บทความ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จาก กรุงเทพธุรกิจ

Thanonlongtun
Posts: 70
Joined: Tue Apr 11, 2023 11:32 pm

 
หุ้น Corner-Extreme By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
01 เม.ย. 2566 เวลา 16:41 น.

ปรากฎการณ์  “น่าทึ่ง” ของตลาดหลักทรัพย์เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนก็คือ  หุ้น DELTA ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับอิเลกทรอนิกส์และระบบสำรองไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงในการผลิตรถที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงมาก โดยวันที่ 29 มี.ค. 2566 ปรับตัวขึ้น 2.86% วันที่ 30  มี.ค. ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 9.35% ซึ่งทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับบริษัท ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีอะไร 

 และถึงวันที่ 31 มี.ค. ราคาก็ยังปรับตัวขึ้นต่ออีก 3.82%  รวมแล้วภายในเวลา 3 วันทำการ  ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นไปจาก 978 บาทต่อหุ้นเป็น 1,142 บาท คิดเป็น 16.8%  ทำให้บริษัทมีมูลค่าหุ้นหรือ Market Cap. ถึง 1,424,509  ล้านบาท และกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่หรือมีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  โดยหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 มีมูลค่าน้อยกว่าประมาณ 30% 

 ที่จริงหุ้น DELTA เมื่อ 3-4 ปี ก่อนนั้น  ยังเป็นหุ้น “ขนาดกลาง” ที่แทบไม่มีใครสนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือเข้าไปเล่น  Market Cap. ของบริษัทเท่ากับ 66,734 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562  เป็นบริษัทลูกของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออกแทนบริษัทแม่ อาจจะเนื่องจากการผลิตที่ประเทศไทยอาจจะได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า บริษัทมียอดขายในปี 2562 ที่ 51,800 ล้านบาท กำไร 2,960 ล้านบาท  กำไรต่อยอดขาย 5.7% 

 ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับหุ้นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ก็ไม่มีใครอยากลงทุน  เพราะนี่คือ “หุ้นโรงงาน” ที่ขายสินค้าให้อีกโรงงานหนึ่ง  ที่มักจะไม่ค่อยมีอำนาจทางการตลาดหรือความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่งอื่นที่ผลิตชิ้นส่วนและมักจะขายไปทั่วโลกเหมือนกัน มองในแง่ของการลงทุนระยะยาวแล้ว  บางคนก็ยังกลัวว่า วันหนึ่งถ้าคนไทยรวยขึ้น การเป็นฐานการผลิตสินค้าก็อาจจะโตหรืออยู่ได้ยาก  เพราะอาจจะมีประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอย่างเช่นเวียดนามมาแข่งได้ 

 แต่แล้ว  “ปาฏิหาริย์” ก็เกิดขึ้นเมื่อโลก ต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงในปี 2020 หรือปี 2563 ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลมากขึ้น เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าที่บังเอิญเติบโตขึ้นมากในเวลาเดียวกัน 

 นอกจากนั้น โควิดยังก่อให้เกิดการขยายตัวของเม็ดเงินสภาพคล่องในตลาดอย่างมหาศาลอานิสงส์จากการที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อต่อต้านการตกต่ำของเศรษฐกิจที่อาจจะตามมาจากการระบาดของโควิด-19  ซึ่งนั่นก็ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์โดยเฉพาะต่อราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องดังกล่าว  เพราะเงินสภาพคล่องเหล่านั้นต่างก็เข้ามาซื้อขายหุ้นเพื่อเก็งกำไรกันอย่าง  “บ้าคลั่ง”  ตั้งแต่กลางปี 2020 และต่อมาจนถึงสิ้นปี 2021  ซึ่งทำให้หุ้นดิจิทัลรวมถึงหุ้นเทสลาปรับตัวขึ้นไปมหาศาล 

 หุ้น DELTA ดูเหมือนว่าจะอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน  เพราะส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนป้อนให้กับผู้ซื้อรายใหญ่ระดับโลกที่กำลังต้องการสินค้าที่ “ขาดตลาด” เนื่องจากหลายประเทศเช่น จีน  ต้องปิดโรงงานเพื่อหนีโควิด  ยอดขายของ DELTA ในปี 2020 หรือปี 2563 เพิ่มขึ้น 23% แต่กำไรโตก้าวกระโดด จาก ประมาณ 3,000 ล้านบาท เป็น 7,000 ล้านบาท เพราะมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายปรับตัวขึ้นจาก 5.7% ซึ่งน่าจะเป็นอัตราปกติ เป็น 11% เพราะสินค้าในตลาดขาดแคลนหนัก 

 หุ้น DELTA ที่เคยเงียบเหงามาน่าจะเป็นสิบๆ ปี จึงถูก “กวาดซื้อ” จากนักลงทุนซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นต่างชาติ และเนื่องจากเป็นหุ้นที่มีฟรีโฟลทหรือสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย  ทำให้ราคาหุ้น “วิ่งระเบิด” Market Cap. พุ่งขึ้นไปจากประมาณ  66,700 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2562 เป็น 606,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2563 หรือโตขึ้น 9 เท่าในเวลาเพียงปีเดียว  และกลายเป็นบริษัท “Top Ten” ของไทย  คล้าย ๆ  กับหุ้นเทสลาที่โตเร็วพอ ๆ  กันในตลาดหุ้นอเมริกา 

 ปี 2564 ยังเป็นปีที่ตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงมีการเก็งกำไรกันอย่าง “บ้าคลั่ง” หรือมากกว่าเดิมเพราะโควิด-19 ยังรุนแรงเหมือนเดิม  เช่นเดียวกับสภาพคล่องทางการเงิน  รวมถึงการที่นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่เข้าสู่ตลาดหุ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลรุ่นใหม่ที่มีต้นทุนในการซื้อขายหุ้นต่ำมาก  หุ้นและทรัพย์สินดิจิทัลปรับตัวขึ้นสู่ “พีค” หรือจุดสุดยอดใหม่  “กูรู” และ “นักทำนายอนาคต” ต่างก็ประกาศว่า “โลกใหม่” มาถึงแล้ว และมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเฟซบุคเป็น  “เมตาเวิร์ส” หรือ  “โลกเสมือน” ที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล 

 รายได้ปี 2564 ของ DELTA เพิ่มขึ้น 33% เป็น 84,814 ล้านบาท  แต่กำไรกลับลดลง 6% เหลือ 6,699 ล้านบาท  เนื่องจากอัตรากำไรต่อยอดขายลดลงจากที่เคยสูงถึง 11% ลดลงเหลือ 7.9% ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่คู่แข่งเริ่มเข้ามามากขึ้น  อาจจะเนื่องจากเพราะมีการเปิดโรงงานได้มากขึ้นแล้วจากมาตรการที่เคยเข้มงวดมากในจีน  และนั่นทำให้นักลงทุนขายหุ้น DELTA ออกมาบ้าง  Market Cap. ของหุ้นลดลงเหลือ 514,000 ล้านบาทหรือลดลงประมาณ 15% 

 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักลงทุนที่เข้ามาเล่นในลักษณะ  Corner หุ้นตัวนี้ก็ยังไม่ได้ถอย  เพราะราคาหุ้นระดับนี้ยังทำให้ค่า P/E สูงถึง 83 เท่า ค่า P/B สูงถึง 13 เท่าในขณะที่ “หุ้นโรงงาน” ทั่วๆ ไปนั้น ค่านี้มักไม่เกิน 2-3 เท่าเป็นอย่างมาก ปี 2565 หรือ 2022 เป็นปีที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น  “อวสานของการเก็งกำไร” หรืออวสานของเหรียญและหุ้นดิจิทัลหรือหุ้นไฮเทคเพราะทรัพย์สินเหล่านั้นมีราคาตกลงมาหลาย10%จากจุดสูงสุด  เหตุผลก็คงเป็นเรื่องที่โควิด-19 เริ่มสงบลง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มช่วงต้นปีเริ่มส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้รัฐทั้งหลายต้องต่อสู้กับ “ศัตรูตัวใหม่” โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นและสินทรัพย์โดยเฉพาะดิจิทัล  “วาย”  

 แต่กิจการของ DELTA ไม่ได้ลดลง  ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเป็นประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% เช่นเดียวกับกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็น 15,344 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 129% จากปี 2564 เนื่องจากมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายของสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 12.8%  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากสะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินค้าของบริษัทนั้นยังมีสูงมาก 

 และนั่นก็ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้น DELTA กันอย่างหนักทั้ง ๆ  ที่ภาวการณ์เก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยเริ่มชะลอตัวลงมาเรื่อย ๆ  ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันลดลงมาก  ไม่ต้องพูดถึงการเก็งกำไร โดยวิธี Corner หุ้นที่ลดลงมาก หุ้นหลายตัวดูเหมือนว่า  Corner จะเริ่มทยอย “แตก” เมื่อผลประกอบการเริ่มแสดงให้เห็นว่าลดลงหรือไม่โตอย่างที่คิดแล้ว 

 แต่หุ้น DELTA นั้น กลับดีขึ้นอีก  ดังนั้น คนก็แห่กันเข้าเล่นหุ้นจำนวนน้อยที่เหลืออยู่ที่คนยังมีความมั่นใจสูง  Market Cap. เมื่อตอนสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1,035,000 ล้านบาท  เป็นหุ้นในระดับ “TOP 3” ของตลาด  แต่ถ้าวัดจากรายได้หรือแม้แต่กำไรในปีที่  “ปกติ” ก็ยังไม่ใช่หุ้นตัวใหญ่ 

 ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ  ด้วย Market Cap. ระดับ 1,400,000 ล้านบาท ในวันนี้และเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์นั้น  เป็นราคาที่สมเหตุผลไหมมองในแง่ของพื้นฐานของกิจการ?  หุ้นตัวนี้แท้จริงแล้วเป็นหุ้นที่ถูก Corner หรือไม่?  และถ้าเป็น  จะ “แตก”  เมื่อไร? 

