Page 4 of 6

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Tue Jan 16, 2024 10:41 am
by thanonlongtun_p
จินตนาการประเทศไทยในอนาคต
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 13 ม.ค. 2567

ยังมีประเด็นปัญหาอีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้นตามการแก่ตัวของคน ที่ยังไม่มีใครคิดไม่ต้องพูดถึงการแก้ไข ถ้าจะมีผมคิดว่าก็อาจจะเป็นนักลงทุนแบบ VI รวมถึงตัวผมเองที่เริ่มไปลงทุนในตลาดของประเทศที่ยังไม่แก่ตัวแล้ว เหตุเพราะเราเป็นนักลงทุนระยะยาว

ในระยะหลัง ๆ ผมสนใจเรื่องของการ “เติบโต” หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ การ “ถดถอย” หรือการ “ลดลง” ของจำนวนประชากรของประเทศต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย เหตุผลก็เพราะผมพบว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอิงกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศ จริงอยู่ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากเรื่องของจำนวนประชากรแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของคนที่อาจจะสามารถผลิตได้มากขึ้นหรือการเพิ่ม “ผลิตภาพ” ของประชากรด้วย แต่ประเด็นก็คือ การเพิ่มผลิตภาพนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าการเพิ่มคนมากในทางปฏิบัติ

ย้อนหลังไปประมาณ 55 ปี คือปี 2511 เมื่อตอนผมอายุ 15 ปีและกำลังเข้าเรียนมัธยมปลายและเริ่มจะเข้าใจโลกมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นกำลัง “เจริญ” ขึ้นอย่างรวดเร็ว ถนนหนทางเริ่มมีมากขึ้น ถนนเพชรบุรีเพิ่งจะ “ตัดใหม่” และเป็นแหล่ง “อาบอบนวด” ที่คนหนุ่มที่เริ่มทำงานที่มีมากขึ้นและเริ่มจะมีเงินมาเที่ยวในยามค่ำคืน ถนนสีลมเริ่มเป็นแหล่งที่มีธุรกิจมาสร้างอาคารสำนักงานเป็นย่านธุรกิจใหม่ “เซ็นทรัลสีลม” กลายเป็นห้างทันสมัยโดดเด่นและ “คนรวย” เริ่มมาซื้อของ อย่างไรก็ตาม ถนนสาธรก็ยังดูเป็นธรรมชาติ มีคลองดินอยู่กลางสาธรเหนือและใต้ ข้างคลองเรียงรายด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เป็นเส้นทางที่ผม “โหนรถเมล์” ที่ “แน่นเป็นปลากระป๋อง” ไปเรียนทุกวัน

ในวันนั้น ประชากรคนไทยมีจำนวนประมาณ 33 ล้านคนและแต่ละปีน่าจะมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ล้านคน กรุงเทพเริ่มจะมีรถติดและหนักมากในเวลาต่อมา ผมยังจำได้ว่า “บ็อบโฮป” ศิลปินตลกชื่อก้องโลกชาวอเมริกันมา “เอนเทอร์เทน” ทหารอเมริกันที่ตั้งฐานทัพใหญ่โตในไทยเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม บ็อบโฮปยิงมุขที่เป็นอมตะมากว่า ไม่ต้องกลัวว่าเวียดนามจะบุกยึดกรุงเทพ เหตุผลก็เพราะรถมันติดมาก รถถังเข้าไปไม่ได้

ยุคที่ผมเกิดและต่อมาจนถึงวัยรุ่นเป็นยุค “เบบี้บูม” แต่ละครอบครัวต่างก็มีลูกกันอย่างน้อย 5-6 คนขึ้นไป บางครอบครัวมีลูกเกือบ 10 คน การเลี้ยงดูเด็กไม่ได้มีต้นทุนสูงมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องอาหารที่ไม่แพงและทำกินเองทุกบ้าน เลี้ยงแค่สิบกว่าปีก็ทำงานหาเงินได้แล้ว ดูเหมือนว่าเป็น “การลงทุน” ที่คุ้มค่ามาก คนที่ไม่มีลูกนั้นจะถูกมองว่าอนาคตจะกลายเป็นคน “อนาถา” ไม่มีคนเลี้ยงดู บ้านผมเองนั้นเนื่องจากยากจน จึงลงทุนมีลูกได้แค่ 3 คน

อย่างไรก็ตาม พอคนเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตำแหน่งงานเพิ่มไม่ทัน คนว่างงานก็มากขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคม รัฐบาลก็ต้องชะลอการเกิดโดยเน้นการคุมกำเนิดและเริ่มรณรงค์ด้วยสโลแกน “ลูกมากจะยากจน” และส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย “มีชัย” อย่างไรก็ตาม คนก็ยังคงเกิดมากอยู่ดี

ธุรกิจที่เฟื่องฟูมากที่สุดในยุคนั้นก็คือ “บ้านจัดสรร” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่ในช่วงนั้น และทุกรายต่างก็จะเน้นโฆษณา “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีตลาด” ทำเลที่มีโครงการมากที่สุดจุดหนึ่งก็คือ “ซอยอ่อนนุช” และอีกจุดหนึ่งก็คือ ถนนลาดพร้าว ที่มีการตัดถนนใหม่และมีพื้นที่ว่างจำนวนมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ กรุงเทพในยุคนั้น “ยังเล็กมาก” ถนนหลัก ๆ มีไม่กี่สาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ยัง “ว่าง ๆ” “สะพานควาย” เมื่อ 60 ปีก่อนยังแทบจะเป็น “นอกเมือง” แต่ก็ไม่มีควายให้เห็นแล้ว

ตัดภาพอย่างรวดเร็วมาถึงปัจจุบันที่คนไทยเพิ่มขึ้นมาจนเกือบถึง 70 ล้านคน และก็น่าจะกำลังเป็นจุดสูงสุด คนยุคเบบี้บูมก็เริ่มตายมากขึ้นเพราะส่วนใหญ่แล้วก็อายุประมาณ 60 ปี ขึ้นไปแล้ว บางคนใกล้ 80 ปีแล้ว ปี 2566 คนตายมากกว่าคนเกิดเป็นหมื่นคนแล้ว เหตุผลสำคัญก็คือ จำนวนคนเกิดแต่ละปีในช่วงหลังนั้นเหลือแค่ประมาณครึ่งหนึ่งคือประมาณ 5 แสนคนและดูเหมือนว่าจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะ การเลี้ยงเด็กมีต้นทุนที่สูงมากและกลายเป็น “การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า” สำหรับพ่อแม่ การมีลูกกลายเป็น “การบริโภคที่ฟุ่มเฟือย” และแม้แต่คนชั้นกลางจำนวนมากก็ “รับไม่ไหว”

การศึกษาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 2-3 วันก่อนนำโดยอาจารย์เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์ ทางด้านประชากรศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่นของผมที่จุฬาให้ข้อมูลที่น่าตกใจมากว่า ภายใน 60 ปี คือปี 2083 ซึ่งหลานผมจะมีอายุประมาณ 66 ปี คนไทยจะเหลือเพียง 33 ล้านคนเท่ากับสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น และในจำนวนนั้นจะมีคนที่อยู่ในวัยทำงานเพียง 14 ล้านคน จากที่ไทยมีประมาณ 46 ล้านคนในวันนี้ หรือเหลือแค่ 30%

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ล้านคนในวันนี้เป็น 18 ล้านคน หรือเกินกว่า 50% ของคนไทยทั้งหมด ซึ่งถ้ามองว่าคนที่อายุเกิน 65 ปีนั้นจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ 100% ต้องมีคนช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพ นั่นก็แปลว่าคนไทยที่ทำงาน 1 คนจะต้องดูแลเลี้ยงดูคนสูงอายุ 1.3 คน “ผ่านระบบภาษี” นั่นก็คือ รัฐบาลเก็บภาษีคนทำงาน อาจจะในอัตราอย่างน้อย 50% เพื่อนำเงินมาเป็นสวัสดิการเลี้ยงดูคนสูงอายุที่ทำงานไม่ไหวแล้ว

และนั่นก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ารัฐไทยไม่ได้ทำอะไรที่จะแก้ไขก่อนจะถึงวันนั้น เช่น ให้มีการลงทุนในประเทศอื่นจำนวนมากอย่างที่ทำในประเทศสแกนดิเนเวียหลายประเทศที่นำเงินทั้งของรัฐและประชาชนไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะเพียงพอที่จะนำผลตอบแทนกลับมาให้ประชาชนของตนเองมีกินมีใช้เพียงพอโดยไม่ต้องทำงานเมื่อเกษียณแล้ว เป็นต้น

ผมคงไม่พูดมากนักกับเรื่องว่าจะทำอย่างไรที่แก้ปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ในอีก 60 ปี นั่นควรเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องมองการณ์ไกลและอาจจะต้องเริ่มแก้ไขก่อน เพราะวิธีแก้ไขนั้นต้องใช้ระยะเวลายาวพอ ๆ กับปัญหา แต่ผมอยากจะมองหรือจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะยาว แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องตระหนัก เพราะระยะยาวก็คือ ระยะสั้นหลาย ๆ ช่วงที่ต่อกันไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่มองระยะยาวเราจะไม่เข้าใจว่าทำไมระยะสั้นแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละปีจึงเกิดสิ่งที่เราเห็น

ประเด็นแรกก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะถดถอยหรือลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างยาวนาน สุดท้ายเมื่อครบ 60 ปี ขนาดของเศรษฐกิจอาจจะลดลงจากปัจจุบันเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือต่ำกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าคนทำงานของเราอาจจะเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือต่ำกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ปีต่อปีนั้น บางปีเศรษฐกิจก็อาจจะดีกว่าปกติได้ แต่ก็จะไม่ยั่งยืน ปีต่อไปก็อาจจะลดลงต่อ ดังนั้น การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีก็ทำได้ยาก

ธุรกิจที่ค่อนข้างที่จะอิงกับจำนวนคนโดยเฉพาะที่เป็นหนุ่มสาวหรือคนทำงานจะค่อย ๆ ถดถอยลงในระยะยาว โอกาสที่จะเติบโตน้อยมาก ตัวสำคัญก็คือ ที่อยู่อาศัยรวมถึงอาคารสำนักงานและห้างร้านค้าปลีกเกือบทุกประเภท

บ้านจัดสรรและคอนโดนั้นจะมียอดขายโดยรวมต่อปีลดลงไปเรื่อย ๆ และถึงจุดหนึ่งก็จะมีบ้านร้างแบบเดียวกับญี่ปุ่นที่ไม่มีคนอยู่และเจ้าของต้องยกให้คนอื่นเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงานก็เช่นเดียวกันโดยเฉพาะเมื่อธุรกิจลดขนาดลงเพราะเศรษฐกิจไม่โตหรือลดลง ความต้องการพื้นที่สำนักงานก็จะลดลง และนี่ก็เช่นเดียวกัน บางปีก็อาจจะดีบ้างแต่ในระยะยาวก็จะกลับมาลดลงต่อ

ช็อปปิงมอลที่กำลังมีการเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็น่าห่วงมากว่าเปิดแล้วจะมีคนเข้าไปใช้บริการเพียงพอหรือไม่ เพราะคนจะเริ่มน้อยลง แน่นอนว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวก็ไม่พอที่จะเติมเต็มห้างที่อาจจะมากเกินไปแล้วตั้งแต่วันนี้

รถไฟฟ้าสาธารณะที่เพิ่งเปิดหลายสายรวมถึงที่กำลังสร้างและที่อยู่ในแผน ถนนหนทางต่าง ๆ ที่สร้างเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งในเมืองและต่างจังหวัด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมไม่แน่ใจว่ารัฐเคยคำนึงถึงแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ของไทยที่กำลังลดลงหรือไม่ แผนและงบประมาณอาจจะล้าสมัยหมดแล้ว สร้างเสร็จแล้วผมก็ห่วงว่าอนาคตอาจจะไม่ค่อยมีคนใช้และกลายเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองก็ได้

ระบบโรงเรียนที่ทำไว้เพื่อรองรับจำนวนเด็กเป็นล้านคนต่อปี ถึงวันนี้ผมไม่รู้ว่ามีคนคิดหรือไม่ว่าจะต้องเริ่มทำอะไรที่จะรับกับจำนวนนักเรียนที่เหลือเพียงครึ่งเดียว งบประมาณที่มีจำนวนสูงแทบจะที่สุดนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ที่จะทำให้คนไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยลงและคนไทยมีรายได้สูงกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้

สุดท้ายก็คือ คนสูงอายุที่ทำงานไม่ได้และจำนวนมากไม่ได้มีเงินออมและเงินลงทุนเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างเพียงพอตามอัตภาพจะทำอย่างไร และนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นที่สุด อาจจะแค่ภายใน 10 ปีนี้เท่านั้น

ยังมีประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้นตามการแก่ตัวของคนที่ยังไม่มีใครคิดไม่ต้องพูดถึงการแก้ไข ถ้าจะมีผมคิดว่าก็อาจจะเป็นนักลงทุนแบบ VI รวมถึงตัวผมเองที่เริ่มไปลงทุนในตลาดของประเทศที่ยังไม่แก่ตัวแล้ว เหตุเพราะเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่จะต้องตัดสินใจวันนี้

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1108300
 
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Feb 12, 2024 1:44 pm
by thanonlongtun_p
เสือร้องไห้

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 04 ก.พ. 2567 

ไม่รู้ว่าผู้บริหาร "กองทุนต้นโพธิ์" จะทำอะไรต่อไป ถ้าให้ผมทายก็คงต้องลงทุนต่อไป เพราะ “คนที่เกิดเป็นนักลงทุนแล้ว ก็ต้องเป็นนักลงทุนต่อไป” เพียงแต่อาจจะต้อง “เปลี่ยนกลยุทธ์” แต่ก็คงไม่เปลี่ยนปรัชญาหรือแนวทางหลักที่เคยใช้มานาน

การปิดกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” ซึ่งน่าจะเป็นกองแรก ๆ ของไทยซึ่งนักลงทุนจำนวนมากก็อาจจะ “เพิ่งรู้จัก” ตอนที่ประกาศปิด คือ “กองทุนต้นโพธิ์” ทำให้ผมระลึกถึงกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” กองแรก ๆ ของโลกคือกองทุน “Tiger Fund” ของ Julian Robertson นักลงทุน “ในตำนาน” ของเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตในวัย 90 ปี เมื่อ 2 ปีก่อน

ข้อแรกก็คือ ไทเกอร์ฟันด์ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 ที่คนก็ยังแทบไม่รู้จักเฮดจ์ฟันด์ โดยช่วงที่ก่อตั้งนั้นใช้เงินของครอบครัวบวกกับญาติและมิตรสหายแค่ 8 ล้านดอลลาร์ แต่พอถึงปี 1998 ก่อนปิดกองทุนในปี 2000-01 พอร์ตก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดและมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญ กลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีถึง 32% หลังหักค่าธรรมเนียม ในเวลายาวนานถึง 18 ปี

