Page 6 of 6

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Oct 07, 2024 9:09 pm
by thanonlongtun_p
ค้นคว้าหาหุ้นโลก By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 30 ก.ย. 2024

ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสียดายที่ไม่ได้คิดหรือทำเรื่องการลงทุนในหุ้นโลกเร็วกว่านี้ เงินสดประมาณ 5-6% ที่ถือมานานและควรจะเริ่มเข้าไปลงทุนในหุ้นจีนและหุ้นที่ถูกกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีน

ตั้งแต่ต้นปี 2567 ผมได้วาง “Playbook” ของการลงทุนของผมไว้ว่า ผมจะปรับพอร์ตการลงทุนระยะยาวของผมให้ประกอบไปด้วยหุ้นเวียดนามประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งจะเป็น “กองหน้า” ที่จะใช้ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่มีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพราะผมจะเลือกหุ้นเอง ซึ่งจะเป็นหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ซึ่งก็คือหุ้นที่จะเติบโตระยะยาวและมีความสามารถในการแข่งขันสูงและยั่งยืน และผมก็เริ่มทำตั้งแต่ต้นปี มีการขายหุ้นตัวเล็ก ๆ ราคาถูกที่ผมถือมายาวนานไปทั้งหมดนับร้อยตัว และใช้เงินที่ได้ซื้อหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ขนาดใหญ่ไม่เกิน 10 ตัว ซึ่งประมาณ 5 ตัวใหญ่ที่สุดคิดเป็นกว่า 75% ของพอร์ตไปแล้ว

หุ้นกลุ่มที่สองอีกประมาณ 1 ใน 3 จะเป็นหุ้นกลุ่มใหม่ที่ผมไม่เคยมีเลยและเป็นหุ้นที่ผมเรียกว่า “หุ้นโลก” เพราะเป็นหุ้นของบริษัทที่มักจะ “ขายสินค้าไปทั่วโลก” คนทั่วไปมักจะรู้จักและคุ้นเคยกับสินค้า รวมถึงผมเองที่ต้องใช้ บางทีเกือบทุกวัน เช่น ดูหนังของ Netflix ใช้โปรแกรมสารพัดในคอมพิวเตอร์ หรือเห็นคนใช้เครื่องแต่งกายจากแบรนด์หรูระดับโลก เป็นต้น

ผมวางแผนว่าภายในปี 2567 ผมน่าจะสามารถลงทุนเม็ดเงินจนครบในหุ้นโลกได้ โดยกลยุทธ์ที่ใช้นั้น ผมจะซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมหรือ ETF ประมาณไม่เกิน 10 ตัว ซึ่งตัวใหญ่ที่สุด 5-6 ตัว ควรจะมีขนาดรวมกันมากกว่า 75% ของพอร์ตนี้เช่นเดียวกับพอร์ตหุ้นเวียดนามและพอร์ตหุ้นไทย เพราะผมคิดว่าพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงในระดับนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติได้โดยที่จะมีความเสี่ยงที่พอรับได้

การเลือกหุ้นลงทุนแต่ละตัวหรือกองทุนที่เป็น ETF แต่ละกองนั้น ผมจะทำผ่านการซื้อ DR หรือ DRx หรือกองทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทย เพราะนั่นจะทำให้ผมไม่ต้องเสียภาษี Capital Gain เมื่อขายหุ้นแล้วได้กำไรได้ แต่นั่นทำให้ผมมีหุ้นหรือหลักทรัพย์ให้เลือกจำกัด เฉพาะหุ้นตัวใหญ่ ๆ และมีชื่อเสียงระดับโลกที่บริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินในตลาดหุ้นไทยนำมาออกเป็น DR หรือ DRx หรือทำเป็นกองทุนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม ผมดูแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะจำนวน DR และ DRx ที่มีอยู่ดูเหมือนจะมีมากพอและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศแม้ว่าจะไม่นำกลับมายังประเทศไทยอย่างที่เคยเป็น ซึ่งน่าจะทำให้คนที่คิดจะไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งหมดต้องมาลงทุนผ่าน DR ในอนาคต

ตั้งแต่ต้นปี ผมจึงต้องเริ่มวิเคราะห์ว่าหุ้นหรือ ETF ต่างประเทศตัวไหนน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน และก็พบว่าน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งส่วนใหญ่ก็คือหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปตะวันตก และกลุ่มหุ้นของจีน นอกจากนั้นก็อาจจะมีหุ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่โดดเด่น เช่น หุ้นอินเดียและหุ้นเวียตนามที่มีการทำ DR ในตลาดหุ้นไทยด้วย