 ในความเห็นของผม  ผมคิดว่าหุ้นตัวนี้น่าจะอยู่ใน  Corner มองจากราคาหุ้นที่สูงมากเกินกว่า  “คุณภาพ” ของกิจการนั่นคือ  มันมีค่า P/E ปกติสูงถึง 93 เท่า ค่า P/B 26 เท่า  สูงกว่าลักษณะหรือคุณสมบัติของธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลางที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีระดับต้น ๆ  ของโลกอย่างกรณีของหุ้น TSMC ของไต้หวัน  ดังนั้น  ค่า P/E ที่เหมาะสมไม่น่าจะสูงกว่า P/E เฉลี่ยของตลาดที่ไม่เกิน 20 เท่า 

 และถ้าจะพูดในด้านของการเติบโตของกำไรแล้ว  ผมก็คิดว่า   กำไรในระยะยาวก็คงไม่โตเร็วเหมือนเดิมที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุลของ Demand-Supply ของโลก “ชั่วคราว”   ผมเชื่อว่าภายในเวลาไม่เกิน 2-3 ปี  ทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งรวมถึงกำไรต่อ ยอดขายที่ประมาณไม่เกิน 7-8% ซึ่งจะกระทบถึงกำไรของกิจการที่จะโตช้าหรือถดถอยลง  ซึ่งนั่นก็เสี่ยงที่จะทำให้ Corner “แตก” และราคาหุ้นตกเป็น “หายนะ” ได้  

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1060976
 
 
 
 

 
 
Thanonlongtun
Posts: 70
Joined: Tue Apr 11, 2023 11:32 pm

 
ดร.นิเวศน์ : เส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างหุ้น Value-Growth-Corner

วันที่ 16 เมษายน 2566


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนวีไอ สะท้อนภาพเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างหุ้น Value-Growth-Corner ที่นักลงทุนต้องรู้วันที่ 16 เมษายน 2566 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนเน้นคุณค่า (value investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ “VI พันธุ์แท้” มานาน และได้เห็น VI โดยเฉพาะที่เป็นคนรุ่นหลังหน่อยโดยเฉพาะที่มีอายุน้อยลงมาจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าเป็น VI เหมือนกัน

 แต่ก็มีหลักการและความคิดแตกต่างจาก VI ดั้งเดิมไปพอสมควร เฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาจะเน้นการลงทุนที่ค่อนข้าง “Aggressive” และต้องการ “ทำกำไร” อย่างรวดเร็วแบบ “นักเก็งกำไร” ที่ผมเรียกว่าเป็น “Value Speculator” แทนที่จะเป็น “Value Investor”

 ที่จริงคำว่า Value Speculator นั้น ไม่ได้มีในสารบบทางวิชาการ สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับ Value Investor ก็คือ “Growth Investor” ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับ Value Investor แนว วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือแนว VI ที่เน้นลงทุนใน “ซุปเปอร์สต็อก” อย่างที่ผมเองทำในช่วง “ปีทอง” หรือ “ทศวรรษทอง” ของการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทย


 โดยเฉพาะในช่วงหลังปีวิกฤตซับไพร์ม 2008 หรือ 2551 ถึงประมาณ 2560 ซึ่งทำให้นักลงทุนแบบ VI ของไทยจำนวนมาก “รวยไปเลย” โดยเฉพาะที่เป็น “Value Speculator” นั้น น่าจะได้ผลตอบแทนมากกว่า Value Investor ที่มักจะไม่ค่อยได้ใช้มาร์จินหรือ Leverage และมักจะระวังตัวมากกว่าในยามที่ตลาดกำลังเป็นช่วงกระทิงดุถึงวันนี้ เมื่อตลาดหุ้นไทยพัฒนาขึ้นมากใน

ด้านของแนวคิดการลงทุน ผมคิดว่าเราควรกำหนดให้ชัดเจนขึ้นว่าหลักการใหญ่ของการลงทุนของแต่ละแบบเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าจะได้เข้าใจว่าเรากำลังเป็นนักลงทุนแบบไหน เรื่องนี้สำคัญกับผลตอบแทนระยะยาวของนักลงทุน เช่นเดียวกันกับเรื่องของการปฏิบัติและเรื่องของ “จิตวิทยา” ของนักลงทุนเองว่าจะเป็นอย่างไรหรือต้องเผชิญอะไรเมื่อเราเป็นนักลงทุนแบบหนึ่งแทนที่จะเป็นอีกแบบหนึ่งเปิดที่มาแนวคิด VI

แต่เดิมก่อนที่จะกำเนิดแนวคิด Value Investment หลังปี 2540 ในตลาดหุ้นไทยนั้น นักลงทุนหรือควรจะเรียกว่า “นักเล่นหุ้น” นั้น ไม่ได้ใช้หลักวิชาอะไรมากนัก ส่วนใหญ่ก็มักจะอาศัย “ฟังจากข่าว” หรือ “ข่าวลือ” หรือ “ข้อมูลภายใน” แล้วก็จะเข้าไป “ซื้อ-ขายหุ้น” รายวันหรืออย่างมากก็รายเดือนในหุ้นที่ได้หรือเสียประโยชน์จากข่าวเหล่านั้นนอกจากนั้นแล้วก็จะมีเรื่องของนักเล่นหุ้น “รายใหญ่” ที่มีเพียงหยิบมือเดียว ที่จะมีการ ซื้อ-ขาย หุ้นรายตัวในปริมาณมากที่สามารถจะชี้นำราคาหุ้นได้ โดยทั้งหมดนั้นก็มักจะมีการปล่อยข่าวและหลาย ๆ กรณีก็จะ “ปั่นหุ้น” ไปด้วย


 VI เป็น Concept หรือแนวทางการลงทุนแบบใหม่ที่เกิดขึ้นและนำโดย “นักลงทุนรุ่นใหม่” ที่มักมีการศึกษาสูงและศึกษาทฤษฎีการลงทุนใหม่ที่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะจาก วอเร็น บัฟเฟตต์ สิ่งที่พวกเขาทำก็คือ การลงทุนในหุ้นนั้นจะต้องมีการ “วิเคราะห์” ธุรกิจของบริษัทอย่างลึกซึ้ง

ตั้งแต่ด้านของการตลาด การผลิต คุณสมบัติของผู้บริหารและสุดท้ายด้านการเงินและผลประกอบการที่จะบอกถึงคุณภาพและอนาคตของการเติบโตของธุรกิจ นอกจากนั้น ยังต้องวิเคราะห์ถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้วยว่าสามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ดีแค่ไหน พูดง่าย ๆ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเลยก็ยากที่จะเป็น VIก่อนที่จะเข้าลงทุน VI ยังต้องวิเคราะห์ว่า “ราคาหุ้น” นั้นจะต้องถูกพอที่จะทำให้มี “Margin of Safety” หรือ “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” เพียงพอหรือไม่? นั่นก็คือ มันถูกกว่ามูลค่าของบริษัทที่คิดจากความแข็งแกร่งและผลประกอบการของบริษัทในปีนั้นและปีต่อ ๆ ไปอีกยาวนาน มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้เกิดความปลอดภัยในกรณีที่อาจจะวิเคราะห์ตัวบริษัทผิดพลาดหรือมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเข้ามากระทบกิจการของบริษัทรุนแรง

 เข้าใจแนวคิด Value-Growth-Cornerหลักการของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เพิ่มเติมขึ้นมาจาก VI ดั้งเดิมแบบของ เบน เกรแฮม ตรงที่มักจะเลือกเฉพาะกิจการที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน และ “เติบโต” เร็วด้วย ดังนั้น นักลงทุนไทยที่เป็น VI ตั้งแต่เริ่มแรก

จึงเน้นว่า หุ้น VI คือหุ้นของกิจการที่ “ดี” และ “โตเร็ว” ด้วย โดยที่คำว่าดีก็คือเป็นกิจการที่มีกำไรดี และคำว่าโตก็คือ กำไรเพิ่มขึ้นเร็ว จากตัวเลขที่เห็นในขณะนั้น และจากการวิเคราะห์ไปข้างหน้าConcept หรือแนวคิดของหุ้น “Growth” นั้น เน้นว่าจะต้องเป็นหุ้นที่ธุรกิจ “โตเร็ว” หรือโตเร็วมากที่นำเสนอโดย ฟิลิป ฟิสเชอร์ ซึ่งก็มักจะเกิดขึ้นจากบริษัทที่ขายสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือบริษัทที่มีรูปแบบหรือการจัดโครงสร้างใหม่ในการทำธุรกิจที่เหนือกว่าแบบเดิมในอุตสาหกรรม หุ้นลักษณะนี้จะเติบโตเร็วมาก

ถ้าซื้อไว้ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นไปเร็วและสูงมาก ดังนั้น เรื่องของราคาหุ้นว่าถูกหรือแพงก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะวันหนึ่งกำไรของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นมากจนคุ้มค่ากับราคาที่เราจ่ายมองจากประเด็นของตัวธุรกิจที่จะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและต้องเป็นธุรกิจที่ “ดี” ก็จะพบว่าหุ้น Growth นั้นแทบจะเหมือนกับหุ้น VI แนว วอเร็น บัฟเฟตต์ จะแตกต่างก็อยู่ที่ว่าราคาของหุ้นนั้น ในกรณีหุ้น Growth เราจะไม่ค่อยสนใจว่าจะแพงหรือถูก

เหตุผลก็คือ ส่วนใหญ่แล้วมูลค่าของหุ้น Growth นั้น ประเมินได้ยากมาก เพราะมันขึ้นอยู่กับการเติบโตของกำไรในอนาคตอันยาวไกลว่าจะมากน้อยแค่ไหน และถ้าตั้งสมมุติฐานผิดแม้เพียงเล็กน้อย มูลค่าที่คำนวณได้จะต่างไปมากมหาศาลดังนั้น พวกเล่นหุ้น Growth จึงไม่ค่อยจะสนใจหาว่าราคาหุ้นที่เหมาะสมจะเข้าซื้อเป็นเท่าไร พวกเขาจะสนใจแต่ว่า ถ้าราคาหุ้นยังวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ซื้อไป ไม่ต้องดูราคาว่าถูกหรือแพง อาจจะเรียกว่าดู “โมเมนตัม”

และถ้าหุ้นเริ่มลงก็อาจจะขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงเร็ว ๆ นี้ ยังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่นิยมและเป็นหุ้นที่ “ดีสุดยอด” เพราะราคาหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงมาก บางทีภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปีราคาหรือมูลค่าหุ้นขึ้นไปหลายเท่าตัวนอกจากนั้น ธุรกิจก็ “ดี” มีกำไรเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ “มีอนาคต” ที่สำคัญผู้บริหารมี “วิสัยทัศน์” ที่ก้าวไกลและพยายามนำบริษัทให้เติบโตในระดับ “แสนล้านบาท”

แต่สิ่งหนึ่งที่คนอาจจะไม่รู้ก็คือ หุ้นของบริษัทที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาดมักจะมีน้อยเมื่อเทียบกับขนาดโดยรวมของบริษัท และผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่บางรายก็อาจจะเข้าไปกวาดซื้อหุ้นของบริษัทจำนวนมากซึ่งทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปเร็วและสูงกว่าหุ้น Growth คือภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือภายใน 1-2 ปี

ราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปเป็น 10 เท่าซึ่งหุ้นเหล่านี้ผมเรียกว่าเป็นหุ้น Corner หรือหุ้นที่ถูก Corner คือถูกซื้อจนหมดซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้นไปอย่างแทบจะเป็นไปไม่ได้แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่แยกได้ยากจากหุ้น Growth เพราะมันมักจะมีกำไรที่เติบโตแรงช่วงเร็ว ๆ นี้ อยู่ในอุตสาหกรรมที่อาจจะเป็น “อนาคตของโลก” ผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่เข้าไปกวาดซื้อและให้ความเห็นต่อสาธารณชน อาจจะรวมถึงการที่บริษัทจะโตเป็น “แสนล้านบาท”แม้ว่าขณะนั้นบริษัทยังเล็กมาก


เช่นเดียวกับในส่วนของราคาว่าอะไรคือราคาหุ้นที่เหมาะสมที่มักไม่มีใครสนใจ ดังนั้น ตราบใดที่ราคาหุ้นในตลาดยังขึ้นอยู่ นั่นก็คือราคาที่เหมาะสมข้อสรุปของผมก็คือ เส้นแบ่งว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น Value ที่เน้นแนว Growth หรือซุปเปอร์สต็อก กับหุ้น Growth ในนิยามแบบวิชาการที่นำเสนอโดยฟิลิป ฟิสเชอร์ และหุ้นที่ถูก Corner ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้นั้น “บางมาก” นั่นก็คือ มันยากที่จะบอก เวลาที่ผ่านไปเท่านั้นที่จะบอกได้ชัดเจนว่าหุ้นตัวไหนที่จริงแล้วเป็นหุ้นอะไร

 เพราะเมื่อถึงเวลานั้น หุ้นที่เป็น Value ก็มักจะ “อยู่ทน” คือขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจจะช้า ๆ ส่วนหุ้น Growth เองนั้น เวลาที่ธุรกิจหรือตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ราคาก็อาจจะทยอยถอยลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็หยุดลงในจุดที่เหมาะสม และหุ้น Corner เองนั้น มีโอกาสสูงว่า ราคาจะลงไปในระดับ “หายนะ”


ที่มา: https://www.prachachat.net/finance/news-1264402
 

 
Thanonlongtun
Posts: 70
Joined: Tue Apr 11, 2023 11:32 pm

Wind of Change : ประเทศไทยซ้ายหันBy ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR22 เม.ย. 2566 เวลา 21:29 น.