เท่าที่ผมทราบอย่างไม่เป็นทางการ กองทุนต้นโพธิ์เปิดในปี 2548 และก็เริ่มต้นลงทุนด้วยเม็ดเงินของครอบครัวผู้ก่อตั้งญาติสนิทและมิตรสหายเหมือนกัน และในช่วงเวลาประมาณ 14-15 ปีก่อนที่จะปิดตัวในปีนี้คือน่าจะประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว กองทุนก็น่าจะมีพอร์ตในระดับ “หมื่นล้านบาท” สร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีสูงมาก อาจจะปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์เหมือนกันข้อสอง Robertson เป็นนักลงทุนแบบ “VI เข้มข้น” ในช่วงที่บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกันกำลังพุ่งขึ้นแรงติดอันดับคนรวยที่สุดของประเทศและแนวคิด “Value Investments” กำลังเป็นที่นิยมและ “ร้อนเป็นไฟ” อานิสงส์จากการที่บัฟเฟตต์บอกสังคมว่าตนเองเป็น “VI”

กองทุนต้นโพธิ์เองนั้น ก็น่าจะบริหารด้วยแนวคิดแบบ “VI” เหมือนกัน เห็นได้จากการที่กองทุนมักจะถือหุ้น “VI” จำนวนมากและหลาย ๆ ตัวนั้นก็เป็นตัวเดียวกับที่ “เซียน VI” ชื่อดังและ “พอร์ตใหญ่” ของตลาดหุ้นไทยถือ

ข้อ 3 ช่วงที่บูมสุดขีดของ Tiger Fund น่าจะประมาณปี 1994-1998 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของกองทุนนั้น ดัชนีดาวโจนวิ่งขึ้นไปเป็น “กระทิง” คือขึ้นไปจากประมาณ 3,600 จุด เป็น 9,000 จุดเป็นการปรับตัวขึ้นไป 149% หรือเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 26% ในเวลา 4 ปี เป็น ปีทองของตลาดหุ้นและน่าจะเป็น “ปีทองของหุ้น VI” ในอเมริกา

กองทุนต้นโพธิ์เองนั้น วันที่ก่อตั้งดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 700 จุด และในช่วงที่เป็น “ยุคทองของ VI” คือหลังจากปี 2551 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม และดัชนีหุ้นตกลงมาถึงประมาณ 400-500 จุดแล้วก็เด้งขึ้นอย่างแรงติดต่อกันประมาณ 4 ปี จนถึงปี 2556 ที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 1,600 จุด เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 300% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 34% และนั่นก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้กองทุนต้นโพธิ์เติบโตโดดเด่นที่สุด เช่นเดียวกับนักลงทุน VI ส่วนบุคคลที่ร่ำรวยและหลายคนกลายเป็น “เซียน VI” ในยุคนั้น

ข้อ 4 กองทุน Tiger ล่มสลายในปี 2000 ต่อ 2001 โดยที่เป็นปีวิกฤติหุ้นไฮเท็ค อย่างไรก็ตาม กองทุน Tiger นั้นเป็นกองทุน “VI” และก็ถือหุ้นไฮเท็คน้อยและไม่ได้ขาดทุนหนักจากไฮเท็ค แต่ประสบกับปัญหาความผิดพลาดครั้งใหญ่ในการลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งถือหุ้น US Airways ซึ่งเป็นสายการบินจำนวนมหาศาลถึง 25% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทและหุ้นตัวนั้นประสบปัญหาใหญ่ล้มละลายในที่สุด และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ขาดทุนจากค่าเงินเยนซึ่งช่วงนั้นผันผวนหนัก

 กองทุนต้นโพธิ์นั้น ผมเชื่อว่ามีการลงทุนแบบ VI ที่ “Focus” มาก คือถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ตัวและมีสัดส่วนมากของพอร์ต นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ “เซียน VI” แทบทุกคนในประเทศไทยใช้ ซึ่งก็ทำให้หลายคน “รวยไปเลย” ในยามที่บรรยากาศของการเก็งกำไร “ร้อนแรงเป็นไฟ” อย่างที่เห็นในช่วงหลายปีก่อนจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้

ข้อ 5 เมื่อปิดกองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหรือ NAV ของกองทุน Tiger ลดลงมากมาย เหลือแค่ 1.3 พันล้านเหรียญ ทำให้คนถือหน่วยขาดทุนอย่างหนักจากที่กองทุนเคยมีกำไรสูงถึง 2 พันล้านเหรียญในช่วงเวลาหนึ่ง และนั่นก็คือ “หายนะ” ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

กองทุนต้นโพธิ์นั้น ดูเหมือนว่าการปิดกองทุนเป็นไปอย่างช้า ๆ และน่าจะมีการคิดคำนึงมานานพอสมควรว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่ตลาดหุ้นไม่ได้ไปไหนมานานและโอกาสที่จะดีขึ้นนั้นน้อย ดังนั้น การลงทุนต่อไปก็คงจะไม่เกิดผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งก็รวมถึงผู้บริหารและครอบครัวด้วย ดังนั้น มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิที่เหลืออยู่ตามข่าวที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากที่ผมคาดเดาว่าน่าจะเคยอยู่ถึงหลักเกือบหมื่นล้านบาทจึงน่าจะพูดได้ว่าไม่ถึงกับ “หายนะ” และก็ยังน่าจะสูงกว่าเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในวันแรกเมื่อประมาณ 19-20 ปีที่แล้ว

เม็ดเงินที่ “หายไป” นั้น ผมไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่ก็คาดว่าเป็นการผิดพลาดในการลงทุนครั้งใหญ่ในหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัว ซึ่งมาพบภายหลังว่าหุ้นอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดและเมื่อยุคของ “การเก็งกำไรในหุ้น VI” ที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายปีจบลง คอร์เนอร์หุ้น “แตก” การขาดทุนก็รุนแรงมากและดูเหมือนว่าจะฟื้นตัวได้ยาก พอร์ตจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และสถานการณ์การลงทุนแบบเดิมคงไม่กลับมาอีก หนทางที่ดีที่สุดคือการปิดตัวลง

ข้อ 6 ผู้บริหารกองทุน Tiger คือ Robertson ไม่ได้ “เจ๊ง” ตามกองทุนไปด้วย เขายังมีเงินส่วนตัวที่ได้รับจากการบริหารกองทุนเกือบทุกปี ว่าที่จริง ในรอบ 20 ปีนั้น มีเพียง 4 ปีที่พอร์ตลงทุนขาดทุน ดังนั้น เขาคงได้ส่วนแบ่งกำไรมาค่อนข้างมาก และดังนั้นเขาก็ “สู้ต่อ” โดยการสนับสนุนลูกน้องในบริษัทออกไปตั้งกองทุนหลาย ๆ กองที่ต่อมาเรียกว่า “กองทุนลูกเสือ” หรือ “Tiger Cub” โดยที่เขาเข้าไปร่วมลงทุนและเป็นที่ปรึกษาในบริษัทจัดการกองทุนแต่ละบริษัทด้วย

 กองทุน “ลูกเสือ” เหล่านั้นยังใช้หลักการแบบ VI ตามกองทุนเสือหรือ Tiger Fund หลาย ๆ กองประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ตัว Julian Robertson เองก็ยังบริหารเงินของตนเอง อาจจะผ่านกองทุนลูกเสือด้วย และก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนอย่างสูง ก่อนตายเขามีความมั่งคั่งประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญหรือ 170,000 ล้านบาท ไม่นับเงินที่บริจาคไป 2 พันล้านเหรียญ และเขารอดจากหายนะในวิกฤติซับไพร์มปี 2008

Robertson คล้ายกับนักลงทุนในตำนานคนอื่น เช่นบัฟเฟตต์ที่รักการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ เขาเริ่มสนใจในหุ้นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ตายเมื่ออายุ 90 ปีและกลายเป็น “ตำนาน” ของเฮดจ์ฟันด์ซึ่งเริ่มดังและเป็นที่นิยมในปี 1986 หลังจาก “Institutional Investor” วารสารนักลงทุนชื่อดัง ลงบทความผลงานสุดยอดของไทยเกอร์ฟันด์

ผมไม่รู้ว่าผู้บริหารของกองทุนต้นโพธิ์จะทำอะไรต่อไป ถ้าให้ผมทาย ก็คงต้องลงทุนต่อไป เพราะ “คนที่เกิดเป็นนักลงทุนแล้ว ก็ต้องเป็นนักลงทุนต่อไป” เพียงแต่อาจจะต้อง “เปลี่ยนกลยุทธ์” แต่ก็คงไม่เปลี่ยนปรัชญาหรือแนวทางหลักที่เคยใช้มานาน 
 ในกรณีของ Robertson สิ่งที่เขาเปลี่ยนนั้น น่าจะอยู่ที่การจัดการกับ “ความเสี่ยง” ที่จะยอมรับได้ในการลงทุน เพราะในอดีตที่แทบจะฆ่าเขานั้น ก็เป็นเพราะว่าเขาอาจจะมั่นใจอะไรมากเกินไปในความสำเร็จของตนเองจนทำให้ไม่ได้คิดหรือตระหนักถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แม้ว่าโอกาสจะน้อยนิดแค่ไหนก็ตาม

และทั้งหมดนั้นก็เป็นบทเรียนให้กับนักลงทุน VI ที่เป็นบุคคลธรรมดาด้วยเช่นกันที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุนเท่า ๆ กับหรือมากกว่าผลตอบแทนที่ดีเลิศที่มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงลิ่ว

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/ ... nt/1111603
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Feb 12, 2024 1:48 pm
by thanonlongtun_p
มหัศจรรย์ตลาดหุ้นอินเดีย

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 10 ก.พ. 2567 

คงไม่รีบร้อนหรือกลัวว่าจะ “ตกรถ” ขบวน "อินเดีย" ที่วิ่งมาอย่างเร็วมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ เพราะถ้าตัดสินใจผิด ก็อาจจะหกล้มถลอกปอกเปิกได้

ถ้าจะหาตลาดหุ้นที่มีโอกาสเติบโตระยะยาวเป็น 10 ปี ขึ้นไป นอกจากตลาดหุ้นเวียดนามที่ผมพูดและลงทุนมานานแล้วก็คือ ตลาดหุ้นอินเดีย 

เพราะประเทศอินเดียนั้น มีองค์ประกอบทุกอย่างที่จะทำให้ตลาดหุ้นเติบโตระยะยาว เรื่องแรกก็คือ อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก คือเป็นอันดับ 5 รองจากสหรัฐอเมริกา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น


ดังนั้น จึงมีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่จะมีความสามารถและมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างน้อยก็ในประเทศ ซึ่งทำให้เราสามารถเลือกลงทุนในบริษัทเหล่านั้นได้ข้อสอง เศรษฐกิจอินเดียกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและก็เติบโตมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้วและก็จะเติบโตต่อไปอีกเป็นสิบ ๆ ปี เหตุก็เพราะว่าอินเดียมีปัจจัยหรือทรัพยากรในการเติบโตที่ครบถ้วนและจะอยู่ต่อไปอย่างน้อยสิบปีขึ้นไปนั่นก็คือ

1. อินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และการเพิ่มของประชากรก็ยังค่อนข้างจะสูงมาก และคนอินเดียโดยเฉลี่ยก็ยังอายุน้อยมาก ดังนั้น กำลังแรงงานของอินเดียที่จะเป็นคนทำงานเพิ่มการผลิตหรือเพิ่ม GDP ก็จะสูงมาก ว่าที่จริงถ้ามองย้อนหลังไป 20 ปี เศรษฐกิจอินเดียเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 6.4% ซึ่งรวมถึงปีซับไพร์มและช่วงปีโควิด 19 แล้ว

2.แม้ว่าคุณภาพของคนอินเดียโดยเฉลี่ยนน่าจะเป็นรองประเทศในย่านเอเซียตะวันออกอย่างจีนเกาหลีและญี่ปุ่น แต่การเพิ่มผลิตภาพหรือความสามารถในการทำงานโดยเฉพาะในช่วงที่รายได้ต่อหัวของคนยังน้อยก็น่าจะทำได้ดี เฉพาะอย่างยิ่งโดยการเพิ่ม “ทุน” เช่นเครื่องจักรและอุปกรณ์เข้าไปในการผลิตก็จะสามารถเพิ่ม Productivity หรือผลิตภาพของคนได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเติบโตของ GDP ก็จะเป็น “สองเด้ง” คือเพิ่มทั้งคนและประสิทธิภาพไปได้อีกนาน

3.ระบบการปกครองและด้านการบริหารเศรษฐกิจของอินเดียนั้น เอื้ออำนวยกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ข้อแรกก็คือ ประเทศเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมืองสูงมานานพอสมควร ที่สำคัญอินเดียเริ่มเปิดกว้างหรือปฏิรูปทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1991 โดยที่ก่อนหน้านั้นอินเดียจะใช้หลักการผลิตเองและใช้เองในประเทศเป็นหลักซึ่งก็ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาไปได้

หลังจากปี 1991 เศรษฐกิจของอินเดียก็เริ่มเติบโตดีขึ้นในระดับประมาณปีละ 4-5% และก็เร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี 2003 ที่น่าจะถึง “ยุคทองของอินเดีย” เศรษฐกิจเริ่มปรับฐานเป็นโตปีละประมาณ 8% ไม่นับปีวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดบ้าง แต่หลังจากนั้น ส่วนใหญ่ก็แค่ปีสองปี ก็จะกลับมาโตระดับ 7-8% ขึ้นไปตลอดจนถึงนาทีนี้ที่อินเดียอาจจะกำลัง “ท้าทายจีน” โดยเฉพาะเมื่อจีนก็เริ่มจะถึงจุด “อิ่มตัว” จากการที่คน “แก่ตัว” และมีจำนวนลดลงในช่วงเร็ว ๆ นี้

ดัชนีตลาดหุ้นอินเดีย ซึ่งก่อตั้งมานานมากแล้วนั้น หลังจากที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2003 ดัชนีตลาดหุ้นอินเดียก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับประมาณ 3,200 จุดที่นิ่งมา 5-6 ปี ก็วิ่งขึ้นแบบ “ติดจรวด” ถึงประมาณ 20,000 จุด ในช่วงเวลาประมาณ 4-5 ปี ในช่วงปลายปี 2007

ก่อนที่จะร่วงลงมาอย่างแรงในช่วงวิกฤติซับไพร์ม ปี 2008 เหลือประมาณ 9,000 จุด หรือลดลง 55% ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากหุ้นโลกมากนัก อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาเพียงปีเดียว ดัชนีก็กลับไปที่เดิม

และหลังจากนั้น หุ้นก็แทบจะวิ่งขึ้นไปแบบ “ม้วนเดียวจบ” เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 15 ปีเต็มที่ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปถึงประมาณ 71,600 จุดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 โดยในช่วงเวลานั้นรวมถึงวิกฤติโควิด 19 ที่ทำให้หุ้นตกลงมา 33% ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ถึงปีด้วย