ในความเห็นของผม หุ้นอเมริกานั้นมีคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และก็ยังเติบโตได้แม้ว่าจะไม่สูงมากนักอานิสงค์จากการที่เศรษฐกิจอเมริกาและโลกกำลังชะลอตัวลงจากช่วงที่เติบโตเร็วในหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของหุ้นเหล่านั้นก็สูงขึ้นมาก อยู่ในระดับ “All Time High” แม้ว่าจะมีการปรับตัวลงมาบ้างในช่วงเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก็ทำให้ผมรู้สึกว่าการเข้าไปลงทุนมีความเสี่ยงไม่น้อย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สำหรับ “VI พันธุ์แท้” อย่างผม ที่ลงทุนระยะยาว ผมเกลียดที่จะซื้อหุ้นที่ “กำลังร้อนแรง” ใน “ตลาดกระทิง” 


ผมกลัวว่า ถ้าซื้อเข้าไปแล้ว ตลาดปรับตัวลงแรง ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไร และหุ้นร้อนแรงตกลงมาหนักมาก อาจจะ “หลายสิบเปอร์เซ็นต์” การลงทุนนั้นก็จะ “เจ็บปวดมาก” เพราะเข้าไป “ผิดเวลา” ต้นทุนของความผิดพลาดก็คือ อาจจะต้องรอไปหลายปีกว่าหุ้นจะกลับมาที่เดิม หุ้นจีนนั้นแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง เป็นช่วงเวลาที่หุ้นตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน อานิสงส์จากเศรษฐกิจที่มีปัญหาและตกต่ำมานาน ประกอบกับการที่รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายที่ลดความเป็นทุนนิยมลงและหันกลับไปเป็นสังคมนิยมมากขึ้น นอกจากนั้น สงครามการค้ากับอเมริกาและประเทศโลกเสรีที่พัฒนาแล้ว ได้ทำให้มีการถอนทุนจากประเทศจีนและตลาดหุ้นจีน ส่งผลให้หุ้นจีนตกลงมาต่อเนื่อง ราคาหุ้นชั้นดีรวมถึงหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีราคาถูก “เป็นประวัติการณ์” และนั่นคือสิ่งที่ “VI พันธุ์แท้” อย่างผมสนใจและคิดอยากจะเป็นจุดเริ่มของการลงทุนในกลุ่ม “หุ้นโลก”

ประเด็นต่อมาคือเรื่องของ “Timing” หรือเวลาที่จะเข้าลงทุน ซึ่งก็มีสองเรื่องที่หน่วงผมไว้ทำให้ไม่ได้เริ่มจนถึงวันนี้ก็คือ เรื่องแรก เม็ดเงินที่จะใช้ ยังมีไม่พอเพราะผมขายหุ้นไทยไปน้อยมาก ผมรอ “ก๊อกสุดท้าย” คือวันที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปสูงพอที่ผมจะขายหุ้นจำนวนมากได้ และถึงแม้ว่าดัชนีและราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นมาบ้างนับจากต้นปี ผมก็ยังคิดว่าผมอยากได้ราคามากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีเงินพอที่จะ “เริ่ม” ลงทุนในหุ้นโลกได้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำเพราะ

เรื่องที่สองก็คือ ถึงวันนี้ อีกประมาณ 40 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าไหน ๆ ก็รอมาตั้งนานแล้ว ผมก็อยากจะรอต่อไปอีกซักเล็กน้อยเพื่อที่จะดูว่าความเสี่ยงของตลาดหุ้นหลังจากวันนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป มีโอกาสเหมือนกันว่าถ้าคนที่เป็นประธานาธิบดีเป็นคนหนึ่ง โลกอาจจะวุ่นวายมากขึ้นได้จากสงครามการค้าและอื่น ๆ ซึ่งจะกระทบต่อตลาดหุ้นโลก-และตลาดหุ้นจีน

ในระหว่างที่รอนั้น แค่เพียงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน ทางการจีนก็ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมถึงการผ่อนคลายทางการเงินหลาย ๆ มาตรการรวมถึงการลดดอกเบี้ยเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทั้งในทรัพย์สินที่จับต้องได้และในตลาดหุ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่หงอยเหงามานานก็วิ่งขึ้นแบบ “ระเบิด” ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ดัชนีหลัก ๆ ของทุกตลาดในจีนและฮ่องกงปรับตัวขึ้นไปกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

ความรู้สึกของผมก็คือ ผมคง “ตกรถ” หรืออาจจะไม่ได้ซื้อหุ้นจีนเพื่อลงทุนรอบนี้ถ้าหุ้นที่ขึ้นไปแล้วไม่ถอยลงมา แม้ว่าหลายคนรวมถึงตัวผมเองก็มีความคิดว่า ราคาหุ้นจีนตอนนี้ก็ “ยังไม่แพง” ถ้ามองจากค่า PE ที่ยังไม่สูงอยู่ดีแม้หุ้นจะขึ้นไปมาก แต่จะทำใจได้ยังไงที่จะต้องซื้อแพงขึ้นไปอีกประมาณเกือบ 20% และก็เช่นเดียวกับหุ้นอเมริกาและหุ้นยุโรปที่ก็ดูยังไม่แพงมากแม้ว่าหุ้นจะขึ้นมาเรื่อย ๆ และราคาอยู่ในช่วง “All Time High”

ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสียดายที่ไม่ได้คิดหรือทำเรื่องการลงทุนในหุ้นโลกเร็วกว่านี้ เงินสดประมาณ 5-6% ที่ถือมานานและควรจะเริ่มเข้าไปลงทุนในหุ้นจีนและหุ้นที่ถูกกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนเช่น หุ้นหลุยส์วิตตองที่ราคาตกต่ำมาช่วงหนึ่ง กลับไม่ได้ทำ เพราะกลัวว่าหลังจากเลือกตั้งในอเมริกาจะมีปัญหาหนักและหุ้นจะตกลงไปอีก

พอถึงจุดนี้ คืออาจจะเป็นจุดที่ไม่สามารถซื้อหุ้นโลกที่จะปลอดภัยได้เลย สิ่งที่คิดก็คือ ผมอาจจะต้อง “รอต่อไป” รอจนกว่ามีหุ้นโลกที่เหมาะสมที่จะซื้อ และก็รอต่อไป รอจนกว่าจะสามารถขายหุ้นไทยให้ลดลงจนเหลือประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด และถ้าจะมีเงินสดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ “ช่างมัน” และก็คิดเสียว่าในช่วงนี้ วอเร็น บัฟเฟตต์ เองก็ถือเงินสด “มหาศาล” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเบิร์กไชร์ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก และก็ไม่เสียดายอะไรเลยที่ไม่ได้ลงทุนในช่วงที่คนอเมริกันบอกว่าควรจะลงทุนมากที่สุด ตราบที่เขาไม่เห็นว่าหุ้นถูกและคุ้มค่าที่จะลงทุน

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1147066 
 
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Oct 07, 2024 9:15 pm
by thanonlongtun_p
หุ้นอะไรเอ่ย…ไม่แพงBy ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 06 ต.ค. 2024

ผมเองก็ยังถือ "หุ้นแบงก์ไทย" ในระดับที่มีนัยสำคัญ เหตุผลก็คือ แบงก์นั้นมักจะมีหุ้นที่ “ถูกเสมอ” ที่ทำให้เราสนใจที่จะลงทุน

อาจารย์เสน่ห์ ศรีสุวรรณ นักพูดชื่อดังและหนึ่งในพิธีกรรายการ Money Talk เคยเล่าเรื่องโจ๊กในรายการโดยการถามผมในฐานะของ “นักลงทุน” ว่า “อะไรเอ่ย…ราคาไม่เคยแพง?” ผมเองก็ตอบไม่ได้ เพียงแต่คิดว่าอาจจะเป็นสโลแกนของร้านขายปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ “วอลมาร์ท” ที่ใช้คำว่า “Low Price, Every Day” หรือ “ราคาถูกทุกวัน” แต่คำตอบที่ถูกต้องก็คือ “เมีย” เพราะเมียนั้น “ถูกเสมอ” หรือทำอะไรก็ไม่เคยผิด

แต่เมื่อมาคิดถึงหุ้น ที่แทบทุกตัวนั้นมีราคาขึ้นลงทุกวัน และนักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็น Value Investor ต่างก็พยายามหาหุ้นที่ “ไม่แพง” เพื่อที่ว่าจะได้ขายหุ้นทำกำไรได้งดงามก็มักจะเป็นเรื่องที่หาได้ยาก เพราะหุ้นนั้นมักจะมีความผันผวนขึ้นลงเร็ว บางครั้งก็แพง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นหุ้นถูก โอกาสที่จะหาหุ้นที่ถูกอยู่เรื่อย ๆ หรือถูกเป็นส่วนใหญ่ก็มักจะหาได้ยาก แต่จากประสบการณ์ของผมที่อยู่ในตลาดหุ้นมานาน ผมพบว่ามีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งที่มักจะ “ถูกเสมอ” ถูกแบบเรื้อรัง แต่คนที่ซื้อไปก็มักจะไม่สามารถทำกำไรได้สูงกว่าปกติต่อเนื่องยาวนาน หุ้นกลุ่มนั้นก็คือ “หุ้นแบงก์”

ในตลาดหุ้นไทย ย้อนหลังไปหลายสิบปีในยามที่ประเทศกำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจเติบโตมาก ซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตตามกันไป หุ้นแบงก์เป็นกลุ่มหุ้นจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่าตลาดของหุ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ก็เป็นกลุ่มที่มีผลประกอบการของบริษัทเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจโดยรวม แต่ราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากมายนัก ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้น “ไม่แพง”