ปี 1989 การเมืองและการปกครองของสหภาพโซเวียตรัสเซียกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเนื่องมาจากการ “ปฏิรูปการปกครอง” ของประธานาธิบดีโกบาช้อบที่เน้นเรื่องของ “ความโปร่งใสและการเป็นประชาธิปไตย” แทนที่จะเป็นเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์เดิม 

ในส่วนของประชาชนเองนั้น  ได้มีการจัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่กรุงมอสโก คือ “Moscow Music Peace Festival” หรือ “เทศกาลดนตรีเพื่อสันติภาพแห่งมอสโก” ซึ่งในงานนั้นวงดนตรีของเยอรมันคือ The Scorpions ได้รับเชิญจากโกบาช้อบให้มาร่วมแสดงด้วยและก็เป็นครั้งแรกที่วงดนตรีจากเยอรมัน ได้มาแสดงที่รัสเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

 เพลงที่แสดงในครั้งนั้นเพลงหนึ่งคือ  “Wind of Change” ซึ่งพรรณนาถึงบรรยากาศของมอสโกที่กำลังอบอวนไปด้วยความฝันและเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะได้อยู่ในโลกแห่งความรุ่งโรจน์ในอนาคตที่กำลังมาถึง  มันเหมือนสายลมในค่ำคืนฤดูร้อนที่พัดโบกผ่านอดีตกาลสู่อนาคตที่แสนมหัศจรรย์ที่ซึ่งโลกจะมีสันติภาพและเสรีภาพและคนใกล้ชิดกันดุจพี่น้อง

 และนี่ก็คือ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่ได้ “พัดผ่านไปสู่เยอรมันตะวันออก” เป็นที่แรกเมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายลงในอีก 3 เดือนต่อมา  ไม่ต้องพูดถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในอีก 2 ปี  พร้อมๆกับการล่มสลายของรัฐเผด็จการในยุโรปตะวันออกเกือบทั้งหมด  และรวมไปถึงระบบ Apartheid ที่ให้อำนาจคนขาวเป็นใหญ่ใน แอฟริกาใต้ที่ต้องล้มลงในปี 1994

 เพลง Wind of Change กลายเป็น “เพลงชาติ” ของการสิ้นสุดของสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับโลกสังคมนิยม  บางคนโดยเฉพาะที่เป็นชาวเยอรมันบอกว่า  Wind of Change เป็น “เพลงแห่งศตวรรษ” เพราะมันปลดปล่อยเยอรมันตะวันออกให้กลับมาอยู่กับตะวันตกในโลกเสรีโดยไม่ต้องมีสงครามไม่ว่าจะเป็นอะไร 

คำว่า Wind of Change มีความหมายถึง กระแสของความคิดหรือเหตุการณ์ต่างๆ  ที่มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะทางการเมืองที่คนไม่คิดว่าจะเปลี่ยนได้  ใครจะไปคิดว่ากำแพงเบอร์ลินที่แข็งแกร่งและไม่มีใครสามารถจะหลุดรอดไปได้จะพังทลายในชั่วข้ามคืนโดยไม่ต้องใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มแม้แต่นัดเดียว  แต่เกิดขึ้นเพราะคนเยอรมันตะวันออกเปลี่ยนความคิดว่า  กำแพงไม่ควรจะมีอยู่ต่อไป  เช่นเดียวกับระบบการปกครองที่ประชาชนไม่ต้องการแล้ว

 เหตุการณ์และปรากฎการณ์ทางการเมืองในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยนั้น  ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องและ “รุนแรงมาก”  ไม่ใช่เป็นความรุนแรงทางกายภาพประเภทเลือดตกยางออก  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลง “ภายในจิตใจ” ที่ลึกซึ้ง 

อานิสงส์จากการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูลที่มีไม่จำกัดและไม่มีใครสามารถขัดขวางหรือกีดกันได้อีกต่อไป  เช่นเดียวกับการที่คนไม่เห็นหรือไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งถึงวันที่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะถูกแสดงออกผ่านการกระทำบางอย่าง รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  “การเลือกตั้ง” ที่อาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อไม่นานมานี้  เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนกำลังเปลี่ยนไป  โดยที่พวกเขาต้องการเลือกคนที่เป็นตัวแทนความคิดของตนเอง  และไม่ได้เลือกคนที่จะมาเป็น “นาย” หรือคนที่จะมาช่วยเหลืออนุเคราะห์เวลาที่ตนเองมีปัญหา 

 พูดง่ายๆ  เลือกคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศที่มีความสามารถและอุดมการณ์ตรงกับตนเองซึ่งก็เป็นแนวทางที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว  เช่น  จากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ “ขวาหรือซ้าย” เป็นแนวเผด็จการอำนาจนิยมหรือแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย  เป็นต้น  แทนที่จะเลือกบุคคลที่ตนเองชื่นชอบหรือคนที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างในอดีต

 การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.2566 นั้น  สัญญาณทุกอย่างดูเหมือนจะคล้ายกับการเลือกตั้งผู้ว่ามากเพียงแต่ว่าเป็นระดับทั้งประเทศ  ซึ่งก็อาจจะทำให้คนคิดว่าในต่างจังหวัดประชาชนอาจจะคิดไม่เหมือนกัน  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่อาจจะยังเลือกตัวบุคคลประเภท  “บ้านใหญ่” มากกว่าจะคิดถึงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง  ดังนั้น  เรื่องของการชนะแบบ  “แลนด์สไลด์” อย่างที่เลือกผู้ว่าคงไม่เกิดขึ้น

 แต่นั่นอาจจะเป็นความคิดทางการเมือง “รุ่นเก่า” แม้ว่าจะเพิ่งผ่านมาไม่กี่ปี  ขณะนี้เราอาจจะอยู่ในสถานการณ์  “Wind of Change” ที่การเมืองไทย กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  คนกำลังเลือกผู้แทนที่มีอุดมการณ์ที่ตนเองชอบ หรือต้องการมากกว่าการเลือกคน “บ้านใหญ่”

และผลโพลที่มีการสำรวจจนถึงประมาณ 1 เดือนก่อนเลือกตั้งบอกว่าคนไทยกำลังสนใจหรือเลือกพรรคที่มีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยมากกว่าอนุรักษ์นิยมอย่างมาก  และตัวเลขที่ผมเห็นนั้น  จะทำให้จำนวน ส.ส. ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งมากจนสามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด  ลองมาวิเคราะห์ผลจากโพลดู

 สมมุติว่าพรรคแรกได้คะแนนเสียงพรรคทั่วประเทศตามโพล คือได้ 45% พรรคอันดับสองของฝ่ายเสรีประชาธิปไตยได้ 25%  ก็แสดงว่าฝ่าย “ซ้าย” จะมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 70 คน  “ฝ่ายขวา” จะได้ส.ส. ไม่เกิน 30 คน ในขณะที่ ส.ส. เขต ตามโพลก็ออกมาแบบเดียวกันคือ  45% และ 25% ตามลำดับ 
ในขณะที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจากโพล คือ 12% สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะแตกต่างกับปาร์ตี้ลิสต์  เพราะในการแข่งขันระดับเขตนั้น  เฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเท่านั้นที่จะได้เป็น ส.ส. คนที่ได้คะแนนอันดับสองจะไม่ได้อะไรเลย  เป็นคะแนน “ตกน้ำ”

 ดังนั้น  ถ้าทุกเขตทั่วประเทศ 400 เขต  ได้คะแนนในอัตราส่วนเท่ากันทั้งประเทศ  พรรคฝ่ายซ้ายอันดับ 1 ที่มีคะแนน 45% ก็จะได้ ส.ส.ไปทั้งหมด 400 คน กลายเป็นแลนด์สไลด์ได้ ส.ส. 445 คน จาก 500 คน  แต่ความเป็นจริงนั้น  แต่ละเขตก็มีผู้สมัครที่เป็น  “บ้านใหญ่” มีคะแนนนิยมส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับพรรค  ทำให้เขตนั้นเขาอาจจะได้คะแนนสูงอาจจะเกิน 50% ของคะแนนทั้งหมดในเขตและเป็นผู้ชนะได้เป็น ส.ส. แม้ว่าคะแนนที่ได้จากชื่อพรรคจะมีน้อยกว่าหรือน้อยมากก็ได้

 สมมุติว่าพรรคอันดับหนึ่งนั้น  มีบางเขตที่คะแนนเสียงไม่ดี ได้ไม่ถึงค่าเฉลี่ยที่ 45%  อาจจะได้แค่ 30% ซึ่งอาจจะมาจากคะแนนพรรคเป็นหลักแต่คะแนนส่วนตัวแทบไม่มีเลย  พรรคอันดับ 2 ได้คะแนน 35% โดยมาจากคะแนนพรรค 25% และคะแนนส่วนตัวอีก 10%  ผลก็คือ  เขตนี้พรรคอันดับ 2 ก็จะชนะพรรคอันดับ 1 ได้เป็น ส.ส.