โดยสรุปแล้ว ตั้งแต่ปี 2003 ที่เป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงของอินเดียจากเศรษฐกิจปิดเป็นเศรษฐกิจเปิดและถือเป็นการเริ่ม “ยุคทอง” ของอินเดียคิดเป็นเวลาประมาณ 20 ปี ดัชนีหุ้นอินเดียปรับตัวขึ้นจาก 3,200 จุด เป็น 71,600 จุด เพิ่มขึ้น 21 เท่าตัว หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 16.2% ต่อปี ถ้ารวมปันผลที่สมมุติว่า 3% ก็เท่ากับประมาณ 19% ต่อปีแบบทบต้น และน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ดีระดับต้น ๆ ของโลกที่น่าจะหาได้ยากมาก

และถ้านับตั้งแต่ต้นปี 2009 คือช่วงที่เกิดซับไพร์มและดัชนีหุ้นตกลงมาเหลือ 8,300 จุด จนถึงวันนี้ที่ 71,600 จุด ดัชนีก็ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 15.3% หรือถ้ารวมปันผลก็ปีละไม่ต่ำกว่า 18% ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนระดับโลกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงตลาดหุ้นอินเดีย บางคนก็อาจจะดูว่าอินเดียทั้งประเทศนั้น “ใหญ่เกินไป” ในขณะที่หุ้นทั้งตลาดของอินเดียนั้นอาจจะมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องน้อยเกินไป การลงทุนทั้งตลาดน่าจะมีความเสี่ยงสูง

ดังนั้น เราคงต้องมาดูเฉพาะกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดียที่มีสภาพคล่องสูงเช่นเดียวกับการบริหารงานของบริษัทที่มีมาตรฐาน และนั่นนำมาสู่การสร้างและลงทุนในดัชนีหุ้นเฉพาะกลุ่มที่รู้จักกันในนามของหุ้น “NIFTY 50” ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 50 ตัวของตลาดหุ้นอินเดียที่มีการปรับน้ำหนักตาม Free Float หรือสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นด้วย

ดัชนี NIFTY 50 ในวันหลังจากปีซับไพร์มคือต้นปี 2009 อยู่ที่จุดต่ำสุดประมาณ 2,620 จุด แต่หลังจากนั้นมันก็ปรับตัวขึ้นแบบ “ม้วนเดียวจบ” จนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2524 ขึ้นไปเป็น ประมาณ 21,700 จุด ปรับขึ้นไปประมาณ 7 เท่า หรือขึ้นไป 15.1% ต่อปีแบบทบต้น ซึ่งถ้ารวมปันผลซัก 3% ต่อปีก็จะเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ปีละ 18% เป็นเวลาติดต่อกันถึง 15 ปี นับว่าเป็นผลตอบแทนที่ “ดีสุดยอด” ระดับต้น ๆ ของโลก
 ที่ยอดเยี่ยมกว่าตลาดหรือดัชนีอื่นนั้น ผมคิดว่ายังอยู่ที่ความสม่ำเสมอของผลตอบแทนที่จะเป็นตัวบอกถึงความเสี่ยงของการลงทุนก็คือ ผลตอบแทนรายปีของ NIFTY 50 นั้น มีความผันผวนน้อยมาก และปีที่ติดลบหรือขาดทุนตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบันจำนวน 15 ปีนั้น มีเพียง 2 ปี และปีที่ขาดทุนสูงสุดนั้นก็เพียง 24.6% ในปี 2011

ขณะที่อีกปีที่ขาดทุนในปี 2015 ก็ติดลบเพียง 3.8% ว่าที่จริงถ้ามองย้อนหลังไปไกลถึงปี 2003 ที่เริ่ม “ยุคทองของตลาดหุ้นอินเดีย” นั้น จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 21 ปี ดัชนี NIFTY 50 ติดลบเพียง 3 ปี เท่านั้น คือเพิ่มปีวิกฤตซับไพร์ม 2008 เข้าไปอีกปีหนึ่ง

ทั้งหมดนั้นก็เป็น “ข้อมูลใหม่” ของผมที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยสนใจตลาดหุ้นอินเดีย เพราะผมคิดว่าอินเดียยัง “ยากจนเกินไป” ที่จะเหมาะสมกับการลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นโลกของประเทศที่ต้อง “ร่ำรวยระดับหนึ่ง” ก่อนที่ตลาดหุ้นจะพัฒนาขึ้นถึงระดับที่ลงทุนได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คนจะต้องรวยพอที่จะมีเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องเป็นราว อย่างสำนวนไทยที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น”

อย่างไรก็ตาม อินเดียอาจจะเป็นประเทศที่มีความแตกต่างของความมั่งคั่งของคนมาก และเนื่องจากมีประชากรมาก ดังนั้น คงจะมีคนอินเดียที่ร่ำรวยพอที่จะลงทุนจำนวนเป็นล้าน ๆ หรือเป็นหลายร้อยล้านคนที่เรียกว่าเป็น “คนชั้นกลาง” ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ตลาดหุ้นคึกคักอย่างที่กำลังเป็นอยู่

ดังนั้น ผมอาจจะต้องเริ่มคิดว่า อินเดียอาจจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่เป็นเป้าหมายให้เข้าไปลงทุนได้เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่ผมกำลังศึกษาอยู่

สุดท้ายก็คือ ผมก็คงไม่รีบร้อนหรือกลัวว่าจะ “ตกรถ” ขบวนอินเดียที่วิ่งมาอย่างเร็วมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ เพราะถ้าตัดสินใจผิด ก็อาจจะหกล้มถลอกปอกเปิกได้ ผมชอบลงทุนเวลาที่ทุกอย่างเย็นลงและคนไม่สนใจจะไปหรือกำลังกลัวว่ารถจะตกเหว เพราะในเวลาอย่างนั้น “ตั๋วชั้นหนึ่ง” ที่จะไปก็จะลดราคาและถูกลงมาก

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1112613
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Mar 11, 2024 3:45 pm
by thanonlongtun_p
นักเก็งกำไรตายแล้ว?

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 10 มี.ค. 2024

"นักเก็งกำไร" ไม่มีทางที่จะหายไปหมดและในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นใจ ว่าที่จริงช่วงนี้ก็ยังมีหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่ “ยั่วเย้า” ให้คนเข้ามาเก็งกำไร

เมื่อตลาดหุ้นปิดในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ผมนั่งดูดัชนีตลาดหุ้นไทย ปริมาณการซื้อขายหุ้นและหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 10 ตัวแรก-ตามปกติ ผมก็ฉุกคิดขึ้นมาว่ามีอะไรบางอย่างที่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับตลาดหุ้นไทยในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวหรือไม่ตระหนัก และผมก็เริ่มที่จะคิดว่านี่คือสถานการณ์ที่ นักลงทุนหรือถ้าจะเรียกว่านักเก็งกำไรน่าจะถูกต้องกว่า “กำลังหมดหวังและหมดกำลังใจ” กับตลาดหุ้นไทยอย่างรุนแรงและได้แสดงออกผ่านตัวเลขและข้อมูลหลาย ๆ อย่างดังต่อไปนี้

แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2567 จะปรับตัวขึ้นแรงประมาณ 1% เป็น 1,386 จุด แต่ปริมาณการซื้อขายหุ้นทั้งวันอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาทเศษ และนั่นก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตเมื่อซัก 3-4 ปีก่อน

ที่ถ้าดัชนีขึ้นแรงขนาดนั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็มักจะขึ้นไปแตะระดับ “แสนล้านบาท” เพราะแรงเก็งกำไรที่เข้ามาเล่นหรือซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะจากนักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและ “รายใหญ่” ที่ซื้อขายหุ้นต่อวันเป็นระดับร้อยหรือหลายร้อยบาทในเวลาเพียง 1 วันแต่ในวันที่ 8 นั้น ดูเหมือนว่าคนที่เข้าไปซื้อหุ้นส่วนใหญ่คือนักลงทุนต่างชาติที่ในช่วงหลัง ๆ กลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาดหุ้นไทย ที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นรวมมากกว่า 50% ของตลาด และในวันที่ 8 นั้น พวกเขาซื้อหุ้นสุทธิเป็นจำนวนประมาณ 1,600 ล้านบาท จากที่ในระยะหลัง ๆ จะเป็นผู้ขายสุทธิเป็นส่วนใหญ่ และทำอย่างนั้นมาเป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว

ดังนั้น การซื้อสุทธิแค่ 1,600 ล้านบาท ก็อาจจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปได้ถึง 1% อย่างง่าย ๆ  การที่หุ้นขึ้นไปแรงถึง 1% ในวันเดียวนั้น ในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเต็มไปด้วยนักเก็งกำไรส่วนบุคคลทั้งรายใหญ่และรายย่อย

หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรก ก็มักจะประกอบไปด้วย “หุ้นที่กำลังมีการเก็งกำไรร้อนแรง” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นที่กำลังมีการ “Corner” โดยเฉพาะจาก “เซียนหุ้นรายใหญ่” ที่เข้าไปเล่นหุ้นที่มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น ทั้งผลประกอบการที่โตดีมากและกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งจากธุรกิจเดิมและการเทคโอเวอร์ “ธุรกิจแห่งอนาคต” หรือการขยายสู่ตลาดต่างประเทศ “ระดับโลก” ที่จะเปลี่ยนบริษัทกลายเป็น Global หรือ Regional Player คือเป็นบริษัทระดับโลกที่จะมีมูลค่าหรือ Market Cap ระดับ “แสนล้านบาท” 

เช่นเดียวกัน หุ้นที่เพิ่งจะ IPO เข้าซื้อขายในวันแรกก็มักจะ “ร้อนแรงเป็นไฟ” ไม่ว่าบริษัทจะทำอะไร ขอให้เป็นหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นที่กระจายในตลาดหุ้นน้อยและเจ้าของพร้อมที่จะเข้ามาเล่นด้วย ก็จะมีปริมาณการซื้อขายหุ้นติด 1 ใน 10 อันดับอย่างแน่นอน เพราะนักเก็งกำไรส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็จะเข้ามาเล่นหุ้นที่ “การันตี” ถึง “ความผันผวนสุดยอด” ที่จะทำให้ได้เสียกันอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว

แต่ข้อมูลหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับของวันที่ 8 นั้นก็คือ หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของ Market Cap ของตลาดหลักทรัพย์แทบทั้งหมด ไม่มี “หุ้นเล็ก” ที่มี Market Cap ต่ำกว่าแสนล้านบาทติดอันดับเลย

ในขณะที่ในอดีตที่การเก็งกำไรของตลาดหลักทรัพย์ร้อนแรงมากนั้น แทบทุกวันจะมีหุ้นตัวเล็กและขนาดกลางที่มีการเก็งกำไรสูงหรือหุ้นที่กำลังถูก Corner ติดอันดับ Top Ten ถึง 4-5 ตัวเป็นประจำ

ซึ่งก็เป็นการแสดงว่า นักเก็งกำไรทั้งรายย่อยและรายใหญ่หายไปจากตลาดหุ้น หรือไม่ก็ได้แต่นั่งดูเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลก็อาจจะเป็นว่า ในระยะหลัง อาจจะ 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเข้าไปเล่นเก็งกำไรแล้วก็ขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ พอขาดทุนซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็หมดหวังและทยอยเลิกเล่น
 และสิ่งนี้อาจจะไม่ได้เกิดเฉพาะนักเล่นรายย่อย แต่เกิดขึ้นกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ด้วย เพราะความเป็นจริงก็คือ การเล่นหุ้นที่ราคาหุ้นไม่ปรับตัวขึ้นเลยนั้น รายใหญ่ก็ต้องพยายาม “กินรายย่อย” และเมื่อรายย่อย “ตาย” รายใหญ่ก็อยู่ยาก

ดัชนี MAI ซึ่งเป็นระดับราคาของหุ้นตัวเล็กที่เป็นกลุ่มหุ้นที่นักเก็งกำไรชอบเล่นเพราะสามารถทำราคาขึ้นไปได้สูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าได้นั้น ในวันที่ 8 อยู่ที่ 410 จุด และถือเป็นจุดที่ต่ำมากและเป็นระดับที่ลดลงมาเรื่อย ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 3-4 ปีมาแล้ว ว่าที่จริง ดัชนี MAI เมื่อประมาณ 9 ปีมาแล้วนั้นเคยสูงถึงเกือบ 800 จุด ซึ่งเท่ากับว่าในเวลา 9 ปี ราคาเฉลี่ยหุ้นขนาดเล็กใน MAI ลดลงมาเกือบ 50%

ทั้ง ๆ ที่เมื่อ 3-4 ปีก่อนหุ้น MAI ก็ยังร้อนแรงมาก ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเมื่อเทียบกับขนาด Market Cap ของตัวเองก็สูงลิ่ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ดูเหมือนว่านักเก็งกำไรจะ “ถอดใจ” แล้วกับหุ้น MAI

หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดกลางหรือใหญ่ที่ครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 ปีมาแล้วเป็น “หุ้นนางฟ้า” Market Cap เคยวิ่งขึ้นไปแตะระดับ “แสนล้านบาท” ช่วงนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเหงาหงอยมาก ราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีจนราคา “แทบจะกลับมาที่เดิม”ก่อนที่จะขึ้นแบบติดจรวดในยามที่นักเก็งกำไรอยู่กันเต็มตลาดหุ้น

หุ้นนางฟ้าแทบทุกตัวทยอยปรับลง 30-50% จากจุดสูงสุดหรือมากกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่บางตัวบริษัทก็ยังมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ว่ากำไรที่เพิ่มจะลดลงเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ค่า PE ที่เคยสูงลิ่วเกิน 40-50 เท่า เพราะคนคิดว่าเป็นหุ้นเติบโตหรือเป็น “ซุปเปอร์ตสต็อก” นั้น ทยอยปรับตัวลงเรื่อย ๆ จนอาจจะเหลือแค่ 15-20 เท่า เพราะคนเริ่มรู้สึกว่าหุ้นไม่ได้โตเร็วจริงหรือไม่ได้เป็นซุปเปอร์สต็อก แต่เป็นหุ้นธรรมดาที่บังเอิญโตเร็วในช่วงเวลาหนึ่งก่อนหน้านี้ และตอนนี้เริ่มไม่โตแล้ว และก็ไม่ได้แข็งแกร่งหรือยิ่งใหญ่อะไรแบบหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกจริง ๆ

ดังนั้น คนก็ทยอยขายหุ้นนางฟ้าจนทำให้เป็นหุ้น “ตกสวรรค์” และคนที่เข้าไปรับก็รับจน “หมดศรัทธา” และเลิกเล่นหุ้นเหล่านั้น เพราะบางวันหุ้นก็เด้งขึ้นแรง แต่แล้วก็ตกกลับลงไปใหม่มากกว่าเดิมทุกครั้ง