และเป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะที่เป็นต่างชาติ พวกเขาเข้ามาซื้อจนสัดส่วนหุ้นที่เป็นต่างชาติเต็ม คือไม่เกิน 30% ส่งผลให้ต้องมีการแยกกระดานที่เป็นหุ้นต่างชาติกับกระดานหุ้นไทย โดยที่หุ้นกระดานต่างประเทศมักจะมีพรีเมี่ยม หรือมีราคาสูงกว่าราคาหุ้นที่ถือโดยคนไทย

หุ้นแบงก์ที่เวียดนามในช่วงนี้ ที่เศรษฐกิจของเวียดนามกำลังพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ผลประกอบการของแบงก์เวียดนามโตเร็วกว่าเศรษฐกิจ และเช่นเดียวกับแบงก์ไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน Market Cap. ของหุ้นแบงก์มีขนาดใหญ่ที่สุดและคิดเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของตลาดหุ้นเวียดนาม แต่ราคาหุ้นแบงก์โดยเฉพาะปีนี้ก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก ว่าที่จริงราคาหุ้นแบงก์ดูเหมือนจะ “ถูกมาก” และก็ถูกมานานแล้ว

และก็เช่นเดียวกับหุ้นแบงก์ไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะที่เป็นต่างชาติ ที่เข้าไปไล่ซื้อซึ่งทำให้หุ้นแบงก์จำนวนมากมี “Foreign Premium” หรือมีราคาแพงกว่าหุ้นที่ถือโดยคนเวียดนาม

เหตุผลที่ทำให้หุ้นแบงก์มีราคาถูกและถูกต่อเนื่องในความคิดของผมก็คือ “กิจการของแบงก์นั้นมักจะดีเสมอจนถึงวันที่มันเจ๊ง” ความหมายก็คือ ในยามปกติ แบงก์ในประเทศกำลังพัฒนามักจะสามารถปล่อยกู้หรือทำธุรกิจเพิ่มขึ้นได้ง่าย เพราะเศรษฐกิจกำลังเติบโตซึ่งต้องการสินเชื่อจำนวนมาก

และแบงก์ทุกแห่งก็สามารถแข่งขันปล่อยกู้ได้เต็มที่ เพราะเงินนั้น ไม่ว่าจะมาจากแบงก์ไหนก็มีคุณสมบัติเหมือนกันหมด แบงก์ไม่ต้องทำการตลาด อยู่เฉย ๆ ลูกค้าหรือลูกหนี้ต่างก็มาขอสินเชื่อจนแทบไม่มีเงินพอที่จะให้ ในบางช่วงเวลารัฐบาลหรือแบ้งค์ชาติต้องออกมากำหนดไม่ให้แบ้งค์ปล่อยกู้มากเกินไปด้วยซ้ำ

เมื่อปล่อยกู้ออกไปแล้ว กำไรก็ไหลมาโดยไม่ต้องทำอะไร ดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ลบเงินฝากที่แบงก์ได้รับนั้น เดินหน้าทุกวันไม่เคยหยุด กำไรแบงก์แทบทุกแห่งเติบโตก้าวกระโดด ต้นทุนสำคัญเช่นค่าแรงและค่าเสื่อมนั้นค่อนข้างคงที่ ต้นทุนสำคัญอีกตัวหนึ่งคือเรื่องของการสำรองหนี้สูญนั้น ค่อนข้างน้อย เพราะลูกหนี้ “แข็งแรง” และเพิ่งจะมาขอกู้หนี้เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเร็วตามภาวะเศรษฐกิจ กำไรของแบงก์จึงดูดีมาก นักลงทุนสถาบันจึงแห่กันลงทุนในหุ้นแบงก์

จนถึงวันหนึ่ง ก็พบว่าเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปก่อให้เกิดภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ปริมาณการผลิตสินค้าของกิจการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความต้องการ สินค้าล้นตลาด บริษัทที่อ่อนแอขายสินค้าไม่ได้ เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและล้มละลาย ผลิตภัณฑ์สำคัญอย่างหนึ่งก็คืออสังหาริมทรัพย์ที่มักจะเริ่มมีปัญหากลายเป็นหนี้เสีย ทั้งในกรณีของไทยก่อนปี 2540 และในกรณีของเวียดนามที่เพิ่งจะเกิดเร็ว ๆ นี้ ที่มีปัญหาไม่สามารถใช้หนี้ได้ ในกรณีของไทยได้ทำให้แบงก์ล้มเป็นวิกฤติ ในกรณีของเวียตนามในปัจจุบันก็เป็นตัวที่ฉุดแบงก์ให้ต้องปรับโครงสร้างกันหลายแห่ง