 เช่นเดียวกัน  พรรคอันดับ 3 ถึงประมาณ 5 หรือต่ำกว่านั้นก็มีสิทธิที่จะได้ ส.ส. แม้ว่าคะแนนเสียงจากพรรคจะมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย  อย่างไรก็ตาม  พรรคอันดับ 3 นั้น  โอกาสก็ยังมีอยู่บ้างเนื่องจากคนเชื่อว่าเป็นตัวแทนของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่คนรุ่นเก่าและคนในบางภาคเช่น ภาคใต้  จำนวนมากยังเชื่อมั่นและยอมรับอยู่

 ลองมาสมมุติต่อว่า  ตัวเลขที่พรรคอันดับ 1- 5 จะได้ ส.ส. เขต  คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของส.ส.เขตทั้งหมดเท่าไร  อิงจากโพลตัวเลขคะแนนรวมของทุกเขตหรือทั้งประเทศ

โดยอัตราส่วนแบบ “กำปั้นทุบดิน” ของผมก็คือ อันดับ 1 จะได้ ส.ส. เขต 60% ของส.ส.เขตทั้งหมด 400 คน อันดับ 2 ได้ 15% อันดับ 3 ได้ 10% อันดับ 4 และ 5 ได้พรรคละ 5% ก็จะพบว่า  พรรคอันดับ 1 จะได้ ส.ส.เขต 240 คน อันดับ 2 ได้ 60 คน  อันดับ 3 ได้ 40 คน  อันดับ 4 และ 5 ได้พรรคละ 20 คน

 และเมื่อรวมกับส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดของแต่ละพรรคก็จะพบว่า พรรคอันดับ 1 น่าจะได้ส.ส.ทั้งหมด 285 คน  เป็น  “แลนด์สไลด์”  อันดับ 2  ได้ประมาณ 85 คน  อันดับ 3 ได้ 51 คน  อันดับ 4 ได้ 25 คน  อันดับ 5 ได้ 23 คน  รวมแล้ว 469 คน  ที่เหลืออีก 31 คนกระจายไปอยู่ในพรรคเล็กพรรคน้อยที่น่าจะมีส.ส. พรรคละไม่เกิน 5 คน

 ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นรัฐบาล “ฝ่ายซ้าย” อ่อน ๆ  และสภาจะประกอบไปด้วยพรรคใหญ่ไม่เกิน 3 พรรคที่มี ส.ส. เกิน 50 คน  และทั้งหมดนี้ก็เป็นการประเมินตัวเลข ส.ส. จากโพลที่  “ยังไม่นิ่ง” แต่ภาพใหญ่ก็คงจะไม่เปลี่ยน  ผมไม่รับประกันความถูกต้อง และไม่ซีเรียส  เรียกว่าเป็นการ “เล่นสนุก” เหมือนการทายผลผู้แพ้-ชนะในมหกรรมฟุตบอลโลกมากกว่า


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1064439
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

เส้นทางสู่ความมั่งคั่งในชีวิต By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

06 พ.ค. 2566 เวลา 20:49 น.

ผมคิดว่า “เส้นทางสู่ความมั่งคั่งในชีวิต” ของผมนั้น  มาโดยความ “บังเอิญ”  เป็นสิ่งที่ “ไม่ได้คาดคิด” มาก่อน  เป็น “โชคดี” ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ และการกระทำหลายๆอย่างในชีวิตต่อเนื่องมายาวนาน   

ถ้าจะใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ  เป็น  “Serendipipity”  ซึ่งแปลอย่างง่ายๆ  ว่า  “โชคหรือสิ่งดี ๆ  ที่เกิดขึ้นหรือค้นพบโดยไม่ได้คาดฝัน”  คำๆนี้มีที่มาจากเทพนิยายเรื่อง “The Three Princes of Serendip” หรือเจ้าชาย 3 องค์แห่งเซอรันดิป ซึ่งก็คือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน  โดยในเนื้อเรื่องหลักก็คือเจ้าชาย 3 องค์ชอบเดินทางผจญภัยไปเรื่อย ๆ  และมักจะค้นพบสิ่งดี ๆ  ที่ไม่ได้แสวงหาโดยบังเอิญอยู่เสมอ

ผมเคยเล่าเรื่องชีวิตของตนเองมาพอสมควรว่า ตอนที่เริ่มต้นลงทุนอย่างจริงจังแบบ VI เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีก่อนนั้น  ผมไม่ได้คิดว่าตนเองจะรวย  ผมคิดเพียงแต่ว่าจะ  เอาตัวเองให้รอดและรักษาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวให้ได้แบบเดิมที่เป็นแบบคนชั้นกลางค่อนข้างดีได้อย่างไรเมื่อตนเอง “ตกงาน” และเศรษฐกิจของประเทศกำลังล่มสลายในวิกฤติครั้งใหญ่ปี 2540 

ในตอนนั้น  ผมคิดว่าผมคงเอาตัวรอดได้  และลึกๆ  ก็คือ  ผมตั้งเป้าหมายที่จะเป็น  “ผู้นำของ VI ในประเทศไทย”  แต่เรื่องของความมั่งคั่งหรือร่ำรวยนั้น  ไม่ได้คิด  แม้ว่าเมื่อลงทุนไปซักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่า  บางทีเราอาจจะมีเงินในระดับที่เรียกว่ามี “อิสระภาพทางการเงิน” อย่างสมบูรณ์ก่อนเกษียณที่อายุ 60 ปี

และ ก่อนตายหรือหมดความสามารถที่อายุ 80 ปี  ผม “อาจ” จะมีเงินเป็นพันล้านบาทได้  ด้วยพลังของ  “ผลตอบแทนทบต้น” ของการลงทุน  อย่างไรก็ตาม  เงินพันล้านบาทในอนาคตอีกประมาณเกือบ 40 ปี  จะเรียกว่าเป็นคนรวยจริงๆ  ก็อาจจะไม่ได้  เพราะเงินเฟ้อคงบั่นทอนอำนาจซื้อลงไปมากจนอาจจะไม่ใช่คนรวยจริงๆ อีกต่อไป

เวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ ผมคิดว่าผมโชคดีที่ตลาดหุ้นและโดยเฉพาะหุ้นแบบ VI ได้เติบโตขึ้นมาก และทำให้  VI จำนวนมากซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงตัวผมเองด้วย  สามารถสร้างผลตอบแทนสุดยอด  “เหนือจินตนาการ”  เหนือกว่าตัวเลขผลตอบแทนของนักลงทุนระดับ “เซียนของโลก” หลายๆ คนที่ผมเคยศึกษามาในช่วงเวลาเดียวกัน  ความมั่งคั่งจากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ VI ไทยในช่วงเวลาดังกล่าวที่ผมเรียกว่าเป็น  “ทศวรรษทองของ VI” นั้น  เพิ่มขึ้นจนทำให้ VI จำนวนมากรวมถึงที่มีอายุไม่มากเหมือนผม  “รวยไปเลย”

ผมพยายามหาว่า อะไรทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น?   VI ไทยมีความสามารถหรือเก่งขนาดนั้นเลยหรือ?  คำตอบที่คิดจากตนเองเป็นหลักก็คือ  แน่นอนว่าความสามารถก็คงมีส่วน  แต่สิ่งที่ทำให้ผลตอบแทนดีสุดยอดจริง ๆ ก็คือ  “โชค”  ที่ผมเรียกว่า Serendipity  และโอกาสที่จะเกิดอีกครั้งในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นคงมีน้อยมาก 

นักลงทุนที่หวังจะได้ผลตอบแทนทบต้นแบบนั้นอีกในอีก 20  หรือ 30 ปีข้างหน้าในตลาดหุ้นไทยคงจะเป็นไปไม่ได้  เมื่อคำนึงถึงว่าทศวรรษทองของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของไทยในยามที่คนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วนั้น  ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว

ถ้าเช่นนั้น  เส้นทางสู่ความมั่งคั่งในชีวิตของนักลงทุน “รุ่นใหม่” ในวันนี้จะไปทางไหน?  และคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากจะรวยหรือมีความมั่งคั่งสูงในชีวิตจะเป็นอย่างไร?

คำตอบของผมก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง  นั่นก็คือการมองย้อนอดีตที่ผมรวยขึ้นมาว่าผมทำอะไรมาบ้างเริ่มตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี  ถึงตอนนี้ผมมองเห็นชัดขึ้น  เพราะผมคิดย้อนหลังและมักจะเขียนมันออกมาผ่านบทความและการให้สัมภาษณ์ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

ประเด็นแรกก็คือ  ถ้าเราอยากจะรวย  เราจะต้องรู้  “กฎของความมั่งคั่ง”  ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ  โอกาสที่เราจะรวยหรือมีความมั่งคั่งสูงก็จะต่ำ  แน่นอนว่ามีคนรวยได้เหมือนกันทั้งๆที่ปฏิบัติผิดกฎ   ตัวอย่างเช่น  คนที่ซื้อลอตเตอรี่แล้วถูกรางวัลใหญ่  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเราปฏิบัติถูกกฎ  โอกาสที่จะรวยนั้นก็อาจจะสูงมาก  บางคนถ้ามีปัจจัยแห่งความสำเร็จเพียงพอบางอย่าง  เช่น  เรียนเก่งและเรียนจบเป็นแพทย์เฉพาะทาง  การที่เขาจะมีความมั่งคั่งระดับพันล้านบาทในชีวิตนั้น  แทบจะการันตีถ้าเขาปฏิบัติตามกฎแห่งความมั่งคั่ง

กฎแห่งความมั่งคั่งก็คือ  เรื่องที่ผมอุปมาเปรียบเทียบกับตะเกียงวิเศษ 3 ดวง  ที่ถูกเปิดพร้อมกันและมีความสว่างไสวมาก ซึ่งก็คือมีความมั่งคั่งสูงมาก  โดยที่ตะเกียงดวงแรกก็คือ เงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและถูกเก็บออมไว้หรือเงินที่ได้รับโดยเสน่หาหรือเงินมรดก  วิธีที่จะเพิ่มเงินส่วนนี้ให้มากก็คือ  ต้องเป็นคนประหยัดใช้จ่ายแต่จำเป็น 

นอกจากนั้น  ถ้ายังรู้สึกว่าเงินก้อนนี้เพิ่มขึ้นไม่ทันใจ เพราะรายได้หรือเงินเดือนไม่สูงอย่างอาชีพหมอ หรือเป็นงานแบบผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญ  เราก็อาจจะที่ต้องเลื่อนรายจ่ายใหญ่ที่  “จำเป็น”  เช่น  การซื้อบ้านและรถยนต์ออกไปด้วย  และนั่นก็คือสิ่งที่ผมทำ  ว่าที่จริงผมเองเพิ่งจะมีรถยนต์ของตนเองเมื่อเกษียณตอนอายุ 52 ปีไปแล้ว  และมีบ้านของตนเองจริง ๆ หลังจากนั้นอีก 3-4 ปี

 ผมเองคิดว่า  สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมรวยนั้น  มาจากการเป็นคนประหยัดเก็บเงิน  ถ้าผมไม่ได้ทำอย่างนั้น  ผมไม่รวยแน่  และก็คงต้องทำงานไปจนเกษียณ  อาจจะอายุ 65 ปี  และผมคิดว่านี่คือเส้นทางที่คนส่วนใหญ่ที่อยากรวยแต่พ่อแม่ไม่รวยควรจะเลือกเดิน  นั่นก็คือ  ทำงานหนักทำงานฉลาดและเก็บออมสูง  แม้แต่สิ่งสำคัญอย่างบ้านและรถยนต์ถ้าเลี่ยงได้ก็อย่าเพิ่งรีบซื้อ