อาการนักเก็งกำไร “หายไปจากตลาด” นั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะในตลาดหุ้น เหตุเพราะว่าช่วงนี้ ตราสารหรือเครื่องมือเก็งกำไรที่เคยร้อนรุนแรงเมื่อ 3-4 ปีก่อน เฉพาะอย่างยิ่งทองคำและบิตคอยน์ซึ่ง “คนทั้งเมือง” โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่างก็เข้าไปเก็งกำไร เพราะคิดว่ามันคือ “เงินแห่งอนาคต” และราคาบิตคอยน์ขึ้นไปถึงกว่า 2 ล้านบาทต่อหนึ่งบิตคอยน์ ซึ่งก็ตกลงมาถล่มทลายเหลือเพียง 5 แสนกว่าบาทในเวลาไม่นาน ทำให้นักเก็งกำไรเจ๊งกันเป็นแถวและเลิกพูดถึงบิตคอยน์ไปนาน

แต่แล้ว ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์ก็กลับพุ่งขึ้นมาใหม่อย่างรุนแรงและราคากลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อ 1 บิตคอยน์ เช่นเดียวกัน ทองคำที่คนเลิกพูดถึงไปนานก็มีราคาพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเช่นกันที่ประมาณบาทละ 35,000 บาท

ซึ่งถ้าเป็นช่วงหลายปีก่อน นักเก็งกำไรก็คงจะป่าวร้องเชียร์กันอื้ออึงว่าเป็น “ยุคใหม่แห่งการลงทุน” ไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “ความเงียบ” คนพูดถึงกันน้อยมาก บางทีอาจจะเป็นเพราะนักเก็งกำไร “ตายไปแล้ว” ไม่มีใครไปซื้อบิตคอยน์และทองคำก่อนหน้านี้ ไม่มีใครกำไรเป็นเรื่องเป็นราวจากการขึ้นของบิตคอยน์และทองคำงวดนี้ พวกเขาอาจจะ “หมดศรัทธา” ไปก่อนหน้านี้แล้ว

แน่นอนว่านักเก็งกำไรไม่มีทางที่จะหายไปหมดและในที่สุดก็ต้องกลับมาใหม่โดยเฉพาะเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นใจ ว่าที่จริงช่วงนี้ก็ยังมีหุ้นตัวเล็ก ๆ ที่ “ยั่วเย้า” ให้คนเข้ามาเก็งกำไร และแน่นอนว่ามีทองคำและบิตคอยน์ที่กำลังร้อนแรงและก็อาจจะเริ่มกระตุ้นให้นักเก็งกำไรกลับมาเล่นใหม่

แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จแค่ไหน เพราะบทเรียนที่นักเก็งกำไรได้รับจากตลาดในช่วงที่ผ่านมานั้นค่อนข้างจะรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานจนคน “เข็ด” และคงต้องใช้เวลาก่อนที่จะฟื้น หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องมีนักเก็งกำไรรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในกิจกรรมที่ติดอยู่ในตัวของมนุษยชาติตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นี้

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1117003
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Mar 18, 2024 5:13 pm
by thanonlongtun_p
การปรับพอร์ตหุ้น

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 17 มี.ค. 2024

การปรับพอร์ตครั้งนี้ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อีก โดยเฉพาะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของภาษีและกฎเกณฑ์การลงทุนของไทยซึ่งอาจจะกระทบกับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ตั้งแต่เป็นนักลงทุนเต็มตัวแบบ VI หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ผมก็ใช้พอร์ตลงทุนแทบจะ “แบบเดียว” มานานมากแทบจะเกือบ 20 ปี นั่นก็คือ ลงทุนเฉพาะในหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเป็นการลงทุนเกือบ 100% แทบจะตลอดเวลา วิธีการลงทุนก็คือการเลือกหุ้นเป็นรายตัวแบบ “VI” พอร์ตเป็นแบบ “Focus” หรือเน้นการถือหุ้นน้อยตัว

โดยที่หุ้นตัวใหญ่ ๆ จะมีแค่ 6-7 ตัว ซึ่งคิดรวมกันเป็นประมาณ 75% ของพอร์ต ที่เหลือซึ่งก็มีไม่เกิน 10 ก็จะเป็นหุ้นตัวเล็กที่ไม่มีนัยสำคัญกับผลการดำเนินงานของพอร์ตลงทุน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงบ้าง หุ้นตัวที่ใหญ่ที่สุดของพอร์ตก็จะไม่เกิน 50% ของพอร์ตในระยะยาวเกิน 4-5 เดือน โดยทั่วไปแล้ว ตัวใหญ่ที่สุดก็มักจะไม่เกิน 30-40% และหุ้นตัวใหญ่อันดับ 2 ก็มักจะใหญ่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของตัวแรก

แนวทางการจัดพอร์ตแบบนั้น ได้ผลดีมากมาจนถึงประมาณเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นไทย และเฉพาะอย่างยิ่งหุ้น VI ที่เป็นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” เริ่มทำผลงานตกต่ำลงมากและอนาคตก็ดูไม่สดใสตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ถดถอยลงเพราะโรคโควิด-19 และการที่คนไทยแก่ตัวลงมาก ซึ่งส่งผลให้หุ้นของบริษัทที่แข็งแกร่งและโดดเด่น ไม่ไปไหนมานานต่อเนื่อง

และผมก็สรุปว่า การจัดพอร์ตลงทุนแบบเดิมที่ใช้มานานนั้น อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป และถ้ายังดึงดันทำแบบเดิมอยู่ ผลตอบแทนการลงทุนที่เคยทำได้ดีมาก ก็จะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ว่าที่จริงช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ผลตอบแทนพอร์ตก็ค่อนข้างย่ำแย่และไม่ได้ดีกว่าดัชนีตลาดมากนัก

การ “จัดพอร์ตใหม่” ของผมเริ่มจากการมองหาตลาดหุ้นใหม่ที่จะลงทุนควบคู่ไปกับตลาดหุ้นไทย โดยที่ตลาดใหม่จะต้องเป็นตลาดของประเทศที่โตเร็ว และมีความพร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องเป็นตลาดที่จะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งก็หมายถึงว่าควรจะมีประชากรจำนวนมากพอสมควร อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ควรจะอยู่ไม่ไกลจากไทยนัก และผมก็พบว่า “เวียดนาม” คือคำตอบ

การปรับพอร์ตโดยการเพิ่มการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ในช่วงแรก เนื่องจากยังไม่รู้จักหุ้นรายตัวของเวียตนามเลย ว่าที่จริงยังแทบจะไม่มีนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในเวียดนามเลย

ผมจึงปรับแนวทางการลงทุนในพอร์ตเวียดนามเป็นแบบ เลือกหุ้นโดยใช้ “สูตร VI” ของ Joel Greenblatt ในหนังสือ “The little book that beats the market” ซึ่งอ้างว่าสามารถทำผลตอบแทนที่ชนะตลาดได้อย่างงดงาม

รอบแรกของการลงทุนในเวียดนาม ผมใช้เกณฑ์หาหุ้นที่มีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ไม่เกิน 1 และค่า Dividend Yield ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี ซึ่งได้หุ้นมากว่า 100 ตัว เป็นตัวเล็ก ๆ ที่มีแต่คำว่าหุ้นถูกเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีคุณภาพและมักจะไม่โต เป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจขนาดเล็ก สภาพคล่องน้อยมาก ผมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการสร้างพอร์ตนี้

มองย้อนหลังไปผมคิดว่าการปรับพอร์ตครั้งนี้ อาจจะถูกต้องในแง่ของตลาดหุ้น แต่กลยุทธ์ที่ใช้ในการเลือกหุ้นลงทุนนั้นผิดพลาดอย่างแรง ผมคิดว่าในตอนนั้นผมรีบร้อนเกินไป และเชื่อในหลักการหรือสูตรการลงทุนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะมีการศึกษาที่เป็นที่ยอมรับ ว่าที่จริงผมเองก็เคยทำการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไทยย้อนหลังไปหลายสิบปี

ซึ่งพบว่า การลงทุนโดยใช้ “สูตร VI” นั้น ได้ผลตอบแทนที่ดีเลิศยิ่งกว่าการลงทุนในซุปเปอร์สต็อกด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของการศึกษา หรือจุดอ่อนของสิ่งที่ผมทำก็คือ ผมไม่ได้ตระหนักว่า ผมจะต้องสามารถขายหุ้นในพอร์ตทุกสิ้นปีได้โดยที่ขายได้ในราคาตลาดที่เห็นด้วย และหลังจากนั้นก็ต้องซื้อหุ้นใหม่ตามสูตรเดิมด้วย ซึ่งผมก็ทำไม่ได้

ผม “ติดหุ้น” ตัวเล็ก ๆ ที่ซื้อตามสูตรแต่ขายไม่ได้เนื่องจากไม่ค่อยมีสภาพคล่อง และเมื่อไม่ได้ขายมันก็ค้างอยู่ในพอร์ตหลายปีโดยที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ผมแก้ไขหรือปรับพอร์ตเวียดนามมาหลายปี โดยการเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปและซื้อหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ผมเริ่มรู้แล้วว่ามันควรจะเป็นหุ้นตัวไหน เพราะตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนรุ่นใหม่เริ่มเข้าไปลงทุนมากขึ้นมาก เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ที่ออกมามากมาย

ล่าสุด ผมเริ่มปรับพอร์ตเวียดนามอีกครั้งหนึ่งโดยการทยอยขายหุ้นขนาดเล็กที่ผมคิดว่าไม่มีอนาคตในระยะยาวจนแทบจะหมด แน่นอนว่าผมต้องทำใจขายในราคาที่ไม่ดีเลยสำหรับหลาย ๆ ตัว เพราะผมทำอย่างรวดเร็วมาก ผมคิดว่า ในการปรับพอร์ตนั้น เราต้องทำตามหลักการ อย่าเสียดายสิ่งที่จะต้องเสียเป็น “ต้นทุน” ของการปรับพอร์ต มิฉะนั้นมันจะไม่สำเร็จ ในทำนอง “ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก” หรือ “เกลือ”

พอร์ตเวียดนามของผมถูกปรับจนเข้ารูปแบบที่ผมทำมาตลอดในประเทศไทยแล้ว นั่นคือ ประกอบไปด้วยหุ้นซุปเปอร์สต็อก 5-6 ตัวมีสัดส่วนมากกว่า 75% แล้ว

นอกจากนั้น เนื่องจากประเด็นเรื่องการเสียภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่งถูกนำมาใช้ ผมก็ยังได้ปรับพอร์ตหุ้นเวียดนามให้เข้าไปอยู่ในรูปบริษัทซึ่งจะเสียภาษีเพียง 20% แทนที่จะเป็นถึง 35% ในกรณีของบุคคลธรรมดาถ้ามีการนำเงินกลับประเทศไทย

การเก็บภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยังทำให้ผมคิดต่อไปว่า เราจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงความคิดที่ว่า ตลาดหุ้นไทยนั้น “หมดยุคไปแล้ว” ยังไงเราก็ต้องออกไปลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้นอีก ผมจึงคิดว่า พอร์ตในประเทศที่คิดเป็นเกือบ 70% ของความมั่งคั่งของผมนั้น ยังมากเกินไป ผมจึงวางแผนที่จะปรับในส่วนนี้โดยการลดขนาดลง อาจจะเหลือซัก 30-40% ละนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม

แต่การลงทุนในส่วนต่างประเทศใหม่นี้ ผมคงจะไม่นำมารวมในบริษัทที่ยังไงก็ยังเสียภาษีนิติบุคคลถึง 20% จากผลกำไรประจำปี ผมคิดว่าการนำไปลงทุนในกองทุนรวมไทยที่ไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หรือลงทุนใน DR ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในไทยที่เป็นตัวแทนหุ้นในต่างประเทศจะดีกว่า เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อกำไรและขายกองทุนหรือหลักทรัพย์นั้น เราจะไม่เสียภาษีเหมือนหุ้นที่เราไปลงทุนในต่างประเทศโดยตรง

การลงทุนในกองทุนและ DR ดังกล่าวนั้นมีข้อเสียอย่างหนึ่งก็คือ เราเลือกไม่ได้ว่าจะลงทุนหุ้นตัวไหน เพราะนั่นจะมาจากบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเสนอกองทุนรวมหรือสร้าง DR ขึ้นมา ซึ่งเขาก็จะต้องดูว่าจะมีคนสนใจมาลงทุนหรือซื้อขายไหม

อย่างไรก็ตาม ด้วยกฎหมายภาษีการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีการตีความเปลี่ยนไป โบรกเกอร์ก็อาจจะมีการเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่า มีหุ้นและกองทุนต่างประเทศประเทศเพียงพอที่ผมจะเลือกลงทุน

ดังนั้น พอร์ตการลงทุนที่สามของผม นอกจากพอร์ตหุ้นไทยและพอร์ตเวียตนามแล้วก็คือ พอร์ต “หุ้นต่างประเทศ” ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นหุ้นประเทศอื่น ๆ ยกเว้นเวียตนาม ก็จะกลายเป็น “พอร์ตระยะยาว” ของผม

โดยที่แต่ละพอร์ตก็อาจจะมีขนาดพอ ๆ กัน คือพอร์ตละ 30-40% ของความมั่งคั่ง และผมคิดว่า นี่จะเป็นพอร์ตที่เหมาะสมที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีพอใช้ อาจจะประมาณปีละ 10% แบบทบต้น และมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คนที่บริหาร ซึ่งวันหนึ่งก็ไม่ใช่เป็นผม อาจจะสามารถทำได้ไม่ยากนัก

แน่นอนว่า การปรับพอร์ตครั้งนี้ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อีก โดยเฉพาะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของภาษีและกฎเกณฑ์การลงทุนของไทย ซึ่งอาจจะกระทบกับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น อาจจะเปลี่ยนเป็นว่า หุ้นของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะลงทุนผ่านเครื่องมือหรือผลิตภัณฑ์อะไร ก็จะต้องเสียภาษีทั้งหมด เป็นต้น

หรือวันหนึ่ง อาจจะเป็นว่า การลงทุนในหุ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทยหรือต่างประเทศ หรือไม่ว่าจะลงทุนผ่านเครื่องมืออะไร ก็จะต้องเสียภาษีเท่ากันแบบของสหรัฐ ซึ่งก็คงจะเปลี่ยนแปลงเกมการลงทุนของเราอย่างสิ้นเชิง และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น ผมคิดว่า เป็นไปได้ เมื่อคำนึงถึงว่ารัฐบาลต้องการเงินเพื่อที่จะใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่รายได้และเศรษฐกิจกลับถดถอยลง

ถ้าถึงวันนั้น เราในฐานะ “นักเลือก” ก็จะต้องปรับตัวหรือปรับพอร์ตไปเรื่อย ๆ ทำสิ่งที่เหมาะสมสำหรับตนเอง และก็คงไม่เหมือนการปรับพอร์ตของผม ที่ตอนนี้กำลังพยายามลดพลังงานของการลงทุน