ข้อสรุปก็คือ แบงก์นั้น มักจะดีไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่มันจะเจ๊งหรือแย่หนักเนื่องจากหนี้เสียรุนแรง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่แบงก์ในระดับ “หายนะ” ซึ่งจะกลืนกินกำไรที่อาจจะสะสมมานาน ผลก็คือ ในระยะยาวแล้ว กิจการแบงก์อาจจะไม่ได้ดีมากอย่างที่คิด แม้ว่าในบางช่วงบางตอนโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตดี แบงก์อาจจะกำไรดีมาก และดังนั้น ตลาดทุนหรือตลาดหุ้นจึง “Discount” หรือลดราคาหุ้นแบงก์ลงต่ำกว่ากิจการอย่างอื่นที่เมื่อโตแล้วจะไม่เกิดปัญหาแบบแบงก์ และนั่นทำให้ราคาหุ้นแบ้งค์ดูเหมือนว่าจะ “ไม่เคยแพง” ค่า PE มักจะไม่เกิน 10 เท่า บางแห่งแค่ 4-5 เท่าก็มี

ประวัติศาสตร์จากหุ้นแบงก์ไทยก็คือ หลังจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาหลายสิบปี หุ้นแบงก์ที่เคยใหญ่โตมากที่สุดในตลาดหุ้นและมี Market Cap. หลายสิบเปอร์เซ็นต์ในตลาดนั้น มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น หุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัวแรกในตลาดอาจจะเป็นหุ้นแบงก์เสีย 4-5 ตัว ก็อาจจะไม่มีซักตัวแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น หุ้นแบงก์จึงมักจะไม่ใช่หุ้นซุปเปอร์สต็อก ในระยะยาวไม่สามารถโตไปได้เร็วเกิน 10% ต่อปีอะไรทำนองนั้น และในระหว่างทางก็มักจะประสบกับ “วิกฤติ” อะไรบางอย่าง

หุ้นแบงก์เวียดนามในปัจจุบันเองก็คล้าย ๆ กับหุ้นแบงก์ไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน หุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัว เป็นหุ้นแบงก์ 3-4 ตัว ผลประกอบการหุ้นแบงก์ตอนนี้ก็ดูดีมากและราคา “ถูกมาก” ว่าที่จริงหุ้นแบงก์นั้น “ถูกเสมอ” และถูกมานานแล้ว และสำหรับ “VI” นั้น หุ้นแบงก์เป็นหุ้นที่ “ลงทุนได้” เพราะเป็นกิจการที่ยังเติบโตระยะยาว ผลประกอบการมั่นคงและสม่ำเสมอและ “กำไรดี” สามารถคาดการณ์ได้ และที่สำคัญก็คือ มักจะมีราคาถูกหรือถูกมาก นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าแบงก์บางแห่งอาจจะไม่เข้าข่ายนั้น แต่มักจะมีหุ้นแบงก์บางตัวที่น่าลงทุนเสมอ

แม้แต่วอเร็น บัฟเฟตต์เองก็ยังลงทุนในหุ้นแบงก์แทบจะตลอดมา เขาเคยถือหุ้นแบงก์เวลฟาร์โก้มานานก่อนที่จะขายด้วยความผิดหวังเพราะหุ้นตัวนี้ ที่เขาซื้อเพราะมีการบริหารงานที่ดีกว่าแบงก์อื่น เกิดอาการ “ดีแตก” ซึ่งน่าจะทำให้เขาไม่ได้กำไรอะไรนักจากการลงทุนถือมายาวนาน ว่าที่จริง การถือหุ้นแบงก์ของบัฟเฟตต์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ น่าจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักแม้ว่าบ่อยครั้งเขาเข้าไปถือเพราะแบงก์มีปัญหาจาก “วิกฤติ” และราคาหุ้นตกลงมากจนทำให้ราคาหุ้นถูกสุด ๆ แบบ “Super Cheap”

กลับมาที่หุ้นแบงก์ของเวียดนามในปัจจุบัน ที่ตอนนี้ถือว่าเป็นกลุ่มหุ้นที่ใหญ่โตมากที่สุด ละดูเหมือนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้น วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้หุ้นกู้รวมถึงเงินกู้มีปัญหาก็ดูเหมือนว่ากำลังได้รับการแก้ไข ผลประกอบการของแบงก์น่าจะดีขึ้นมากในช่วงต่อจากนี้ หุ้นแบงก์เองก็ถูกมาก ดังนั้น หุ้นแบงก์น่าจะเติบโตโดดเด่นไหม?