ตะเกียงดวงที่ 2 คือ การลงทุนเงินที่เก็บออมได้ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยธรรมชาติ  นั่นก็คือหุ้น  อาจจะทั้งในตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจจะเป็นบริษัทธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นโดยที่ตนเองมีความสามารถที่จะบริหารได้โดยที่ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวน้อย  ตัวอย่างอาจจะเป็นการเปิดคลีนิคพิเศษที่ตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคบางอย่าง เป็นต้น

แต่ถ้าไม่มีจุดแข็งอะไรเป็นพิเศษ  การเลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด  เพราะเรายังสามารถทำเงินเพิ่มความสว่างของตะเกียงดวงที่ 1 ที่จะไม่ริบหรี่ลง  แต่มักจะสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ  ตามอายุงานและความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น

สิ่งสำคัญถ้าจะเลือกเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือการเลือกว่าเราจะลงทุนในตลาดไหนและด้วยกลยุทธ์อย่างไร?  เพราะในระยะยาวแล้ว  ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มักจะขึ้นอยู่กับว่าประเทศที่ตลาดตั้งอยู่จะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน  ยกตัวอย่างเช่น  ตลาดหุ้นอเมริกานั้น  เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตมาตลอดและมีขนาดใหญ่มาก

การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐที่ผ่านมาเป็นร้อยปีจึงให้ผลตอบแทนที่  “ดีสุดยอด”  ญี่ปุ่นเองก็เคยเจริญเติบโตเร็วมากตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  จนถึงประมาณ ปี 1989 แต่ถ้าใครเข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 1990 เขาอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลยจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี เพราะเศรษฐกิจแทบจะหยุดโตไปแล้ว

ถ้าคิดว่าเรามีความรู้และความสามารถในการเลือกหุ้นลงทุนเอง  อาจจะเป็นแบบ VI  และไม่ต้องการความเสี่ยงสูงเกินไปโดยการกระจายความเสี่ยงในหุ้นอย่างน้อยซัก 10 ตัวขึ้นไป  ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นจากประมาณปีละ 9% จากการลงทุนในกองทุนรวม เป็นปีละ 12% แบบทบต้น 

นี่ก็จะทำให้เส้นทางแห่งความมั่งคั่งของเราสูงขึ้นแบบทวีคูณในระยะยาว  เช่น  แทนที่จะมีเงิน 100 ล้านก็อาจจะเป็น 1,000 ล้านบาทในวันที่เราตาย  แต่การได้ผลตอบแทนปีละ 12% นั้นก็ไม่ใช่เรื่องงาน  เพราะนั่นก็เป็นผลตอบแทนใน “ระดับโลก” เหมือนกัน

สุดท้ายก็คือตะเกียงดวงที่ 3 เรื่องระยะเวลาในการลงทุนต่อเนื่อง  ยิ่งยาวก็จะยิ่งรวย ว่าที่จริง  ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ที่สุดนั้น  มักไม่ใช่เรื่องของเงินต้นหรือผลตอบแทนการลงทุน  แต่เป็นระยะเวลาการลงทุน  ถ้าเรามีความมุ่งมั่นและศรัทธา  ไม่รีบถอนเงินมาใช้และมีสุขภาพที่ดีอายุยืน  ความมั่งคั่งก็จะมาเองแทบจะอัตโนมัติ  คนอาจจะตกใจว่าวอเร็น บัฟเฟตต์ ตอนอายุ 60 ปีนั้น  มีเงินแค่ไม่เกิน 5% ของความมั่งคั่งของเขาในวันนี้ที่เขามีอายุถึง 92 ปี

แผนหรือกลยุทธ์สู่ความมั่งคั่งดังกล่าวนั้น  ถ้านำไปคำนวณตามโปรแกรมของนักบริหารการเงิน  ก็แทบจะบอกได้เลยว่าสุดท้ายแล้วเราจะมีความมั่งคั่งเป็นเท่าไร  โดยที่ความผิดพลาดก็อาจจะไม่สูงมาก  โอกาสที่อย่างไรเราก็เอาตัวรอดได้นั้นน่าจะค่อนข้างสูง  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าเราโชคดี  เกิด “Serendipity” ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตอย่างที่ VI จำนวนมากได้ประสบในช่วงกว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา  เราก็อาจจะรวยไปเลย

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1066846    
 
 
 
Last edited by thanonlongtun_p on Mon May 15, 2023 9:21 am, edited 1 time in total.
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

ศิลปะการลงทุนระยะยาว By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR 

13 พ.ค. 2566 เวลา 13:26 น.

การลงทุนระยะยาวในแบบของ VI นั้น  คือ “การลงทุนเพื่อชีวิต” ซึ่งผมเองคิดว่า  นี่คือการลงทุนเพื่อเอาไว้ใช้ในวันที่เกษียณไม่สามารถทำงานหาเงินจากน้ำพักน้ำแรงได้แล้ว  หรือไม่ก็ลงทุนเพื่อให้ลูกหลานได้ใช้เป็นเงินมรดกในวันที่เราตายไปแล้ว แต่จริงๆแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมก็คือ  ลงทุนเพื่อ “ความมั่นคงทางการเงิน” ของตนเองในระหว่างที่ยังมีชีวิต  นั่นก็คือ  เมื่อเราลงทุนจนมีเงินก้อนโตพอสมควรหรือรวยแล้ว  เราก็จะรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตว่า  ยังไงเราก็จะไม่ลำบาก ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิตของเรา หรือครอบครัว  เช่น  การเจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น  เป็นต้น

การลงทุนระยะยาวนั้น  ความหมายแรกที่คนจะคิดถึงก็คือ  การลงทุนในหุ้นแต่ละตัวที่จะถือไว้ “ยาวนาน”  แต่คำว่ายาวนาน สำหรับบางคนก็อาจจะเป็นแค่ไม่กี่เดือนหรือปีเดียว  ถ้าเป็นแนวคนที่เรียกตัวเองว่า “VI” ผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะมองเป็นระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป  โดยคนที่ถือยาวขึ้นมาหน่อยก็อาจจะถึง 2-3 ปีขึ้นไป  ในขณะที่ VI ที่สูงอายุขึ้นมาก็มักจะถือยาวกว่านั้น  และก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของ VI ด้วย 

อย่างตัวผมเอง  ในช่วงซักประมาณ 10-15 ปีแรกของการลงทุนแบบ VI  ผมก็ถือประมาณ 1-3 ปี  แต่หลังจากนั้นที่เปลี่ยนมาลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” เป็นหลัก  ระยะเวลาเฉลี่ยในการถือหุ้นก็สูงขึ้นมากเป็น 5-10 ปีขึ้นไป

ความหมายของการลงทุนระยะยาวอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  การลงทุนตลอดเวลาโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์  และมีหุ้นในสัดส่วนที่มากเกิน 50% ของทรัพย์สินทั้งหมด  คนที่เข้าๆ ออ ๆ  จากตลาดตามสถานการณ์ตลาดหุ้นและการเงินนั้น  จะไม่ถือว่าเป็นนักลงทุนระยะยาวและเพื่อชีวิต  แต่น่าจะเป็น “นักเก็งกำไร” มากกว่า  และ “ชีวิต” ก็มักจะ “ไม่เปลี่ยน” เพราะการลงทุน

การลงทุนระยะยาวของผมในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมานั้น  ผมคิดว่ามีแนวทางหรือการปฏิบัติที่ชัดเจนและมั่นคงขึ้นมาก  และถ้าจะพูดก็คือ  มีส่วนคล้ายกับแนวทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ผมทำตามโดย “ไม่รู้ตัว”  เหตุผลอาจจะเป็นว่า ผมอ่านและศึกษาเรื่องราวและชีวิตของเขาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่เริ่มลงทุนแบบ VI เมื่อ 30 ปีก่อน  และต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่ผมใช้ในการลงทุน

ข้อแรกก็คือ  การเลือกหุ้นที่จะลงทุนนั้น  จะต้องวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ว่าเป็นกิจการที่ดีจริง  มีความมั่นคงของผลประกอบการสูง  ไม่ถูกดิสรัปหรือถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีหรือกระบวนการทำธุรกิจแบบใหม่ ๆ  ได้ง่าย  และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ราคาหุ้นต้องไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นฐานระยะยาวของบริษัท

และนั่นก็นำไปสู่การซื้อหุ้นลงทุนว่า  ผมจะไม่ซื้อหุ้นที่กำลังปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง  ไม่ต้องพูดถึงหุ้นที่ขึ้นอย่าง  “บ้าคลั่ง” เพราะมีคนเข้าไปเล่นตามข่าวหรือผลประกอบการรายไตรมาศที่พุ่งขึ้นอย่าง “ไม่คาดคิด” เป็นหลาย ๆ  สิบหรือร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์  เพราะผมไม่เชื่อเรื่องราวที่ว่าบริษัทกำลังจะเปลี่ยนจากม้าเป็นยูนิคอร์น  หรือเปลี่ยนจากกบเป็นเจ้าชายเมื่อถูกเจ้าหญิงจุมพิต

ผมเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแบบ “ไม่คาดคิด” นั้น  มักจะเป็นเรื่อง  “ชั่วคราว” และเป็นเรื่องของความเชื่อมากกว่าความจริง  ผมชอบบริษัทเก่า ๆ  ที่มีสถิติหรือผลงานที่ดีต่อเนื่องมายาวนาน  จ่ายปันผลมาแทบจะตลอดทุกปีและค่อย ๆ ขยับขึ้น  เป็นบริษัทที่  “ผ่านร้อนผ่านหนาว” มาหลายรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ

ข้อสองก็คือ  ผมไม่มี  “Exit Strategy”  หรือซื้อแล้วไม่มีกลยุทธ์ในการขาย  ซื้อเหมือนกับมันเป็น “ธุรกิจ” หนึ่งของตนเอง ไม่ใช่หุ้น  สิ่งที่เฝ้าติดตามอย่างน้อยทุกไตรมาศก็คือ  รายได้และกำไรเป็นเท่าไร  อนาคตยังดีต่อไปไหม  ไม่เคยคิดว่าราคาหุ้นเท่าไรจะขาย  แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขายหุ้นเลย  การที่จะขายหุ้นต้องดูปัจจัยอย่างอื่นอีกมาก   รวมถึงว่าราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปมาก  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับหุ้นที่ผมเลือก

ข้อสาม  การลงทุนระยะยาวก็คือ  ต้องพยายามหลีกเลี่ยง “ความเสี่ยง” ที่พอร์ตจะขาดทุนเป็น “รายปี”  เพราะในระยะยาวมากนั้น  ผมจะวัดผลตอบแทนเป็นรายปีเป็นหลัก  วิธีที่จะลดความเสี่ยงนี้ก็คือ  การลดความเสี่ยงหุ้นแต่ละตัว  ซึ่งจะต้องเป็นหุ้นที่มีความผันผวนต่ำของกำไรของบริษัท 