โดยเฉพาะการปรับให้เป็นการลงทุนจากที่เคยทำแบบ “Active” หรือทุ่มเทเลือกหุ้นรายตัว เป็น “Semi-Active” หรือเลือกประเทศและเลือกกองทุน มากกว่าการเลือกหุ้นรายตัว แล้วปล่อยให้กองทุนหรือหุ้นในประเทศเหล่านั้น “ดูแลตัวเอง” ในระยะยาว เราจะเข้าไปซื้อ-ขายน้อยมาก

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1118116
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Mar 25, 2024 5:43 pm
by thanonlongtun_p
เพลงรักนักลงทุน

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 24 มี.ค. 2024

นักลงทุนแต่ละคนนั้น ก็คล้าย ๆ จะเป็นทีมหรือแฟนคลับของกลุ่มหุ้นหรือตลาดหุ้นแต่ละแห่ง มีสังคมและเข้าสังคม รู้จักคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันและเชื่อในสิ่งเดียวกันหรือหุ้นกลุ่มหรือตัวเดียวกัน ดังนั้น ก็จะแพ้หรือชนะเหมือน ๆ กัน

เวลาไปงานชุมนุม งานเลี้ยงหรืองานพิธีต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยเพื่อนที่อยู่หรือเคยอยู่ในสถาบันเดียวกัน หรือเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน หรือเป็นเพื่อนในวงสังคมเดียวกัน หรืออยู่ในหมู่คนที่มีความสนใจหรือเป็นแฟนคลับอะไรบางอย่างเหมือนกัน เรามักอยากจะได้ฟังหรือได้ร้องเพลงที่เราชอบที่ทำให้เรามีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความสุข มีพลัง มีความหวังและมองโลกในแง่ดี

เพลงนั้นหรือเพลงเหล่านั้นก็คือเพลงที่มีความหมายและคนที่อยู่ในกลุ่มก็คิดและเชื่อแบบเดียวกัน ลองมาไล่ดูอย่างคร่าว ๆ ว่ามีงานชุมนุมอะไรบ้างที่มักจะมีการร้องเพลงและเพลงอะไรบ้างที่เป็นที่นิยมกันกว้างขวางต่อเนื่องยาวนาน

เริ่มตั้งแต่งานเลี้ยงศิษย์เก่าโรงเรียนและวิทยาลัยซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่ทำเหมือนกันหมด นอกจากเพลงประจำสถาบันแล้ว แต่ละแห่งก็อาจจะมีเพิ่มเพลง “ยอดนิยม” ที่มักจะมีและร้องกันเป็นประจำ อย่างของผมก็คือเพลง “ปราสาทแดง” ที่พูดถึงตึกสีแดงเก่าแก่ทรง “วินด์เซอร์” ที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสัญลักษณ์ของคณะ ทำเพลงและขับร้องโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่เด่นดังที่สุดสมัย 50 ปีก่อนตั้งแต่เด็ก ผมถูกสอนให้ร้องเพลง “สามัคคีชุมนุม” เวลาฝึกลูกเสือตั้งแต่ชั้นประถม ซึ่งก็เป็นเพลงเวอร์ชั่นภาษาไทยของ “โอลด์แลงไซน์” เพลงเก่าอายุกว่าสองร้อยปีที่เล่นหรือร้องกันทั้งโลกจนถึงวันนี้ เพลงนี้เป็นเพลงที่มักจะร้องกันวันสิ้นปีของฝรั่ง เป็นวันที่รำลึกถึงวันเก่า ๆ เพื่อนเก่า ๆ ที่ไม่ได้เจอกันนาน เป็นเพลงแห่ง “มิตรภาพ” และการทำความดี

อย่างเช่นคนทั้งโลกมาร่วมกันทำสิ่งที่ดี ๆ การช่วยคนอดหยากหิวโหย หรือช่วยกันรักษ์โลกอะไรแบบนั้นก็จะเปิดหรือร้องเพลง “Auld Lang Syne” นอกจากนั้น งานจบการศึกษาและรับปริญญาของสถาบันการศึกษาก็มักจะเปิดเพลงนี้ เช่นเดียวกับงานศพที่จะเป็นการรำลึกถึงเวลายาวนานที่ผ่านไปของเพื่อนและคนที่ตายอะไรแบบนั้น และก็ต้องถือว่าเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงยอดนิยมตลอดกาลเพลงหนึ่ง

เพลงการชุมนุมที่มีการเปิดหรือร้องกันหลาย ๆ เพลงมากก็คือ เพลงของการประท้วงต่อสู้โดยเฉพาะทางการเมืองและสังคม ถ้าพูดถึงการประท้วงทางสังคม เพลง “Imagine” ของจอนห์ เลนนอน วง The Beatles เป็นเพลงหนึ่งที่โด่งดัง โดยเฉพาะการประท้วงการทำสงครามและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ 

อีกเพลงหนึ่งที่ใช้กันพอสมควรในการประท้วงผู้เผด็จการทางการเมืองก็คือเพลงที่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ประท้วงรัฐบาลเมื่อ 3-4 ปีก่อน ซึ่งเป็นเพลงในละครบอร์ดเวย์ที่โด่งดัง “Les Miserables” เพลงชื่อ “Do You Hear The People Sing?” หรือ “คุณได้ยินเสียงร้องเพลงของประชาชนไหม?”

ในส่วนของเพลงไทยเองนั้น เพลงเก่าที่ใช้ในขบวนการประท้วงสมัย 14 ตุลาคม 2516 ก็ถูกนำมาร้องใหม่เช่นเดียวกันนั่นก็คือเพลง “สู้ไม่ถอย” แต่งโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เป็นผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้าย แต่กลับมาถูกใช้อีกครั้งโดยกลุ่ม กปปส. ที่เป็นผู้ประท้วงฝ่ายขวาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังถูกนำมาใช้อีกโดย “นักต่อสู้” คนรุ่นใหม่ เหตุผลอาจจะเพราะว่ามันเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองที่ปลุกใจให้ฮึกเหิมมาก ไม่ว่าคุณจะเป็นซ้ายหรือขวา

เพลงเพื่อสรรเสริญคนโดยเฉพาะคู่ชีวิตที่ตายไปแล้วในงานศพ ซึ่งก็เป็นที่นิยมมากในระยะหลัง ๆ นี้ก็คือ เพลง “Wind Beneath My Wings” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “Hero” หรือแปลว่า “ลมใต้ปีกของฉัน” หรือ “วีรบุรุษ” ขับร้องโดย “Bette Midler” นี่คือการบอกให้แขกรู้ว่า คนที่ตายคือผู้ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนตนเองทุกอย่างโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนอะไรทั้งสิ้น เป็นครั้งสุดท้าย..

งานแข่งขันกีฬาเป็นอีกการชุมนุมหนึ่งที่มักจะต้องมีการร้องเพลง ผมคงไม่พูดถึงเพลงเชียร์ที่มีความหลากหลายและเป็นเรื่องที่ร้องกันเฉพาะสถาบันหรือฝ่ายที่มีเพลงเชียร์ประจำทีม แต่เพลงที่เริ่มมีบทบาทขึ้นมาเป็น “เพลงชาติ” ของกีฬา อย่างฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ-อย่างไม่เป็นทางการ ก็คือเพลงที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการกีฬาเลยก็คือเพลง “Sweet Caroline” ขับร้องโดย “Neil Diamond”

หลังจากโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในอังกฤษและยุโรป Sweet Caroline ก็ข้ามไปดังในอเมริกา กีฬาหลาย ๆ ประเภทและหลาย ๆ ทีมเริ่มยอมรับเอามาเป็นเพลงที่จะเปิดและร้องกันเวลาแข่งขันและเมื่อทีมตนเองชนะ เพราะเพลงนี้มีทำนองและเนื้อร้องที่จับใจและคนสามารถแสดงอาการเป็นมิตรและยินดีร่วมกันและเฉพาะอย่างยิ่งท่อนฮุคที่ร้องว่า “Good times never seemed so good. I’ve been inclined. To believe they never would”

ซึ่งก็แปลเป็นภาษากีฬาว่า “มันช่างเป็นเวลาที่ดีเหลือเกิน ชัยชนะช่างหอมหวานเหลือเกิน ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นจริง”

ผมเองยังจำได้แม้ว่าเวลาจะผ่านมาประมาณ 55 ปีมาแล้ว วันนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลงที่สมัยนั้นยังหาฟังไม่ค่อยได้ ทีวีช่องหนึ่งออกอากาศรายการเพลงครึ่งชั่วโมงและนำเสนอวงดนตรีหน้าใหม่ที่เพิ่งชนะการประกวดแข่งขันเพลงสตริงประเทศไทยชื่อ “ดิอิมพอสซิเบิล” เพลงที่ร้องคือเพลงที่กำลังดังในต่างประเทศชื่อ “Sweet Caroline”

ผมได้ฟังเป็นครั้งแรกจนจบพร้อมกับความรู้สึกว่ามันเพราะมาก ๆ และมันติดอยู่ในหัวตั้งแต่วันนั้น ไม่นึกเลยว่าถึงวันนี้มันก็ยังดังในวงการกีฬาและเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะที่หวานดุจ “คาโรไลน์” ซึ่งคนแต่งบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจจากชื่อลูกสาวตัวน้อยของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ในขณะนั้น 

กลับมาที่การลงทุน ผมเองไม่รู้หรืออาจจะไม่ตระหนักว่ามีเพลงที่นักลงทุนชอบร้องกันเป็นพิเศษหรือบ่อย ๆ ไหมเวลามีอีเว้นท์เกี่ยวกับการลงทุน หรือมีเพลงอะไรไหมที่นักลงทุนมักชอบเป็นพิเศษ ผมคิดว่าไม่มี แต่ผมเองคิดว่าเราควรมีเหมือนวงการอื่น เช่นในวงการกีฬา

เหตุผลก็เหมือนกับวงการกีฬา การลงทุนนั้น ผมคิดว่ามีเรื่องของการศึกษา ฝึกซ้อม อาศัยโชคบ้างเล็กน้อย เข้าแข่งขันหรือลงทุนเป็นเม็ดเงินและก็หวังทำกำไรได้งดงามหรือหวังที่จะ “ชนะ” และแน่นอนว่านักลงทุนก็อยากจะ “ฉลองความสำเร็จ” ด้วยการร้องเพลงแสดงความยินดีให้กับตนเองและ “กลุ่มของเรา” เช่น “กลุ่ม VI” กลุ่ม A หรือกลุ่ม B ที่เราเสมือนเป็นสมาชิก-โดยจิตวิญญาณ หรือเป็นกลุ่มจริง ๆ ที่ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจริง และวันหนึ่งเรามาเจอกัน อาจจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจจะเป็นงานสัมมนา และเป็นวันที่เรา “ชนะ” หรือได้รับผลตอบแทนอย่างงดงาม แล้วเราก็จะร้องเพลงหรือเปิดเพลงที่ทุกคนอยากร้อง

Sweet Caroline.

Good times never seemed so good

I’ve been inclined

To believe they never would

พูดง่าย ๆ ผมกำลังมองว่านักลงทุนแต่ละคนนั้น ก็คล้าย ๆ กับจะเป็นทีมหรือแฟนคลับของกลุ่มหุ้นหรือตลาดหุ้นแต่ละแห่ง เรามีสังคมและเข้าสังคม เรารู้จักคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันและเราเชื่อในสิ่งเดียวกันหรือหุ้นกลุ่มหรือตัวเดียวกัน ดังนั้นเราก็จะแพ้หรือชนะเหมือน ๆ กัน และน่าจะมีความทุกข์หรือสุขคล้าย ๆ กัน และวันที่ชนะเราก็ควรจะต้องฉลองและฟังหรือร้องเพลงของเรา Sweet Caroline..

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/ ... nt/1119149
 
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Mon Apr 01, 2024 9:01 pm
by thanonlongtun_p
Good Times Never Seemed So Good

By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 31 มี.ค. 2024 

ในระหว่างนี้ผมก็เริ่มฟังเพลง “Sweet Caroline” และนึกถึงเนื้อร้องท่อนฮุค “Good times never seemed so good” กับพอร์ตเวียดนามที่โตวันโตคืน มันช่างเป็นเวลาที่แสนสุขสำหรับการลงทุน

วันที่ศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงมาเหลือเพียง 26,472 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผมไม่เห็นมานานมาก น่าจะเป็นหลาย ๆ ปี และนั่นเป็นตัวเลขที่ “น่าตกใจ” แม้ว่าเราเพิ่งจะเพิ่มเวลาการซื้อขายหุ้นอีกวันละครึ่งชั่วโมงเมื่อไม่กี่วันมานี้

เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหุ้นไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อนบางวันเคยขึ้นไปสูงถึงวันละแสนล้านบาท และถ้านับจากต้นปีนี้ ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเฉลี่ยก็ยังอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาทเศษ

ตรงกันข้าม ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของตลาดหุ้นเวียดนามตั้งแต่ต้นปีนั้นสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาทไปแล้ว และเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากตัวเลขก่อนหน้านั้น

ในขณะนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามมีปริมาณการซื้อขายเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากประเทศไทยแล้ว และถ้าแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียดนามจะกลายเป็นอันดับหนึ่งในเร็ววัน ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาตลอด และขณะนี้น่าจะมากกว่านักลงทุนรายย่อยไทยไปแล้วที่ประมาณ 7.5 ล้านราย

ปีที่แล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย “ย่ำแย่ที่สุด” และติดลบไปประมาณ 15.2% ในขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนาม “ดีที่สุด” บวกไปประมาณ 12.2% และตั้งแต่ต้นปีนี้เพียงประมาณ 3 เดือน ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามก็ ดีที่สุด “อันดับ 2 ของโลก” บวกไปแล้วประมาณ 13.6% ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังติดลบประมาณ 2.7%

ผมคงพูดถึงตลาดหุ้นไทยเพียงแค่นี้ และก็ต้องบอกว่าไม่ได้มี “Bad Feeling” หรือ ความรู้สึกที่ไม่ดีอะไรกับตลาดหุ้นไทย ผมตระหนักตลอดมาว่า นี่คือประเทศและตลาดหุ้นที่เปิดโอกาสให้ผมเติบโตและก้าวหน้าอย่าง “เหนือจินตนาการ” ให้แก่ผม เป็นที่ ๆ มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนที่ยากไร้และด้อยโอกาสทางสังคมถีบตัวเองขึ้นมาในระดับที่ยอมรับได้ในระดับสากล แม้ว่าเราจะไม่ใช่ประเทศหรือตลาดหุ้นที่สมบูรณ์แบบ สำหรับผมแล้ว ผมรักประเทศไทยและตลาดหุ้นไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง

แต่สำหรับการลงทุนแล้ว ในช่วงเวลานี้ผมคิดว่า เวียดนามน่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ดีและมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม บางทีอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ “สุดยอด” อาจจะคล้าย ๆ กับช่วงเวลาที่ผมเรียกว่า “ยุคทอง” ของตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2529 ถึงกลางปี 2533 ที่ดัชนีตลาดหุ้นวิ่งขึ้นไปจาก 135 จุดเป็น 1,100 จุด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า หรือเท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 60% ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง

และนั่นก็คือช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยเริ่ม “เปิดประเทศ” ให้กับนักลงทุนต่างประเทศโดยการจัดตั้งกระดานซื้อขายหุ้นต่างประเทศหรือ Alien Board และเริ่มจะใช้คอมพิวเตอร์ในการรายงานราคาและซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนั้น ญี่ปุ่นก็เริ่มอนุญาตให้ผู้ลงทุนสถาบันสามารถซื้อขายหุ้นไทยได้อย่างไม่จำกัด

ทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้ฉากหลังที่เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ประมาณปีละ 10% ติดต่อกัน 3-4 ปี ในยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ “มาจากการเลือกตั้ง” เป็นคนแรก ประเทศไทยในวันนั้นก็คือ “เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย” นักลงทุนโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นแห่กันมาลงทุนเพื่อหนีภาวะค่าเงินเย็นแข็งตัวมากอานิสงส์จากสนธิสัญญา “Plaza Accord” ในปี 2528 ซึ่งบีบให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย

ช่วงเวลานี้ของเวียดนามนั้น ดูเหมือนว่าจะมีอะไรคล้าย ๆ กับประเทศไทยในยุคนั้นมาก ประการแรกก็คือ เวียดนามกำลังกลายเป็น “เสือตัวใหม่แห่งเอเซีย” เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 และคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นเรื่อย ๆ และในระยะอย่างน้อย 4-5 ปีข้างหน้านั้นดูเหมือนว่าจะโตในระดับไม่น้อยกว่าปีละ 6-7% นำโดยการลงทุนจากต่างประเทศแทบจะทั่วโลก

เวียดนามมีศักยภาพในการรับการลงทุนทุกประเภทรวมถึงอุตสาหกรรมไฮเท็คที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะเวียดนามมีประชากรที่มีคุณภาพสูงที่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก คนเหล่านี้ยังมีอายุน้อยและมีพลังแรงกล้าที่จะพัฒนาตนเองเพื่อประสบความสำเร็จและมีความมั่งคั่งหลังจากที่ประเทศเปิดต้อนรับชาวต่างประเทศเข้าไปลงทุนทางธุรกิจเมื่อ 30 ปีก่อน คนเวียดนามในตอนนี้ผมคิดว่ามี “ไฟ” แรงมากและอาจะคิดคล้าย ๆ กับที่ Steve Jobs เคยกล่าวว่า “Stay hungry, stay foolish” นั่นก็คือ “ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดสำรวจค้นคว้า เปิดใจกว้าง และกล้าเสี่ยง”

ในด้านของตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาของการ “Upgrade” หรือพัฒนาตลาดหุ้นให้เข้าสู่มาตรฐานสากล เฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้เต็มที่ เรื่องแรกก็คือ มีการเปลี่ยนระบบเทรดหุ้นเป็นระบบ KRX ซึ่งเป็นของเกาหลีที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากแทนที่ของเดิมที่มาจากไทย ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับธุรกรรมที่มากขึ้นมากและสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้นรวมถึงการที่จะสามารถทำเซ็ทเทิลเม้นต์หรือกระบวนการหลังเทรดได้รวดเร็วขึ้น

เรื่องต่อมาก็คือการที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายหุ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการต้องวางเงินสดก่อนเทรดหุ้น และสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจะทำให้ต่างชาติสามารถซื้อขายหุ้นได้สะดวกและในราคาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับนักลงทุนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีหุ้นดี ๆ หลาย ๆ ตัวที่สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติเต็มและการซื้อจะต้องจ่ายค่าพรีเมียมประมาณ 7% เพิ่มจากราคาตลาด

ต่อมาก็คือเรื่องของการให้ข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียนที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาเวียดนามก็จะต้องมีภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ดีขึ้น

ทั้งหมดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เวียดนามสามารถอัปเกรดจาก “ตลาดชายขอบ” เป็น “ตลาดหุ้นเกิดใหม่” เหมือนตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอาเซียนทั้งหลาย “ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า” ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ทั่วโลกสามารถเข้ามาลงทุนได้แทนที่จะเป็นเฉพาะเฮดจ์ฟันด์ และนั่นก็จะทำให้มีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้นแทนที่จะเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลเป็นหลักอย่างในปัจจุบัน และนั่นก็จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างแรงได้

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ประเด็นเดียวที่จะขับดันราคาหุ้น เพราะดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ปรับตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ อยู่แล้วแม้แต่ในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ต่างชาติเป็นฝ่ายขายหุ้นมาซักระยะหนึ่งแต่อาจจะเนื่องจากคนเวียตนามเองในช่วงนี้ต่างก็เข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาหุ้นจึงไม่ลงและกลับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น

เหตุผลอาจจะเป็นว่ารายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนโตเร็วมาก แม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมเก่าอย่างแบงก์และผู้ผลิตสินค้าผู้บริโภคก็มีกำไรโตในระดับสองหลักซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในขณะเดียวกันค่า PE ก็ยังค่อนข้างต่ำ ว่าที่จริงน่าจะต่ำที่สุดในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้น นี่ก็คือตลาดหุ้นที่โตเร็วแต่ราคาหุ้นยังถูก รวมถึงหุ้นที่อาจจะเป็นซุปเปอร์สต็อก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด เช่น เงินฝากแบงก์และเงินกู้ทั่ว ๆ ไปลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยอยู่ที่ 7-8% ขึ้นไป ลงมาอยู่ที่ 4-5% สำหรับเงินฝากเป็นต้น นอกจากนั้น ไม่ช้าก็เร็ว อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของแบงก์ชาติก็คงจะต้องลดลงตามอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ นั่นก็จะส่งเสริมให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปได้อีก

ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศคงจะเข้ามาลงทุนขนานใหญ่ในช่วงอีกไม่เกิน 3-4 ปีข้างหน้า ผมจึงคิดว่าดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นไปต่อเนื่องและสูงมากในอนาคตอย่างน้อย 3-4 ปีต่อจากนี้ และอาจจะเป็น “ยุคทอง” ที่อาจจะเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามได้

ว่าที่จริง เวลานี้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองที่ดัชนีเวียดนามจะโตแบบก้าวกระโดดแล้วก็ได้ เห็นได้จากกองทุนหุ้นเวียดนามหลัก ๆ เช่น VN 30 ที่โตขึ้นถึง 15% และ ETF ไดมอนด์ที่เน้นหุ้นที่มี Foreign Premium บวกขึ้นถึง 20% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 เดือน คงต้องมาดูกันว่าผ่านไปอีก 3-4 ปีข้างหน้าดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามจะโตไปถึงเท่าไร แน่นอนว่าไม่มีอะไรการันตีว่าประวัติศาสตร์จากตลาดหุ้นไทยจะซ้ำรอยที่ตลาดหุ้นเวียดนาม แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเสียหายถ้าจะลอง

ในระหว่างนี้ผมก็เริ่มฟังเพลง “Sweet Caroline” และนึกถึงเนื้อร้องท่อนฮุค “Good times never seemed so good” กับพอร์ตเวียดนามที่โตวันโตคืน มันช่างเป็นเวลาที่แสนสุขสำหรับการลงทุน

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1120175
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Tue Apr 30, 2024 5:34 pm
by thanonlongtun_p
ห้าทศวรรษตลาดหุ้นไทย
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 28 เม.ย. 2024

ในเดือนเมษายนปีหน้าจะเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยมีอายุครบ 50 ปี หรือเป็นเวลา 5 ทศวรรษของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เดือนเมษายนปีหน้าจะเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยมีอายุครบ 50 ปี หรือเป็นเวลา 5 ทศวรรษของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ผมก็อยากจะตรวจสอบหรือทบทวนว่าในแต่ละทศวรรษที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมีวิวัฒนาการและผลงานเด่น ๆ อย่างไรบ้าง พอจะกำหนดเป็นภาพใหญ่ ๆ ได้ไหมว่าแต่ละยุคควรจะเรียกว่าอย่างไร

เริ่มเปิดตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนเมษายน 2518 ซึ่งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตจากเศรษฐกิจที่ยังเล็กมากและยังเป็นประเทศที่อิงกับการเกษตรเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ที่โลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกาและคอมมิวนิสต์ซึ่งนำโดยสหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่มีการต่อสู้และทำสงครามเย็นแย่งชิงประเทศต่าง ๆ ในโลกมาเป็นฝ่ายของตนเอง

ประเทศไทยซึ่งเป็นฝ่ายโลกเสรีก็ได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกาทางด้านเศรษฐกิจและเป็นฐานในการต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ที่กำลังทำสงครามกันในประเทศเวียดนาม

หนึ่งทศวรรษก่อนปี 2518 เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตสูงมาก อานิสงส์ส่วนหนึ่งจากการช่วยเหลือจากสหรัฐที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้พ้นจากความยากจนที่มักเป็นบ่อเกิดให้คนสนใจในลัทธิสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการใช้จ่ายทางทหารของสหรัฐในประเทศไทยที่เป็นฐานทัพอากาศที่สำคัญของสหรัฐในการรบกับคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม

เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2508 ถึง 2518 GDP โตเฉลี่ยถึงปีละประมาณ 7.8% และเริ่มมีการพัฒนาประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการ “ตลาดทุน” มาสนับสนุน และนั่นก็คือการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างเป็นทางการ

ตลาดหลักทรัพย์เริ่มเปิดการซื้อขายหุ้นด้วยดัชนีที่ถูกกำหนดไว้ที่ 100 จุด ในวันสิ้นเดือนเมษายน 2518 ซึ่งบังเอิญตรงกับวันที่ไซ่ง่อน เมืองหลวงของประเทศเวียดนามใต้หรือเมืองโฮจิมินซิตี้ในปัจจุบัน “แตก” เวียดนามทั้งหมดกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ สหรัฐถอนกำลังทหารทั้งหมดกลับประเทศ

ประเทศไทยได้รับการคาดหมายว่าจะต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์รายต่อไปตามทฤษฎี “โดมิโน” เพราะทั้งลาวและกัมพูชาต่างก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปทั้งหมดแล้ว แต่โชคชะตาก็เข้าข้างประเทศไทย เพราะหลังจากเวียดนามแตก โซเวียตก็แตกกับจีน ทำให้ไทยรอดจากการยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าเติบโตต่อไปอีก 10 ปี จนถึงปี 2528 ที่อัตราเฉลี่ยปีละ 6.8% ลดลงมาเพียง 1% จากทศวรรษก่อน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มต้นอย่าง “ทุลักทุเล” ดัชนีหุ้นขึ้นลงตามการ “เก็งกำไร” และการ “ปั่นหุ้น” ของนักเล่นหุ้น “ชุดแรก” ที่มองตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งเก็งกำไรหรือการพนันที่ “ถูกกฎหมาย” 

ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่มีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการกำกับและควบคุม ซึ่งทำให้แม้แต่การปั่นหุ้นก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย และนั่นนำมาสู่ “วิกฤติตลาดหุ้น” กรณี “ราชาเงินทุน” ในปี 2522 ซึ่งทำให้ดัชนีตกลงไปกว่า 40% ในเวลา 1 ปี และทำให้หุ้น “เหงา” ไปนานมากและคนแทบจะเลิกเล่นหุ้นไปเลย

จนถึงเดือนเมษายน ปี 2528 ครบรอบทศวรรษแรกของตลาดหุ้น ดัชนีตลาดอยู่ที่ 151 จุด หรือปรับขึ้น 51% ในเวลา 10 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 4.21% ซึ่งดูเหมือนจะเลวร้ายมากเมื่อคำนึงถึงว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงินได้ดอกเบี้ยปีละเกือบ 10%

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผลตอบแทนจากปันผลหรือ Dividend Yield ของบริษัทจดทะเบียนสูงมากถึงปีละประมาณ 9.28% ดังนั้น คนที่ลงทุนถือหุ้นระยะยาว 10 ปี ก็จะได้ผลตอบแทนรวมทบต้นถึงปีละ 13.5% ไม่เลวเลย

สำหรับผมแล้ว ทศวรรษแรกของตลาดหุ้นคือ “ทศวรรษแห่งการเรียนรู้” 

ทศวรรษที่สองของตลาดหลักทรัพย์จากปี 2528 ถึงปี 2538 นั้น เริ่มต้นโดยที่ “ไม่มีความคาดหวัง” ดัชนีตลาดอยู่ในระดับต่ำ ค่า PE อยู่ที่ 8.55 เท่า ปันผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 8% แต่ก็ไม่มีใครสนใจที่จะเล่นหุ้น ผมเพิ่งกลับเมืองไทยจากการเรียนจบปริญญาเอกทางการเงินและการลงทุนที่สหรัฐ และตลาดหลักทรัพย์เพิ่งจะได้ผู้จัดการคนใหม่ชื่อ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ อดีตอาจารย์นิด้าสถาบันที่ผมเรียนจบปริญญาโทในเวลานั้นประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ นำโดยการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและการจัดตั้งโครงการ Eastern Seaboard ที่เน้นการพัฒนาเมืองชายทะเลภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมโดยเฉพาะปิโตรเคมีและการส่งออกโดยผ่านท่าเรือน้ำลึกที่แหลมฉบัง และที่สำคัญที่สุดก็คือการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อหนีค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นจากข้อตกลง Plaza Accord ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนที่ปีละ 8.93% โดยเฉลี่ยในเวลา 10 ปี

ตลาดหุ้นเฟื่องฟูมากในทศวรรษนี้ อานิสงค์สำคัญส่วนหนึ่งจากการเปิดเสรีทางการเงินที่ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้เต็มที่ ดัชนีหุ้นในเดือนเมษายนปี 2538 ขึ้นสูงถึง 1,209 จุด เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า หรือเท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละ 23.12 ในเวลา 10 ปี ไม่รวมปันผลอีกเกือบ 3% เป็น “ทศวรรษทอง” ของตลาดหุ้นไทย และทำให้นักเล่นหุ้นจำนวนมากที่เข้ามาตลาดหุ้นต่างก็ร่ำรวยจนมีคำพูดว่า “มา (แล้ว) รวย” ตามชื่อผู้จัดการตลาดที่อยู่นานถึง 7 ปีในช่วงที่หุ้นคึกคักมาก

ผลจากทศวรรษทองนั้น ทำให้หุ้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 มีราคาแพงคือมีค่า PE ที่ 20.87 เท่า และเศรษฐกิจก็ร้อนแรงเกินไปจนเป็นปัญหาเนื่องจากมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเกินตัว บวกกับความผิดพลาดในการบริหารการเงินโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ประเทศก็เกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจแทบจะล้มละลาย ต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างหลายปีกว่าที่เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้น