ผมเองไม่สามารถจะตอบได้ แต่โดยส่วนตัวตั้งแต่ตอนสร้างพอร์ตลงทุน “ระยะยาว” ที่เวียดนามเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมเองมีหุ้นแบงก์น้อยกว่าสัดส่วนของแบงก์ในตลาดเวียดนามมาก และก็ไม่ได้ถือหุ้นแบงก์โดยตรงเลย แต่ถือผ่านกองทุน ETF ที่ถือหุ้นแบงก์อยู่บ้าง เหตุผลก็เพราะผมเน้นลงทุนระยะยาวในหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ซึ่งแบงก์ไม่เข้าข่าย และในความคิดของผม หุ้นแบงก์ของเวียดนามในระยะยาวก็น่าจะลดขนาดลงเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นแบงก์เป็นกิจการที่ไม่ดีหรือไม่น่าลงทุนในระยะยาว ว่าที่จริงผมเองก็ยังถือหุ้นแบงก์ไทยในระดับที่มีนัยสำคัญ เหตุผลก็คือ แบงก์นั้นมักจะมีหุ้นที่ “ถูกเสมอ” ที่ทำให้เราสนใจที่จะลงทุนประเด็นก็คือ เราคงต้องจับตามองตลอดเวลาว่า วิกฤติอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งบางทีก็พลาดได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เล่นหุ้นแบงก์ก็ต้องดูปันผลว่าควรจะต้องงดงามที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวหุ้นวันใดวันหนึ่งได้

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1147959
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Oct 21, 2024 10:31 am
by thanonlongtun_p
VI ไม่ถือเงินสด By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 17 ต.ค. 2024

ส่วนตัวผมเองนั้น ช่วงแรก ๆ ในชีวิตการเป็น VI ผมก็ลงทุน 100% ในหุ้นหลาย ๆ ตัว มีเงินสดบ่อยครั้งไม่ถึง 1% ของความมั่งคั่งเอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน ทุกครั้งที่ขายหุ้นหรือได้ปันผล ภายในเวลาไม่กี่วันก็จะต้องไปซื้อหุ้นตัวใหม่ได้เสมอ เพราะมีหุ้นถูกคุณภาพดีอยู่เต็มตลาด

ข่าวเกี่ยวกับการลงทุนของวอเร็น บัฟเฟตต์ในช่วงอย่างน้อย 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าไม่ใช่เป็นการซื้อหุ้นลงทุน แต่เป็นการขายหุ้นที่ถือมายาวนานหลายตัว ในจำนวนที่ค่อนข้างมากอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดก็คือขายหุ้นแบงก์สหรัฐบางส่วน ได้เงินมาประมาณ 340,000 ล้านบาท ในส่วนของการซื้อหุ้นลงทุนเองนั้น ดูเหมือนว่าจะน้อยกว่าและตัวเล็กกว่าและก็เริ่มไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่หุ้นมีราคาถูกมากมานาน

ผลก็คือ เงินสดของเบิร์กไชร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดนั้นสูงถึงประมาณ 280 พันล้านเหรียญหรือ 9.4 ล้านล้านบาทแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ “สูงที่สุดในประวัติศาสตร์” ของบัฟเฟตต์ นั่นก็น่าจะมาจากมุมมองของบัฟเฟตต์ต่อตลาดหุ้นของอเมริกาว่า ตลาดหุ้นกำลังเติบโตร้อนแรงเกินไปตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้เขาหาหุ้นที่จะลงทุนยาก เพราะหุ้นเหล่านั้น “แพงเกินไป” นอกจากนั้น หุ้นที่ถืออยู่ก็ “แพงเกินไป” ซึ่งก็ทำให้เขาต้องขายบางตัวออกไป และเก็บเป็นเงินสดที่เขาต้องเอาไปลงทุนซื้อพันธบัตรหรือเงินลงทุนระยะสั้นที่ให้ดอกเบี้ยหรือกำไรต่ำกว่าผลตอบแทนจากตลาดหุ้นมากเป็นเวลาหลายปี

พูดได้เลยว่าบัฟเฟตต์ “ตกรถ” ครั้งใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อหุ้นที่วิ่งแรงต่อเนื่องมาหลายปีในตลาดหุ้นสหรัฐ ผมเองไม่รู้ว่าบัฟเฟตต์คิดอย่างไร บางทีเขาอาจจะรู้สึกเฉย ๆ ก็ได้ เพราะคนอย่างบัฟเฟตต์นั้น คิดลึกและรอบคอบเสมอ ไม่ตามใครและแน่นอน ไม่ตามตลาด และไม่แคร์ว่าใครจะบอกว่าเขาพลาดไปแล้วและ “ตกรถ” เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจ “หุ้นในโลกยุคใหม่” ที่เป็นหุ้นดิจิทัลและ “AI” ที่กำลังโตขึ้น “คับโลก”

