: https://www.oaktreecapital.com/docs/def ... 93bb5366_6