ทศวรรษที่ 3 จบลงในปี 2548 ด้วยตัวเลขการเติบโตอง GDP ที่ต่ำลงมากเฉลี่ยที่ปีละ 3.55% อานิสงส์จากช่วงปีวิกฤติที่เศรษฐกิจตกต่ำลงถึง 10% ในเวลา 2 ปี แต่ตลาดหุ้นนั้นยิ่งเลวร้ายกว่า เพราะในเวลา 10 ปี ดัชนีตลาดตกลงมาจาก 1,209 เป็น 659 จุด ลดลงมาถึง 45% หรือตกลงมาเฉลี่ยทบต้นปีละ 5.89% ดังนั้น นี่คือ “ทศวรรษแห่งวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้น”

ทศวรรษที่ 4 เริ่มขึ้นหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจผ่านไปอย่างสมบูรณ์
 ธุรกิจ “รุ่นใหม่” เติบโตขึ้นแทนรุ่นเก่าที่ล้มหายตายจากไป เช่นเดียวกับนักลงทุน “รุ่นใหม่” ที่ปรากฎตัวขึ้นแทนนักเล่นหุ้นรุ่นเก่าที่ล้มหายตายจากไปจากวิกฤติตลาดหุ้น และนี่ก็คือกลุ่มนักลงทุนที่เป็นคนชั้นกลางกินเงินเดือนที่มีการศึกษาดีที่เริ่มหันมาเก็บออมเงินและลงทุนเพื่อการเกษียณและเห็นว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งลงทุนที่ดีมีประสิทธิภาพ 

โดยเฉพาะถ้ารู้ว่าหุ้นตัวนั้นเป็นธุรกิจที่ดี เติบโตเร็วและยาวนาน แต่มีราคาหุ้นที่ถูกมาก พวกเขารวมตัวกันเรียนรู้และศึกษาวิเคราะห์หุ้นก่อนลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานทางธุรกิจ และเรียกตนเองว่า Value Investor หรือ นักลงทุนเน้นคุณค่า ไม่มีใครเรียกว่า “เล่นหุ้น” อีกต่อไป

ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้เติบโตเร็ว อานิสงส์ส่วนหนึ่งจากวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐในปี 2551 และวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554

เศรษฐกิจในช่วงทศวรรษนี้เติบโตเพียงปีละ 3.48% โดยเฉลี่ย ต่ำยิ่งกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นกลับเติบโตดีและปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,527 จุดในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 131.7% คิดเป็นปีละ 8.8% แบบทบต้นซึ่งถ้ารวมปันผลก็ให้ผลตอบแทนปีละประมาณ 11.6% ต่อปีในช่วงเวลา 10 ปี

 เรียกได้ว่านี่คือทศวรรษแห่งการฟื้นฟูและปรับปรุงตลาดหุ้นให้มีมาตรฐานทั้งในด้านของการพัฒนาและกำกับเพื่อให้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการพัฒนาในด้านของนักลงทุนที่กลายเป็นนักลงทุน “มืออาชีพ” ที่เน้นการวิเคราะห์หุ้นอย่างมีเหตุผล ผมเองอยากจะเรียกว่าเป็นยุค “Renaissance” หรือ “ยุคสมัยแห่งความรุ่งเรือง” ในด้านต่าง ๆ

ทศวรรษสุดท้ายเริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 9 ปีแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบปัญหาทางโครงสร้างรุนแรงนั่นก็คือ คนไทยเริ่มแก่ตัวลงกลายเป็นประเทศผู้สูงอายุและคนเกิดน้อยลงมากเกือบจะที่สุดในเอเซีย

นอกจากนั้น ระบบการปกครองก็ “ล้าหลัง” เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่เป็นเพื่อนบ้านและประเทศที่มีระดับความมั่งคั่งใกล้เคียงกันอานิสงส์จากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงมากเหลือเพียงเฉลี่ยปีละประมาณ 1.92% ในช่วง 9 ปี

ดัชนีตลาดหุ้นเองที่เริ่มต้นทศวรรษที่มีค่า PE ประมาณ 20.9 เท่า ก็ไม่เอื้ออำนวยซึ่งทำให้หุ้นในระยะเวลา 9 ปี ไม่ได้ไปไหน และลดลงเหลือ 1,359.9 ในวันที่ 26 เมษายน 2567 หรือลดลง 10.9% ในเวลาประมาณ 9 ปี หรือลดลงปีละ 1.28% โดยเฉลี่ย 

เรียกได้ว่าทศวรรษที่ 5 ของตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะเป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” ถ้าปีหน้าตลาดหุ้นก็ยังคงเป็นแบบเดิมแบบที่เป็นมาแล้ว 9 ปี 

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1124249
 
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Sun May 26, 2024 9:09 pm
by thanonlongtun_p
จุดจบของเซียนคอร์เนอร์หุ้นบันลือโลก
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 19 พ.ค. 2024 

บทเรียนการ “คอร์เนอร์หุ้น” อย่าคอร์เนอร์หุ้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ต้องตระหนักเสมอว่าการซื้อหุ้นไม่ว่าจะคิดว่าเป็นการลงทุนในระดับที่ “มั่นใจมาก” แค่ไหนว่าหุ้นจะถูกกว่าพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องระวังไม่ให้มากเกินไปในหุ้นตัวนั้น

ในปี 1996-2001 เป็นเวลาประมาณ 5 ปี เป็นช่วง “เวลาทอง” และ “จุดจบ” ของกองทุน “Tiger Funds” หรือ “กองทุนเสือ” ที่ก่อตั้งและบริหารโดย Julian Robertson นักลงทุนเฮดจ์ฟันด์แนว VI กลุ่มแรก ๆ ที่จัดตั้งและบริหารเงินทุนโดยใช้หลักการแบบ “VI” อย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์และความผิดพลาดรุนแรงและการที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงเพียงพอ จึงทำให้กองทุน “ล่มสลาย” ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังจากการล่มสลายของกองทุนไทเกอร์ ลูกน้องและผู้ช่วยของโรเบิร์ทสันหลาย ๆ คนก็ออกมาก่อตั้งกองทุนที่ถูกเรียกว่า “Tiger Cub” หรือกองทุน “ลูกเสือ” ซึ่งก็คงเน้นการลงทุนแนว VI แบบเข้มข้นเหมือนเดิม เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับไทเกอร์ฟันด์มานานก่อนที่จะปิดตัวลง คนที่ออกมาตั้งกองทุนลูกเสือก็คงมีชื่อเสียงว่าเป็น “เซียน VI” ในสายตาของคนทั่วไปหรือลูกค้า

Bill Hwang ชาวเกาหลีที่อพยพมาอยู่ในสหรัฐ และน่าจะเป็นลูกน้องและผู้บริหารที่โดดเด่นของโรเบิร์ตสัน ได้ออกมาจัดตั้งบริษัทจัดการลงทุนชื่อ “Tiger Asia Management” และตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่โรเบิร์ตสันร่วมลงทุนด้วย การบริหารกองทุนประสบความสำเร็จอย่างสูงและทำให้หวังมีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเวลากว่า 10 ปี จนถึงปี 2012 ก็ต้องปิดตัวลง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่หวังถูกจับในคดี “Insider Trading” หรือใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้นแบ้งค์จีนและถูกปรับเป็นเงิน 44 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,600 ล้านบาท

ปีต่อมาหลังจากนั้นในปี 2013 หวังก็เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากการบริหารเฮดจ์ฟันด์มาเป็นการลงทุนเงินของตนเองผ่าน “Family Office” หรือ “บริษัทลงทุนของครอบครัว” และเปลี่ยนบริษัทจัดการจาก Tiger Asia เป็น “Archegos Capital Management” ซึ่งก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าเขาประสบความสำเร็จสูงมาก มีเงินส่วนตัวที่ได้รับจากการบริหารเงินคนอื่นเพียงพอแล้ว และเริ่มบริหารเงินของตนเองเพียงอย่างเดียว

ถึงปี 2020 ในท่ามกลางกระแสโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง หวังเริ่มกวาดซื้อหุ้นหลาย ๆ ตัวรวมถึงหุ้น ViacomCBS หุ้นสื่อชื่อดัง โดยการใช้อนุพันธ์ต่าง ๆ ที่เขาเทรดกับบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ ๆ ในวอลสตรีท ซึ่งทำให้เขาสามารถ “กู้เงิน” หรือใช้เงินของบริษัทหลักทรัพย์หรือแบ้งค์เช่น เครดิตสวิส UBS และ Morgan Stanley จำนวนมหาศาลโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวเองหรือไม่ต้องใช้ชื่อตัวเอง ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นไทยก็เช่น การทำบล็อกเทรดที่สามารถเพิ่มเม็ดเงินลงทุนขึ้นไปเป็น 10 เท่า ได้ เป็นต้น

ในมุมมองของหวัง นี่คือหุ้นที่ “ดีสุดยอด” เขาค้นพบและพร้อมที่จะ “ตีแตก” ด้วยความเชื่อมั่น “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ในสายตาเขา มันคงเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” สร้างผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวที่เขาอาจจะเคยลงทุนในหุ้นที่อาจจะตัวเล็ก ๆ ในอดีตที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันและมันก็เติบโตขึ้นทำเงินให้เขาไม่น้อย เขาเองเชื่อมั่นและมีแนวคิดคล้ายกับวอเร็นบัฟเฟตต์ที่ลงทุนหุ้นสุดยอดที่จะโตขึ้นไปนานโดยไม่ต้องขาย อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่านี่เป็นแนว ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ บิดาของนักลงทุนสไตล์ Growth หรือเน้นหุ้นสุดยอดทางการแข่งขันและโตเร็ว

หวังซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องตลอดและก็อัดซื้อเพียงตัวสองตัว ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นในพอร์ตพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ พอร์ตหุ้นโตระเบิด Net Worth หรือความมั่งคั่งส่วนตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 35 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท กลายเป็นมหาเศรษฐีนักลงทุน และถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เขาก็จะอยู่ใน “ทำเนียบ” เซียนหุ้นในระนาบเดียวกับหลาย ๆ คนรวมถึงบัฟเฟตต์ แต่สำหรับผมแล้ว เขาอาจจะไม่รู้ตัวเองว่า กำลัง “คอร์เนอร์หุ้น” ตัวใหญ่ ๆ บางตัวที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปแบบไม่มีเหตุผลทางด้านพื้นฐานจริง ๆ ทั้งหมดเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” และความมั่งคั่งนั้นเป็น “ภาพลวงตา” ของราคาหุ้น

ถึงปี 2021 ViacomCBS ประกาศขายหุ้นซึ่งทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงแรง แบงก์ที่ปล่อยกู้หรือทำสว็อปหรือขายหรือซื้ออนุพันธ์ให้อาร์คีกอสต้อง “เรียกมาร์จินเพิ่ม” แต่หวังไม่มีทรัพย์สินหรือสภาพคล่องพอ ซึ่งทำให้หุ้นต้องถูก “ฟอร์สเซล” หรือขายทิ้งในตลาด ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปอีก และก็ตกต่อไปเป็นระลอกจน “คอร์เนอร์แตก” ราคาหุ้นตกลงไปจนแทบไม่เหลือค่า พอร์ตหุ้นของหวังเสียหายยับเยินเป็นศูนย์ อาร์คีกอส “ล่มสลาย” แบงก์ที่ปล่อยกู้เสียหายรวมกันไม่ต่ำกว่า 10 พันล้านเหรียญหรือ 360,000 ล้านบาทโดยที่ Credit Suisse แบงก์ที่ปล่อยกู้มากที่สุดก็ล่มสลายไปด้วย

และก็แน่นอนว่า แบงก์ กลต. และผู้เกี่ยวข้อง ก็ต้องเข้าตรวจสอบ เพราะมันเป็นคดี “ระดับชาติ” ที่ทำให้แบงก์เก่าแก่ระดับโลก “เจ๊ง” ไปแบงก์หนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีนักลงทุนอื่นรวมถึงรายย่อยที่เสียหายหนัก ๆ โดยตรง อย่างไรก็ตาม นักลงทุน รวมถึง VI จำนวนมากอาจจะเจ็บตัวจากการที่หุ้นทิ้งดิ่งลงมาแรงจนทำให้ลงทุนแล้วขาดทุนไปมหาศาลเพราะไปคิดว่ามันเป็นหุ้นดีสุดยอดที่วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ มาเป็นปี ๆ แต่พอเข้าไปแล้วกลับตกลงมาเป็นหายนะ

คดีที่กำลังดำเนินการในชั้นศาลในขณะนี้นั้น เป็นของหวังถึง 11 คดีและเป็นของ CFO ของอาร์คีกอส 3 คดี หลัก ๆ ก็คือ หนึ่ง การโกหกหลอกลวงแบงก์เพื่อที่จะเพิ่มวงเงินเครดิตในการใช้ “ปั่นหุ้น” สองคือการหลอกลวงบริษัทหลักทรัพย์โดยการปั่นหุ้น และสามคือการซื้อธุรกิจแบบผิดกฎหมายและการทำธุรกิจโดยใช้เงินที่ผิดกฎหมาย การฉ้อโกงขู่เข็นกรรโชคทรัพย์ ทั้งหมดนั้นถ้าผิดจริง หวังอาจจะถูกตัดสินให้ติดคุกสูงถึง 220 ปี แต่ก็น่าจะถูกลดให้เหลือเพียง 20 ปี เมื่อเทียบกับแซมแบ๊งแมน ที่โดนคดีโกงและหลอกลวงทางด้านทรัพย์สินดิจิทัลที่เพิ่งถูกตัดสินไปที่ต้องติดคุก 25 ปี เมื่อไม่นานมานี้ แต่ด้วยอายุ 60 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าอาการของหวังอาจจะหนักกว่า

ข้อต่อสู้ของหวังที่ผมคิดก็คือ หวัง “ลงทุนแบบ VI” เขาแทบจะอ้างว่า “ลงทุนแบบ บัฟเฟตต์” มีการวิเคราะห์หุ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเมื่อพบว่าดีสุดยอด มีมาร์จินออฟเซฟตี้สูงมาก ก็เข้าซื้อ และซื้อมากจนอยากจะซื้อหุ้นทั้งบริษัท เสร็จแล้วก็ถือยาวไปเรื่อย ๆ และ “ไม่ขาย” ว่าที่จริงกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เขาก็ไม่เคยขายหุ้นเลย แล้วจะบอกว่า “ปั่นหุ้น” ยังไง การ “Corner หุ้น” อย่างที่ผมมักจะใช้ คือกวาดซื้อหุ้นจนหมดเพื่อดันและคุมราคาหุ้นนั้น ในประเทศอื่นโดยเฉพาะในสหรัฐนั้น คนไม่รู้จัก อาจจะเพราะส่วนใหญ่แล้วทำไม่ได้ด้วยระบบและ Free Float หุ้นที่สูงเกินไป ดังนั้น นี่จะเป็นการ “ปั่นหุ้น” ได้ยังไง

ข้อต่อสู้ต่อมาที่ผมคิดก็คือ การหลอกลวงแบงก์หรือบริษัทหลักทรัพย์นั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะที่จริงสถาบันการเงินเหล่านั้นอยากทำธุรกิจกับเขามาก ยอมให้ใช้บริการเต็มที่เพราะในสายตาของแบงก์ หวังเป็น “เซียนหุ้น” น่าจะ “แบบ VI” ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าตนเองทำอะไร แบงก์เองก็อยากได้รายได้ที่ “แทบไม่เสี่ยง” ผลงานและการเติบโตของอาร์คีกอสนั้นยอดเยี่ยมมากและอยู่มานาน มีพอร์ตที่ใหญ่โตมหาศาล จะเจ๊งได้อย่างไร?