แน่นอนว่าผมไม่คิดอย่างนั้น วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมาน่าจะหลายรอบในชีวิตการลงทุนของเขา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือในช่วงปลายปี 1969 ที่เขาได้ผลตอบแทนการลงทุนสุดยอดปีหนึ่งเพราะหุ้นขึ้นไปมากนั้น เขากลับตัดสินใจขายหุ้นทิ้งหมด ปิดกองทุนที่เป็นห้างหุ้นส่วน และคืนเงินให้ผู้ลงทุนหมดเพราะเขาดูแล้วหุ้นมัน “แพงเกินไปมาก” ไม่รู้ว่าจะซื้อหุ้นอะไรที่จะไม่เสี่ยง ซึ่งในครั้งนั้น เขาคาดถูก เพราะหลังจากปิดกองทุนสักพักหนึ่ง ตลาดหุ้นที่ร้อนแรงมากก็ถล่มทะลายในปี 1973-74 และเขาก็กลับมาลงทุนอีกครั้งภายใต้บริษัทหนึ่งที่เขาไม่ได้ขายไปที่ชื่อว่า เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ และกลายเป็น “ตำนาน” การลงทุนของบัฟเฟตต์มาจนถึงทุกวันนี้

ในครั้งนี้ ที่พอร์ตของบัฟเฟตต์ใหญ่คับตลาดหุ้นและเบิร์กไชร์เป็นบริษัทมหาชน สิ่งที่เขาทำได้ก็คงเป็นแค่ว่า เขาขายหุ้นและถือเงินสดจำนวนมหาศาลเพื่อที่จะรอว่า “วิกฤติ” อาจจะมาเมื่อไรหลังจากที่ตลาดหุ้นร้อนแรงมานาน และในวันนั้น เขาก็คงจะใช้เงินสดที่ “ไม่มีใครจะมีเท่า” เข้าไปกวาดซื้อหุ้นที่ตกลงมามากจนมีราคาถูกที่เขาสบายใจที่จะซื้อ ที่ผ่านมา 2-3 ปี นั้น หุ้นไม่ตกเลยและมีแต่จะขึ้น เขา “ตกรถ” แต่เขาก็ยัง “รอต่อไป” และก็ยังเพิ่มเติมเงินสดขึ้นไปอีก ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่าเขายังยึดมั่นกับความคิดที่ไม่เคยเปลี่ยนว่า ถ้าหุ้นแพงต้องไม่ซื้อ และถ้าแพงเกินพื้นฐานไปมากในระยะยาว ก็ต้องขาย เราคงต้องจับตาดูว่าบัฟเฟตต์จะคิดถูกอีกไหม

ประวัติศาสตร์บอกเราว่า บัฟเฟตต์ค่อนข้างจะถูกต้องในการคาดการณ์ หลายครั้งเมื่อเกิดวิกฤติ เบิร์กไชร์มีเงินสดเหลือล้นที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีปัญหาและราคาหุ้นตกลงมาแรงมากและทำให้เขาสามารถเข้าไปลงทุนและสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงาม คุ้มค่ากับการถือเงินสดที่ได้ผลตอบแทนต่ำเป็นเวลาอาจจะหลายปี

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ผมพบว่าแนวความคิดเรื่องของการลงทุนในสไตล์ของบัฟเฟตต์ดังกล่าวนั้น แทบจะไม่มีเลยอย่างน้อยก็ในช่วงตั้งแต่กำเนิดขบวนการ “VI” ในปี 2542-43 จนถึงช่วงเร็ว ๆ นี้

จากการคลุกคลีอยู่ในแวดวงของนักลงทุนที่เรียกตัวว่าเป็น “VI” ในตลาดหุ้นไทยเป็นเวลากว่า 25 ปี ผมพบว่าเหล่า VI ซึ่งรวมถึงผมในช่วงเวลาหนึ่งนั้น มักจะไม่ถือเงินสดจำนวนมากและ/หรือเป็นเวลานาน เหตุผลนั้นผมคิดว่ามีหลายประการ ทั้งหมดมาจากการที่ VI ประสบความสำเร็จสูงมาก ผลตอบแทนจากการลงทุนดีแบบแทบจะเรียกว่ามหัศจรรย์ อานิสงค์จากการที่ตลาดหุ้นและหุ้นที่เรียกว่าเป็น “หุ้น VI” ให้ผลตอบแทนที่ดี “เหนือจริง” ทำให้คนที่เป็น VI มักจะไม่ต้องการถือเงินสดเลย จำนวนมากกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะคิดว่าการถือหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินสดเสมอและไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อะไรเลย

ประเด็นแรก ก็คือ VI สามารถหาหุ้นลงทุนในตลาดได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดบูม ผมเองจำได้ว่าในช่วงแรก ๆ ของการเป็น VI ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยหุ้นที่โตเร็วตัวเล็ก ๆ และก็มี VI จำนวนมากเข้าไปรุมซื้อ ทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปแรง VI บางคนก็อาจจะขายหุ้นออกไปทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว และแทบจะทันทีเมื่อได้รับเงินสดมาก็จะรีบเข้าไปซื้อหุ้นตัวใหม่ ที่ซักพักก็จะมีการเชียร์ให้ VI และนักลงทุนรายย่อยอื่นเข้าไปซื้อ ทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปและก็จะถูกขายทำกำไรได้อีก ซึ่งการ “หมุนหุ้น” แบบนี้ มักจะทำกำไรได้สูงกว่าการซื้อหุ้นแล้วเก็บยาวไม่ขายแบบบัฟเฟตต์