ดังนั้น  ผมมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เป็นโภคภัณฑ์ล้วนๆ  เช่น  ปิโตรเคมี  โลหะเช่น  เหล็ก หรือหุ้นของพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาของสินค้าขึ้นแรงและทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปแรงมากอย่างพวกยาง  หรือสินค้าบริการที่ราคาผันผวนอย่างค่าระวางเรือ เป็นต้น  เพราะหุ้นพวกนี้  มักจะมี  “Negative Surprise” หรือผลประกอบการลดลงมากอย่างไม่คาดคิด  หลังจากที่คนมักจะซื้อหุ้นตอนที่ราคาวิ่งขึ้นมาก ๆ

ความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเราถือหุ้นที่มีมูลค่ามาก 6-7 ตัวที่มีมูลค่าประมาณ 70-75% ของพอร์ต  โดยที่หุ้น 6-7 ตัวนั้นไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและตัวใหญ่สุดไม่เกิน 40-50% ของพอร์ต  บางคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญมากอาจจะถือได้ถึง 10 ตัว  แต่นั่นก็จะทำให้ผลตอบแทนที่ดีเลิศอาจจะลดลง  โดยที่หุ้น 6-7 ตัวดังกล่าวนั้น  ก็ไม่ได้เป็นตัวเดิมทั้งหมด  แต่จะมีการเปลี่ยนตัวไปบ้างในแต่ละปีที่อาจจะมีหุ้นเดิมหายไป 1 ตัวและมีหุ้นใหม่เข้ามาเพิ่ม 1 ตัว  เป็นต้น

ข้อสี่ เป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนต่อปีของพอร์ตลงทุนก็คือ  ประมาณปีละ 10% แบบทบต้นในระยะยาว  ซึ่งนี่ก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่ง่ายและไม่ยากเกินไปถ้าเราเลือกตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทน “ดีเลิศ” คือปีละ 10% แบบทบต้น  ข้อเตือนใจของผมก็คือ  อย่าไปเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในอนาคตระยะยาวอีกอย่างน้อย 10 ปีข้างหน้าจะให้ผลตอบแทนได้ถึง 10% ต่อปี  ว่าที่จริง  ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจของไทยโตเร็วเป็น  “ดารา”  ของโลกนั้น  ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นของตลาดก็อยู่ที่ประมาณ 8.5% เท่านั้น  ดังนั้น  ในยามที่เศรษฐกิจโตช้าลงมาก  การลงทุนตลาดหุ้นไทยโดยซื้อหุ้นอิงดัชนีอาจจะได้ผลตอบแทนปีละ 6-7% เท่านั้น

การตั้งเป้าผลตอบแทนที่ไม่สมเหตุผลจะทำให้แผนการลงทุนหรือกลยุทธ์การลงทุนผิดพลาดและเกิดความเสียหายจนทำให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะลงทุนเพื่อชีวิตไปได้เลย

ข้อห้า  เงินทั้งหมดที่เราเก็บออมได้นั้น  ต้องเข้าใจว่าจะถูกนำไปลงทุนตลอดเวลา  ไม่มีใครเก็บเป็น “เงินสด” ที่เป็นแบงก์  ดังนั้น การฝากเงินกับธนาคารก็ถือเป็นการลงทุนเหมือนกัน  แต่เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากเพียงไม่เกิน 1-2% ต่อปี  ซึ่งถ้าเราฝากมากเกินไป  โอกาสที่พอร์ตโดยรวมจะโตขึ้นปีละ 10% จึงเป็นไปได้ยาก  ผมเองคิดว่า  การลงทุนระยะยาวนั้น  จำเป็นที่จะต้องให้เงินอยู่ในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งก็คือหุ้น  ผมจึงลงทุนในหุ้นแทบจะ 100% ตลอดเวลา  ยกเว้นก็แต่ว่าจะกันเงินสดไว้ซัก  5-6% ในช่วงเวลานี้ที่ยังหาหุ้นลงทุนที่เหมาะสมไม่ได้

ข้อหก  การลงทุนระยะยาวนั้น  ผมจะมองดูเป็นภาพยาวของบริษัทและภาพยาวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งอยู่  โดยไม่ค่อยสนใจภาพในระยะสั้นที่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องชั่วคราว  เดี๋ยวก็จะผ่านไป  ภาพของบริษัทนั้น  การเติบโตรายปีหรือรายไตรมาศที่นักลงทุนแทบทุกคนจะสนใจและมักจะมีการ “Take Action”  หรือซื้อขาย  แต่ผมเองจะสนใจเรื่องของความสามารถในการแข่งขันของบริษัทมากกว่า  ตราบใดที่บริษัทยังแข็งแกร่ง  กำไรยังใช้ได้  และราคาหุ้นยังถูก  ผมก็มักจะไม่ทำอะไร  การนั่งเฉย ๆ  นั้น  เป็นศิลปะในการลงทุนที่ทำได้ยากกว่าการลงมือทำมาก

สุดท้ายก็คือ  การลงทุนระยะยาวนั้น  ต้องการความสงบเยือกเย็น  การเคลื่อนไหวที่ช้า  ไม่ต้องการความตื่นเต้นกับเหตุการณ์รายวันในตลาดหุ้น  ดังนั้น  ผมจึงมักจะตัดกิจกรรมที่ไม่ใช่เรื่องหลักของการมุ่งหน้าสู่เป้าหมายระยะยาว  แม้แต่การจองหรือเล่นหุ้น  IPO ที่เป็น “Sure Bet” หรือ  “ของตาย”  สำหรับหลายคน  ผมก็ไม่สนใจเล่น  ไม่ต้องพูดถึงหุ้นที่กำลังถูก “Corner” ที่ราคากำลัง “วิ่งทะลุฟ้า” และผมก็เชื่อว่าถ้าเข้าไปเล่นก็ได้กำไรแน่  ก็จะหลีกเลี่ยง  ผมคิดว่า  ทำอย่างที่วางแผนระยะยาวอย่างมั่นคงก็พอแล้ว  อย่าวอกแวกไปกับเทรนด์หรือสถานการณ์ชั่วคราวที่ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเราจะดีกว่า          

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1068120
 
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

ทศวรรษที่หายไป VS ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์ By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

20 พ.ค. 2566 เวลา 17:04 น

วันที่ 19 พ.ค. 2566 ดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1,515 จุด เทียบกับดัชนีเมื่อสิ้นเดือนพ.ค.ปี 2556 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ 1,562 จุด ก็แสดงว่า  ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้ปรับขึ้นเลย 

ถือว่าเป็น  “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป”  ในวันเดียวกัน  ดัชนีนิกเกอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นเป็น  30,808 จุด แตะจุดสูงสุดในรอบ 33 ปี  และเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี คือในวันที่ 1 ก.ค. 2555 หรือ 2012 ที่ 8,870 จุด ดัชนีก็ปรับตัวขึ้นไป 247% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ12% นับว่าเป็น “ทศวรรษทอง” ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของญี่ปุ่นที่อยู่ที่ประมาณ 0-1% ในช่วงเวลาเดียวกัน  นอกจากนั้น  ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ก็สูงถึง 18% และน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดในโลกตลาดหนึ่ง 

อะไรทำให้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาดีเยี่ยมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 20 ปีก่อนหน้านั้น?  คำตอบของผมเป็นเรื่องของ  “การเมือง” ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงตลาดหุ้นไทยที่เราเองกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ในวันที่ 1 ต.ค. 1979 หรือประมาณ 44 ปี ที่แล้ว  เศรษฐกิจและประเทศญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างแรง  ญี่ปุ่นกำลัง “ครองโลก” ในด้านของเทคโนโลยีการผลิตและกลยุทธการบริหารธุรกิจที่โดดเด่น  เช่น  เรื่องของการบริหารสินค้าคงคลังแบบ “Just in Time” ของโตโยต้า เป็นต้น “ถนนทุกสาย” ในเวลานั้นต่างก็มุ่งสู่ญี่ปุ่น  คนอเมริกันต่างก็กลัวว่าญี่ปุ่นกำลังจะ “แซงหน้า”สหรัฐที่กำลัง “ถดถอย” อานิสงส์จากสงครามเวียดนามและภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง

ตลาดหุ้นญี่ปุ่นบูมอย่างหนักเช่นเดียวกับทรัพย์สินสำคัญอย่างที่ดินที่มีราคาขึ้นสูง  แค่โตเกียวเมืองเดียวก็อาจจะมีมูลค่ามากกว่ารัฐที่ใหญ่ที่สุดอย่างแคลิฟอร์เนีย  เป็นต้น  ภายใน 10 ปี  ดัชนีนิกเกอิเพิ่มขึ้นจาก 6,569 จุด เป็น 38,916 จุด ในวันที่ 1 ต.ค. 1989 และก็เป็นจุดสูงสุดที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ผ่าน  ผลตอบแทนในช่วง 10 ปีคือ 492% หรือคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นปีละประมาณ  17.6% เป็นทศวรรษ  “เพชร” ที่หาได้ยากมากในตลาดหุ้นระดับโลก

หลังจากนั้น  ดัชนีก็เริ่ม  “ดิ่งเหว” สังคมญี่ปุ่นเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ  หายไป  สินค้าที่ถูกผลิตอย่าง “สมบูรณ์แบบ” ที่คนญี่ปุ่นทำได้ดีมากถูกแทนที่ด้วยสินค้าใหม่ๆ  ที่ถูกออกแบบให้ผู้บริโภคนิยมในราคาที่ต่ำลง   สินค้ายุคใหม่ที่เกิดจากการ “ปฎิวัติดิจิทัล” และความคิดสร้างสรรค์ของ  “เด็ก”   เข้ามาแทนที่สินค้าอุตสาหกรรมและบริการแบบเดิม  โดยที่สังคมและคนญี่ปุ่นที่ค่อนข้าง  “อนุรักษ์นิยม” ไม่สามารถจะตามทัน

ดัชนีนิกเกอิในช่วง 10 ปีหลังจากนั้นคือในวันที่ 1 ต.ค. 1999 ลดลงมาเหลือ 18,934 จุด หรือลดลงมาถึง 51.3% ตลาดหุ้นแทบจะเป็น  “นรก”  ของนักลงทุน  แต่นั่นก็ยังไม่พอ  เพราะเศรษฐกิจก็ยังไม่มีวี่แววที่จะฟื้น  เวลาผ่านไปอีก 10 ปี  ดัชนีในวันที่ 1 ต.ค. 2009 ลดลงมาอีกเหลือเพียง 10,546 จุด หรือตกลงไปอีก 44.3%  รวมแล้วภายในเวลา 20 ปี  ดัชนีนิกเกอิลดลงจาก 38,916 เหลือ 10,546 หรือลดลง 72.9% เงิน 100 เยน “ลงทุนระยะยาว” ในตลาดหุ้นโตเกียวเป็นเวลา 20 ปี เหลือเฉลี่ยเพียง 27 เยน  หุ้นญี่ปุ่น  “ตายแล้ว”  เช่นเดียวกับเศรษฐกิจและประเทศญี่ปุ่นที่ไม่รู้จะทำอย่างไรหรือจะไปทางไหน  และก็เช่นเดียวกับคนญี่ปุ่นที่แก่ตัวลงมากและดู  “ไม่มีอนาคต”