ที่อาร์คีกอสล่มสลายนั้น ผมคิดว่าเขาคงต่อสู้ว่ามันเป็นเหตุ “สุดวิสัย” ที่ไม่สามารถคาดการณ์หรือคาดคิดได้ ดังนั้น เขาไม่สมควรที่จะเป็น “แพะรับบาป” และถึงวันนี้ทางการก็ไม่มีหลักฐานว่าการซื้อขายหุ้นของอาร์คีกอสหรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงการสว็อปหรือการใช้อนุพันธ์หรือสัญญาอะไรต่าง ๆ มีการหลอกลวงหรือผิดกฎหมายและที่จะไปกระทบกับราคาหุ้น  

ผมคงไม่อยากเดาว่าคดีจะออกมาอย่างไร ผมเพียงแต่คิดว่าในกรณีแบบนี้ ถ้าเกิดที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะที่ระบบกฎหมายและความยุติธรรมไม่เข้มแข็ง โอกาสหลุดน่าจะสูง หรือบางทีเรื่องอาจจะไม่ถึงศาลด้วยซ้ำ แค่อาจจะโวยวายกันในสื่อ ซักพักก็จะผ่านไป เพราะเรื่องนี้อาจจะเป็นแค่เรื่องของ “เซียน” ที่มาคอร์เนอร์หุ้นและเกิด “ผิดพลาด” อย่างร้ายแรง ไม่สามารถ “ออกของ” ได้จน “คอร์เนอร์แตก” และเจ๊งกันไปหมดทั้งคนทำและคนสนับสนุนที่เป็นสถาบันการเงิน และรายย่อยจำนวนมหาศาลที่ขาดทุนกันคนละเล็กละน้อย ที่ “ด่าคนทำ” แล้วก็แยกย้ายกันไปเล่นกับหุ้นคอร์เนอร์ “ตัวต่อไป”

บทเรียนการ “คอร์เนอร์หุ้น” ของหวังก็คือ “อย่าคอร์เนอร์หุ้น” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ต้องตระหนักเสมอว่าการซื้อหุ้นของเรา ไม่ว่าเราจะคิดว่าเป็นการลงทุนในระดับที่ “มั่นใจมาก” แค่ไหนว่าหุ้นจะถูกกว่าพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องระวังไม่ให้มากเกินไปในหุ้นตัวนั้นที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ “คอร์เนอร์หุ้น” เพราะนั่นมักจะทำให้หุ้นมีราคาผิดธรรมชาติมาก และในที่สุดมันก็มักจะตกลงมาในระดับหายนะ อย่าไปคิดว่าเรา “แน่มาก” ที่ซื้อหุ้นถูกตัวและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเรากลายเป็น “เทพ” และทำให้เราต้องกู้เงินมาซื้อเพิ่มขึ้นไปอีก กลายเป็นความโลภที่ทำลายตัวเราในที่สุด

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1127491
 
 

Re: บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Posted: Sun May 26, 2024 9:13 pm
by thanonlongtun_p
เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศใน 10 ปีข้างหน้า
By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 

ประเทศหลัก ๆ ในอาเซียนยกเว้นไทยน่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงเท่าเดิมต่อไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งผลก็คือ GDP ของเพื่อนบ้านของไทยก็จะโตอย่างรวดเร็วไล่กวดและทิ้งห่างไทยออกไปเรื่อย ๆ

หลังจากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาศ 1 ปี 2567 ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศหลัก ๆ ในกลุ่มอาเซียนถูกประกาศออกมาเมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา รัฐบาลและนักวิชาการไทยต่างก็รู้สึกตกใจและผิดหวังกับตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยที่ 1.5% และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตสูงกว่ามาก

นอกจากนั้น ตัวเลขนี้ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการเติบโตในปีก่อนทั้งปีที่ 1.9% ด้วย ในขณะที่ตัวเลขของประเทศอื่น ๆ นั้นดูเหมือนว่ากำลังฟื้นตัวและการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาก และก็สูงใกล้เคียงกับช่วงปีก่อน

การเติบโตของ GDP เวียดนามนั้น แม้ว่าจะลดลงจากระดับ 6% ปีที่แล้ว ก็บวก 5.7% ในไตรมาศ 1 ปีนี้ และเป็นระดับที่ “สูงที่สุด” ในอาเซียนเท่า ๆ กับฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซียนั้นเติบโตรองลงมาที่ 5.1% มาเลเซีย 4.2% และสิงคโปร์ก็ยังโต 2.7% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ไม่เลวเมื่อคำนึงถึงว่าสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวสูงเกือบที่สุดในโลกอยู่แล้ว โดยที่ไทยอยู่ในอันดับสุดท้าย ซึ่งก็เป็นอันดับที่ไทยได้มาหลายปีที่ผ่านมา

ตัวเลขการเติบโตของสหรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของ “เศรษฐกิจโลก” และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุดก็เติบโตถึง 3% ซึ่งก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกนั้นไม่ได้ซบเซาหรือตกต่ำ ที่จริงอาจจะต้องถือว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างดีในไตรมาศ 1 นี้ ยิ่งดูที่เศรษฐกิจจีนซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บอกว่ากำลังมีปัญหาเนื่องจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และทำ “สงครามการค้า” กับสหรัฐ แต่ก็ยังโตได้ 5.3% ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงจากก่อนช่วงโควิด-19 แต่ก็ถือว่ามีการฟื้นตัวพอสมควรจากช่วงโควิดเช่นเดียวกับประเทศหลัก ๆ ของอาเซียน

ดังนั้น การที่เศรษฐกิจไทยโตน้อยมากจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก แต่น่าจะเป็นเรื่องของประเทศไทยและเศรษฐกิจของไทยเองมากกว่า และปัญหาของไทยก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา “ชั่วคราว” ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงปีสองปีนี้ แต่อาจเป็นปัญหา “ถาวร” ที่จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะนั่นอาจจะเป็นปัญหาเชิง “โครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตเร็วต่อไปได้ และในที่สุดอาจจะถดถอยลงไปด้วยซ้ำ ว่าที่จริงเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นก็เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% เท่านั้น

ปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตเร็วต่อไปได้นั้นน่าจะมีหลายอย่าง แต่ตัวหลักน่าจะอยู่ที่โครงสร้างของประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ประชากรเกิดใหม่น้อยลงมาก และระบบการศึกษาของไทยที่ไม่สามารถพัฒนาและตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ลองมาดูว่ามีปัญหาอย่างไร

GDP หรือ Gross Domestic Products หรือผลผลิตมวลรวมในประเทศนั้น พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ มูลค่าการทำงานแล้วมีรายได้ของประชากรทั้งประเทศรวมกันในแต่ละปี ถ้าประเทศมีประชากรทำงานมาก เงินรายได้ก็มากตาม วิธีที่จะทำให้รายได้เพิ่มที่สำคัญทางหนึ่งก็คือการเพิ่มขึ้นของคนทำงาน ซึ่งถ้าประเทศมีเด็กที่เติบโตขึ้นมาและเริ่มทำงานได้มากกว่าคนที่เลิกทำงานเพราะอาจจะเกษียณหรือตาย ก็จะทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่ม มีการเติบโตของ GDP ในกรณีของไทยนั้นดูเหมือนว่าคนที่เกษียณและ/หรือตาย ตอนนี้จะมากกว่าคนที่เติบโตขึ้นมาและเริ่มทำงานในแต่ละปี ผลก็คือ GDP ก็จะลดลงและจะลดลงต่อไป

อีกทางหนึ่งที่จะทำให้รายได้เพิ่มก็คือ การที่คนในประเทศมีรายได้เช่นเงินเดือนหรือกำไรจากการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็คือมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น GDP ก็จะเพิ่มขึ้น และวิธีที่จะทำให้คนทำงานที่ให้ผลผลิตมากขึ้นในระยะยาวได้นั้น ส่วนใหญ่ก็คือ ให้การศึกษาที่ดีกับประชากรซึ่งจะทำให้สามารถทำงานที่ยากขึ้น ใช้ทักษะที่สูงขึ้น เช่น เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักการเงิน หรือเป็นนักบริหารและทำธุรกิจเป็นต้น

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นก็คือ ให้คนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและ/หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำงานแทนที่ของเดิมที่อาจจะใช้แรงงานมากหรือใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า เป็นต้น ด้วยวิธีนี้ ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้มากขึ้น ส่งผลให้ GDP เติบโตได้ แต่ทั้งการใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรทันสมัยนั้น ก็ต้องอาศัยคนที่ได้รับการศึกษาที่ดีและทันสมัย

แต่ประเด็นที่ทำได้ยากก็คือ คนทำงานของไทยนั้น จำนวนมากเป็นคนรุ่นเก่าและมีการศึกษาที่ไม่สูงหรือไม่ดีนัก จึงปรับตัวให้หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ยาก เช่นเดียวกับการที่อาจจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์เครื่องมือมาใช้ ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจึงทำได้ยาก ผลก็คือการเติบโตของ GDP จากส่วนนี้ก็จะไม่มาก และอาจจะไม่สามารถชดเชยจำนวนคนที่น้อยลงได้

เมื่อดูประกอบกัน คือคนทำงานก็ไม่เพิ่มแถมจะลดลง และโอกาสที่จะเพิ่มประชากรก็น้อยมากเพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ค่อยยอมมีลูก คนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากนักเพราะการศึกษาไม่ดีพอและการปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ก็ทำได้ยากเพราะอายุมาก การที่คนทั้งประเทศจะสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะยากขึ้น ดังนั้น GDP ของไทยนับจากนี้คงไม่สามารถเติบโตได้เร็วเหมือนเดิมที่ครั้งหนึ่งเราโตถึงกว่า 10% ต่อปีเป็นเวลาถึง 2-3 ปีติดต่อกัน และส่วนใหญ่ก็โตในระดับ 5-7% เป็นเวลายาวนาน

มองไปข้างหน้าอีก 10 ปี ผมคิดว่าการที่จะให้ GDP โตแม้ในระดับเพียงปีละ 3% ก็เป็นเรื่องที่ยาก ผมคิดว่าโอกาสที่จะโตปีละ 2% โดยเฉลี่ยน่าจะสูงกว่า

จริงอยู่ รัฐบาลอาจจะบอกว่าเรา “กำลังปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้น เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไทยมีความสามารถและมีความได้เปรียบประเทศอื่นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่ภาพใหญ่ก็คือ เราขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว การดึงคนจากอุตสาหกรรมอื่นมาทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยวก็อาจจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่คิด หรือพูดง่าย ๆ GDP ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้มากอย่างต้องการ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ รายได้จากการทำงานในภาคการท่องเที่ยวนั้นอาจจะไม่ได้สูงนัก

ไม่ว่าจะปรับทิศทางเศรษฐกิจไปทางไหน สุดท้ายแล้วมันก็ต้องทำให้คนทำแล้วมีรายได้มากขึ้น ซึ่งก็คือจะต้องเป็นงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นและใช้ทักษะสูงขึ้นซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องมีการศึกษาและมีทักษะที่สูงกว่าเดิม นอกจากนั้น ก็ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น

กลับมาดูที่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่มีคนเพิ่มมากขึ้นนั้น รวมถึงฟิลิปปินส์ที่อาจจะไม่ค่อยคุมกำเนิดอาจจะเนื่องจากเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิค อินโดนีเซียและมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนของการเพิ่มคนน่าจะมากพอสมควร บวกกับการเพิ่มของประสิทธิภาพของคนที่ยังมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ก็น่าจะทำให้ 3 ประเทศนี้สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอัตราล่าสุดต่อไปได้อีก 10 ปี

เวียดนามนั้น การเพิ่มของคนทำงานก็ยังมีมากพอสมควร แต่การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพนั้นน่าจะค่อนข้างสูงอานิสงส์จากคุณภาพและการศึกษาของประชากรที่โดดเด่นเห็นได้จากผลการทดสอบ PISA Test ซึ่งเวียตนามทำได้เหนือกว่าทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นสิงคโปร์ และการที่ประเทศสามารถดึงดูดบริษัทระดับโลกที่เข้าไปลงทุนทำอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีสูงขึ้นต่างก็เข้าไปลงทุนในเวียตนามเพื่อการส่งออกไปในตลาดโลกได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ

ทั้งหมดนั้นทำให้ประเทศหลัก ๆ ในอาเซียนยกเว้นไทยที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นน่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงเท่าเดิมต่อไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งผลก็คือ GDP ของเพื่อนบ้านของไทยก็จะโตอย่างรวดเร็วไล่กวดและทิ้งห่างไทยออกไปเรื่อย โดยตัวเลขที่ผมลองคำนวณดูว่าถ้าเศรษฐกิจไทยยังโตต่อในระดับ 2% ต่อปี ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศโตต่อไปในระดับตั้งแต่ 2.7% ของสิงคโปร์ และสูงสุดของเวียดนามและฟิลิบปินส์ที่ 5.7% อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า?

แน่นอนว่าอินโดนีเซียจะยังคงเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีขนาด GDP ถึง 2.33 ล้าน ๆ ดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ ประเทศไทยที่เป็นประเทศ “ใหญ่ที่สุดอันดับสองในปัจจุบัน” ด้วยตัวเลข GDP ที่ 512,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาด GDP “เล็กที่สุด” ที่ 624,356 ล้านเหรียญ รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่ประมาณ 650,000 ล้านเหรียญที่ถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็กในกลุ่มในแง่ของจำนวนประชากร ส่วนฟิลิบปินส์กับเวียดนามจะแข่งกันเป็นอันดับสองที่ใกล้เคียงกันมากโดยมี GDP ในระดับ 750,000 ล้านเหรียญขึ้นไป

ในด้านของตลาดหุ้นนั้น อีก 10 ปีข้างหน้าคงพูดยากว่าประเทศไหนจะให้ผลตอบแทนการลงทุนดีกว่ากัน เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วขึ้นกับขนาดและคุณภาพของบริษัทที่จะต้องเติบโตและมีขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งในอีก 10 ปีก็มักจะต้องเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่แข่งขันได้ ซึ่งในกรณีนี้ผมคิดว่าคู่แข่งที่จะชิงความเป็นหนึ่งก็น่าจะเป็นเวียดนามกับอินโดนีเซีย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/ ... nt/1128524