ประการที่สอง VI มักมองว่าเงินสดก็เป็นการลงทุนในตราสารอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนอาจจะแค่ปีละ 1-2% ซึ่งนั่นเท่ากับการลงทุนในทรัพย์สินที่มีค่า PE 50-100 เท่า โดยที่เป็นหลักทรัพย์ที่ “ไม่โต” ดังนั้น เงินสดถือว่าเป็นการลงทุนที่แย่มากในแนวของ VI ที่ชอบหุ้นที่โตเร็วและค่า PE ต่ำหรือเป็นหุ้นถูก

ประการที่สาม แม้แต่ช่วงที่ตลาดหุ้นอาจจะไม่ดีนักและมองไปข้างหน้าก็อาจจะไม่สดใส แต่ VI มักจะไม่ค่อยสนใจ พวกเขาคิดว่าหุ้นที่ตนเองวิเคราะห์และเลือกแล้วนั้น ดีกว่าตลาดมาก ยังไงก็ทำได้เหนือกว่าตลาด หลายคนตั้งเป้าหมายว่าจะ Outperform หรือทำผลงานได้ดีกว่าตลาดปีละประมาณ 10% อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถึงตลาดจะตกลงมา 7-8% เขาก็คิดว่าเขาอาจจะทำได้ 2-3% ต่อปี ซึ่งก็ยังดีกว่าถือเงินสดที่ให้ผลตอบแทนไม่เกิน 1% อยู่ดี ดังนั้น จะถือเงินสดทำไม?

ประการสุดท้าย VI โดยเฉพาะรุ่นใหม่ ๆ นั้น มักจะมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก และพวกเขาต่างก็ตั้งเป้าที่จะมีอิสระภาพทางการเงินภายในเวลาไปกี่ปี หลายคนหวังที่จะรวยเป็นเศรษฐีจากการลงทุน แต่ด้วยการที่ยังมีอายุน้อยและไม่ได้มี “เงินต้น” ในการลงทุนมากนัก พวกเขาจึงต้อง “เร่ง” โดยการถือหุ้นให้มากที่สุด บ่อยครั้งมากก็ใช้การกู้หรือมาร์จินหรือเครื่องมือเพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นให้มากขึ้น ความคิดที่จะถือเงินสดนั้นจึงไม่มี

และไม่ต้องไปคิดว่าถ้าถือเงินสดแล้วเวลาเกิดวิกฤติหรือเจอหุ้นดีจะได้มีเงินซื้อนั้น มันไม่มีความหมายเลย เพราะพวกเขามักจะไม่ค่อยคิดถึง “วันที่เลวร้าย” แบบนั้น เวลาลงทุนพวกเขามักจะมี “Conviction” หรือความเชื่อที่เต็มเปี่ยมว่า ดีแน่ “All In” หรือซื้อเต็มที่ไปเลย เงินทุกบาทใส่ลงไปในหุ้น

โดยส่วนตัวผมเองนั้น ช่วงแรก ๆ ในชีวิตการเป็น VI ผมก็ลงทุน 100% ในหุ้นหลาย ๆ ตัว มีเงินสดบ่อยครั้งไม่ถึง 1% ของความมั่งคั่งเอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน ทุกครั้งที่ขายหุ้นหรือได้ปันผล ภายในเวลาไม่กี่วันก็จะต้องไปซื้อหุ้นตัวใหม่ได้เสมอ เพราะมีหุ้นถูกคุณภาพดีอยู่เต็มตลาด อย่างไรก็ตาม สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเจริญเติบโตสูงมาก กลายเป็นเติบโตต่ำและต่อเนื่องอานิสงส์สำคัญจากประชากรที่แก่ตัวลง และระบบการปกครองที่ถดถอยลงในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไม่สามารถฟื้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้

ผลก็คือ ตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียนโดยรวมแน่นิ่งมา 10 ปี เป็น “Loss Decade” การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนลดลงมาก ความสามารถที่จะเลือกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดเองก็ลดลง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะหุ้นดีแบบ VI ก็มักมีราคาแพงหรือเต็มมูลค่า ดังนั้น ผมก็เริ่มมีเงินสดพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ และก็ต้อง “ย้ายตลาด” เอาเงินสดไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามบางส่วน แต่ก็ยังเหลือเงินสดอยู่ดีในอัตราประมาณ 5-6% และก็อาจจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ 

และก็คงต้องทำคล้าย ๆ บัฟเฟตต์ที่อาจจะต้อง “นอนรอบนกองเงินสด” จนกว่าโอกาสในการลงทุนจะเปิด คือมีหุ้นดีราคาถูกทั้งตลาดหุ้นในและต่างประเทศ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1149448