แต่แล้ว  ในปี 2012 ชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ “หนุ่มที่สุด” ที่เคยเป็นในปี 2006-2007 และลาออกไป เพราะโรคกระเพาะ ก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในการเลือกตั้งที่เกิด  “แลนด์สไลด์”  และเขามาพร้อมกับการ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่ของสังคมญี่ปุ่น  เขาประกาศนโยบาย  “ธนู 3 ดอก” ที่จะกระตุ้นและสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซามานานมาก 

ดอกแรกก็คือ  นโยบายทางการเงินจะต้องผ่อนคลายและอัตราเงินเฟ้อจะต้องขึ้นไปอยู่ที่ 2% ต่อปี 
 มีการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบมหาศาล  เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว  และตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปถึง 70% ในเวลาเพียงปีเดียว 

ธนูดอกที่สองคือนโยบายการคลัง  มีการอัดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างสาธารณูปโภค  เงินช่วยเหลือ SME และให้สิทธิประโยชน์กับการลงทุน เพื่อที่จะทำให้ GDP โตขึ้นเป็น 2% ต่อปี  พูดง่าย ๆ  เขาเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเรื่องของเสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาล  เขาคิดว่าถ้าเศรษฐกิจไม่โต  ความมั่นคงทางการคลังก็ไม่มี

ธนูดอกที่สาม ก็คือ  กลยุทธ์การเติบโตและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ  เช่นการเปิดเสรีทางการค้าและการทำสนธิสัญญาทางการค้าขนาดใหญ่ เช่น  TPP ซึ่งอาจจะจำเป็นที่จะต้องเปิดตลาดทางด้านสินค้าเกษตรที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น  นอกจากนั้น  เขาก็พยายามให้ผู้หญิงเข้ามาในตลาดแรงงานมากขึ้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เป็น  “สิ่งใหม่”  ในสังคมของญี่ปุ่น

และทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวถึงนั้น ทำให้คนเรียกแนวทางเศรษฐกิจนี้ว่าเป็น  “อาเบะโนมิกซ์” และในทางส่วนตัวเขาเองก็พยายามทำตัวให้ทันสมัยเป็นแนว “คนรุ่นใหม่” ที่มี “เสื้อผ้าหน้าผม” ที่คนระดับนายกจะไม่ทำกันในสังคมอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีอาเบะได้รับการเลือกตั้งอีกหลายครั้งประมาณ 4 สมัย  และเป็นนายกที่อยู่นานน่าจะที่สุดในยุคหลังสงครามโลก  และลาออกในปี 2020 เพราะโรคกระเพาะกลับมาคุกคามอีกครั้ง  จนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วในระหว่างการช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรคช่วงตั้งแต่อาเบะเป็นนายกในปี 2012 จนถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะดูดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนหน้านั้นแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะแก่ตัวไปอีกมากก็ตาม  ผมเองไม่รู้ว่ามาจากนโยบายของ “รัฐบาล” เป็นหลักหรือไม่  แต่ก็หาเหตุผลอื่นไม่ได้

กลับมาที่ประเทศไทย  การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก “รัฐบาลที่มาจากทหาร”  ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531 จนถึงปี 2534 นั้น   นายกชาติชายได้ประกาศ “แนวทางใหม่” ของประเทศ  จากการที่เคยสู้รบกับเพื่อนบ้านมาเป็น  “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า”  คือค้าขายกับเพื่อนบ้าน  และเปลี่ยนนโยบายประเทศมาเป็นแบบ  “ทุนนิยมเสรี” เต็มที่  ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนและเป็น  “มิตรกับนักธุรกิจ” ว่าที่จริงคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้นำพรรคการเมืองนั้นต่างก็มาจากนักธุรกิจหรือเป็นคนที่มีนักธุรกิจสนับสนุนในการเลือกตั้งจำนวนมาก 

ช่วงระหว่างการบริหารงานของรัฐบาลชาติชายนั้น   ประเทศไทยยึดหลักการเป็นตลาดทุนนิยมเสรีมาก  มีการเปิด “เสรีทางการเงิน” อนุญาติให้เงินต่างประเทศไหลเข้าออกแบบเสรีซึ่งรวมถึงการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วย  ผลก็คือ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นอย่างแรง   ช่วงหนึ่งเคยปรับจากประมาณ  320 จุด เป็น กว่า 1,100 จุด หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 250% ในเวลาเพียง 2.5 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 65%  และนี่ก็น่าจะเป็นผลจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่ “Pro Business” หรือสนับสนุนธุรกิจเอกชนและเปิดตลาดเสรีมากขึ้น 

ช่วงเวลาขณะนี้ที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งและกำลังเปลี่ยนรัฐบาลที่มีนโยบายแตกต่างจากเดิมค่อนข้างมาก  แต่ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะไม่ตอบสนองในทางที่ดีอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว  หรืออย่างในกรณีของช่วงนายกชาติชายเมื่อ 35 ปีที่แล้ว  อย่างไรก็ตาม  นี่เพียงเพิ่งจะเริ่มต้นไม่กี่วัน  อนาคตอีก 2-3 เดือนเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จหรืออีก 1-2 ปี ข้างหน้า  เราก็จะรู้ว่านโยบายหรือการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรและจะตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแค่ไหน

ในระหว่างนี้ผมคิดว่าผู้ที่จะรับผิดชอบประเทศต่อไป ก็ควรจะดูสัญญาณจากดัชนีตลาดหุ้นว่า  สิ่งที่จะทำนั้นจะมีผลบวกหรือเป็นลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวแค่ไหน  อย่าคิดว่าตลาดหุ้นนั้น  เป็นเสียงของคนส่วนน้อย  เพราะนี่เป็นเสียงของคนที่เป็นหรืออยู่ในศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ที่สามารถทำนายได้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน  ถ้าหุ้นขึ้นก็มักจะแปลว่านโยบายหรือสถานการณ์ไปถูกทาง  ถ้าหุ้นลงก็เป็นตรงกันข้าม

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1069463
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

ตลาดหุ้นกับรัฐบาล By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

27 พ.ค. 2566 เวลา 16:58 น.

การเมืองล่าสุดที่พรรค "ฝ่ายซ้าย" กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาล นี่ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยยังไม่เคยเจอ ในมุมมองคิดว่าตลาดหุ้นนั้น ชอบความเป็น "ทุนนิยมเสรี" มากกว่าการเป็น "สังคมนิยม"

ในช่วงที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงมาพร้อม ๆ กันจนดูเหมือนว่าการจัดตั้งและการมีรัฐบาลที่มีนโยบายหรือมีแนวความคิดทางการปกครองและการบริหารงาน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ อาจจะมีผลต่อตลาดหุ้น นั่นก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “รัฐบาล” ว่าที่จริง ในตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างในสหรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุก 4 ปี ก็มีการศึกษาว่าระหว่างรัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครทซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ทาง “ซ้าย” ที่เป็นเสรีนิยม กับพรรครีพับลิกัน ที่อยู่ทาง “ขวา” ที่อนุรักษ์นิยมกว่านั้น ตลาดหรือดัชนีหุ้นฝั่งไหนจะดีกว่า ซึ่งผลก็ดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างกันนัก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐบาลจากทั้ง 2 พรรคไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นนัก เลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้นแม้ว่าผู้ชนะจะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่เรามาดูตลาดหุ้นไทยบ้าง โดยผมจะเลือกเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่อยู่เกิน 2 ปีขึ้นไป

รัฐบาลแรกก็คือ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการกองทัพบกภายหลังจากการรัฐประหารและความวุ่นวายทางการเมือง (กรณี 6 ตุลาคม 2519) ในปี 2523 หรือหลังจากตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งมา 5 ปีในปี 2518 และการเกิดวิกฤติตลาดหุ้นกรณีราชาเงินทุนในปี 2522

วันแรกที่พลเอกเปรมเป็นนายกนั้น ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 138 จุด ซึ่งก็เป็นระดับที่ต่ำจากที่เคยสูงถึง 258 จุด หรือตกลงมาถึง 47% หลังวิกฤติในปี 2522 ภายใต้การบริหารงานของพลเอกเปรมนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวอนุรักษ์นิยมและส่วนใหญ่ก็อิงกับระบบราชการ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยที่พรรคการเมืองที่หนุนหลังนั้นก็กระจัดกระจายและไม่ได้มียุทธศาสตร์อะไรในการชี้นำประเทศ

ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้น “นิ่ง” ไปนานถึง 6 ปีจนถึงปี 2529 ที่ดัชนีก็ยังอยู่ที่ประมาณ 130 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยมนั้น ไม่ดีต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของระยะเวลา 8 ปี ครึ่งของพลเอกเปรม ดัชนีตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปแรงถึง 437 จุด แต่นั่นก็น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั้งต่างประเทศและของไทยที่กำลังเริ่มบูมมากกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล

รัฐบาลที่ 2 ก็คือ รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคการเมืองคือพรรคชาติไทย หลังจากที่พลเอกเปรมปฏิเสธที่จะเป็นต่อหลังการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2531 นโยบาย “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” และการ “สนับสนุนธุรกิจเอกชน” ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 2 ปี ครึ่ง ปรับตัวขึ้นช่วงหนึ่งจาก 320 จุด เป็น 1,100 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 250% ตามภาวะการณ์เติบโตอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการเงินของประเทศ และนี่ก็คือสิ่งที่ “ตลาดหุ้นชอบ” นั่นก็คือ “ทุนนิยมเสรี” 

รัฐบาลที่ 3 ก็คือ รัฐบาล ชวน หลีกภัย 1 ระหว่างปี 2535 ถึง 2538 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี นี่คือช่วงเวลาหลังรัฐประหารรัฐบาลชาติชายและต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปี 2535 ซึ่งประเทศไทยดูเหมือนจะ เข้าสู่ “ยุคใหม่” ของการปกครองที่พลเรือนที่เป็นนักการเมืองเป็นผู้นำแทนทหารและข้าราชการระดับสูง ดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มจากประมาณ 800 จุด ขึ้นไปถึง 1,754 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่ไม่ถูกทำลายต่อมาอีกกว่า 20 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีหุ้นกว่า 100% ในเวลาเพียงปี 1 ปี 4 เดือน

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย 2 เริ่มในช่วงปลายปี 2540 หลังเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในช่วงกลางปี และอยู่ถึงต้นปี 2544 เป็นเวลา 3 ปี 2 เดือน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ตกลงมา 55% ในปี 2540 เหลือเพียง 370 จุด ตอนสิ้นปี พยายามประคองตัวและปรับขึ้นบ้างแต่เมื่อประสบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายและการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและประเทศ แบบ “อนุรักษ์นิยม” และตามการชี้นำของ IMF ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงเหลือเพียงประมาณ 300 จุด กลายเป็น 3 ปีที่หายไป ส่วนหนึ่งจากวิกฤติไฮเทคของอเมริกาที่กำลังมาด้วย ซึ่งทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาถึง 44% ในปี 2544

รัฐบาลที่ 4 คือ รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ที่ชนะเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ด้วย “ความคิดใหม่” และเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคใหม่ของการสื่อสารฉายา “อัศวินคลื่นลูกที่สาม”  ภายในช่วง 3 ปีแรกจาก 5 ปี 7 เดือนในตำแหน่ง ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นไปจาก 300 จุดเป็น 772 จุดหรือเพิ่มขึ้น 157% ประเทศไทยจากสถานะเกือบล้มละลายได้รับการปรับอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือและสามารถใช้หนี้ IMF ได้หมดก่อนครบกำหนดเวลา

รัฐบาลที่ 5 คือ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2551 – 2554 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนหลังจากการรัฐประหารและความวุ่นวายทางการเมืองที่มีการประท้วงและต่อสู้ระหว่างคน 2 กลุ่มหรือคนเสื้อเหลือง-แดง อย่างไรก็ตาม ดัชนีตอนที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานนั้นอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดหลังวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ที่ 450 จุด ซึ่งเป็นการตกลงมาถึงประมาณ 48% ในเวลา 1 ปี และกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็น “ยุคทอง” ของการลงทุน ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 1,070 จุด หรือ 138% ในเวลา 2 ปี 8 เดือน ทั้ง ๆ ที่การเมืองกำลังวุ่นวาย แต่ก็ไม่มีสัญญาณว่าทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

รัฐบาลที่ 6 คือรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งจากปี 2554 -2557 เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน จากการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเด็ดขาด ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมั่นคงจากประมาณ 1,070 จุด เป็น 1,416 จุด หรือเพิ่มขึ้น 32% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 10.7% ต่อปี ทั้ง ๆ ที่ปัญหาการเมืองก็ยังคงรุนแรงและในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง

รัฐบาลสุดท้ายก็คือ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี 9 เดือน เป็นรองเฉพาะจอมพล ป. พิบูลสงครามและจอมพลถนอม กิตติขจร เท่านั้น ช่วงตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจจนถึงวันนี้ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ดัชนีตลาดลดลงจาก 1,562 จุดเป็น 1,531 จุด หรือลดลงประมาณ 2% หรือพูดง่าย ๆ นี่เป็นช่วง “ทศวรรษที่หายไป” ตลาดหุ้นแทบจะไม่ให้ผลตอบแทนเลยเป็นเวลาถึง 10 ปี และนี่ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ที่หุ้นไม่ไปไหนยาวนาน และในระหว่างนั้นก็ไม่ขึ้นแรงหรือตกแรง

ข้อสรุปของผมจากข้อมูลที่เห็นก็คือ ข้อแรก ตลาดหุ้นจะไม่ชอบการรัฐประหารและการใช้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาก ยิ่งรัฐบาลอยู่นานตลาดก็ยิ่งแย่หรือไม่โตเลย ข้อสอง แม้ว่าการเมืองจะมีความวุ่นวายและมีการประท้วงรุนแรง แต่ถ้าภาพใหญ่ยังปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นก็มักจะยังพอไปได้ ถ้าหุ้นตกลงมาต่ำมากจนเป็นวิกฤติ โอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัวกลับตามภาวะตลาดโลกอย่างในกรณีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังเป็นไปได้ หรือแม้แต่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตลาดหุ้นก็ยังพอไปได้แม้ว่าการเมืองจะวุ่นวายมาก

ตลาดหุ้นมักจะดีเมื่อมีรัฐบาลที่เกื้อหนุนธุรกิจ เน้นทุนนิยมเสรี เน้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เช่น การมีสัญญาการค้าและการเมืองกับนานาชาติ  เช่นสมัยชาติชาย ชุณหะวัน หรือมีการลดภาษีต่าง ๆ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจมาก ๆ อย่างกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีนโยบายรถคันแรกหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

การนำประเทศเข้าสู่ “ยุคใหม่” หรือผู้นำที่จะนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองใหม่หลัง “วิกฤติ” ต่าง ๆ อย่างในกรณีทักษิณ ชินวัตรก็มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง เช่นเดียวกับกรณีของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน และอาจจะรวมถึง ชวน หลีกภัย สมัยแรก ที่เปลี่ยนผู้นำจากทหารและข้าราชการเป็นรัฐบาลพลเรือน

สุดท้ายก็คือ เรื่องของการเมืองล่าสุดที่พรรค “ฝ่ายซ้าย” กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาล นี่ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยยังไม่เคยเจอ ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นนั้น ชอบความเป็นทุนนิยมเสรีมากกว่าการเป็น “สังคมนิยม” ที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านระบบการเก็บภาษีมากขึ้น เรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นจนกว่ารัฐบาลจะเข้ามาบริหารและผลกระทบส่งถึงตลาดหุ้นเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนนี้ได้สะท้อนเข้าในตลาดหุ้นบ้างแล้ว เพราะหลังการเลือกตั้งไม่กี่วันหุ้นก็ตกลงมาอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีเหตุผลอื่น

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1070609
 
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

เปิดพอร์ต 2 เพื่อนซี้ เด็กวิศวะ จุฬาฯ ดร.นิเวศน์ & ดร.ไพบูลย์ รวมกัน 5 พันล้าน

By อัญชลี สบายสุข | 03 มิ.ย. 2566 เวลา 6:00 น.


2 เพื่อนซี้นักลงทุนสาย วีไอ ที่มีความสนิทสนมกันตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ปัจจุบันมีการลงทุนผ่านคนในครอบครัวด้วย นอกจากบัญชีของตัวเอง โดยมีมูลค่ารวมกันระดับ 5,025.11 พันล้านบาท


ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา 2 เพื่อนซี้นักลงทุนสาย วีไอ หรือ Value Investor ที่มีความสนิทสนมกันตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทั้ง 2 คน ถือเป็นนักลงทุนรุ่นเก๋า รุ่นลายคราม ที่คร่ำหวอดคู่กับตลาดหุ้นไทยมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันถือว่า ทั้งคู่เป็นปรมาจารย์ให้แก่นักลงทุนมาจนถึงทุกวันนี้ 

ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สำรวจพอร์ตการลงทุนในหุ้นของ 2 เพื่อนซี้ ปัจจุบันมีการลงทุนผ่านคนในครอบครัวด้วย นอกจากบัญชีของตัวเอง โดยมีมูลค่ารวมกันระดับ 5,025.11 พันล้านบาท

เปิดพอร์ต ดร.นิเวศน์ & ดร.ไพบูลย์ 2 เพื่อนซี้ เด็กวิศวะ จุฬาฯ 

Image

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ปัจจุบันปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 2 หลักทรัพย์ 

1.บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW ทำธุรกิจสาธารณูปโภคด้านน้ำ บริหาร และจัดการระบบท่อส่งน้ำดิบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ถือหุ้นใหญลำดับ 7 จำนวน 10,000,000 หุ้น หรือ 0.60% รวมมูลค่า 49.80 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 4.98 บาท)  โดยหุ้น EASTW ดร.นิเวศน์ เริ่มปรากฎรายชื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2555 จำนวน 10,000,000 หุ้น หรือ 0.60%  

2.บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและให้เช่า บ้านพร้อมที่ดิน หน่วยในอาคารชุดพักอาศัย อาคารที่พักอาศัยให้เช่า (ธุรกิจเซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ โรงแรม) อาคารสำนักงาน รวมทั้งรับจ้างบริหาร และร่วมลงทุนในธุรกิจอื่นๆ.ถือหุ้นใหญลำดับ 3 จำนวน 250,000,000 หุ้น หรือ 2.33% รวมมูลค่า 570.00 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 2.28 บาท)  โดยหุ้น QH ดร.นิเวศน์ เริ่มปรากฎรายชื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กันยายน  2558 จำนวน 60,000,000 หุ้น หรือ 0.56% รวมมูลค่า 619.80 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังพบว่า น.ส. พิสชา เหมวชิรวรากร (ลูกสาว) ปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 หลักทรัพย์เช่นกัน 

1.บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH ถือหุ้นใหญลำดับ 8 จำนวน 150,000,000 หุ้น หรือ 1.40% รวมมูลค่า 342.00 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 2.28 บาท)  โดยหุ้น QH ลูกสาว ดร.นิเวศน์ เริ่มปรากฎรายชื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 จำนวน 60,000,000 หุ้น หรือ 0.56%
 
2.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถือหุ้นใหญลำดับ 10 จำนวน 13,500,000 หุ้น หรือ 0.46% รวมมูลค่า 122.17 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 9.05 บาท)  โดยหุ้น BCPG ลูกสาว ดร.นิเวศน์ เริ่มปรากฎรายชื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน  2560 จำนวน 12,000,000 หุ้น หรือ 0.60% 

รวมมูลค่า  464.17 ล้านบาท 

หากรวมพอร์ตของดร.นิเวศน์ และลูกสาวจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,083.97 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพอร์ตครอบครัวดร. นิเวศน์ ในครั้งนี้ ไม่ปรากฎรายชื่อ นาง เพาพิลาส เหมวชิรวรากร (ภรรยา) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 

พอร์ตการลงทุนของ ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา

1.บมจ.เอเอสเอ็น โบรกเกอร์ หรือ ASN ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยเน้นการขายประกันภัยรถยนต์เป็นหลัก ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 5 จำนวน 5,756,100 หุ้น หรือ 3.07% มีมูลค่า 16.11 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 2.80 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 จำนวน 1,202,700 หุ้น หรือ 0.93%

2.บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ดำเนินกิจการเจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงิน และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 69,854,837 หุ้น หรือ 6.39% มีมูลค่า 555.34 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 7.95 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 จำนวน 20,000,000 หุ้น หรือ 3.57%

3.บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ประกอบธุรกิจ 3 ประเภทหลัก ได้แก่
  1. ธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้
  2. บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน หรือบริษัทต่างๆ และนำมาบริหารจัดเก็บหนี้
  3. ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ และเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลธรรมด
ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 26,704,014 หุ้น หรือ 1.83% มีมูลค่า 1,134.92 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 42.50 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 จำนวน 20,000,000 หุ้น หรือ 3.57%

4.บมจ.เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม หรือ KLINIQ ดำเนินกิจการคลินิกเวชกรรมด้านผิวหนังความงาม ศัลยกรรมตกแต่งและการดูแลป้องกันฟื้นฟูสุขภาพ ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 6 จำนวน 10,168,982 หุ้น หรือ 4.62% มีมูลค่า 391.50 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 38.50 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 5,818,182 หุ้น หรือ 2.64%

5.บมจ.แมนดารินโฮเต็ล หรือ MANRIN ดำเนินธุรกิจโรงแรมให้บริการที่พักอาศัย จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การประชุมสัมมนา การจัดเลี้ยงและการให้บริการอื่น ๆ ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 758,600 หุ้น หรือ 2.82% มีมูลค่า 19.72 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 31 พ.ค.66 ที่ 26.00 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 จำนวน 758,600 หุ้น หรือ 2.82%

6.บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ประกอบกิจการสถานพยาบาลด้านความงามที่ให้บริการศัลยกรรมครบวงจร ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 3,629,800 หุ้น หรือ 1.51% มีมูลค่า 293.10 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 80.75 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 จำนวน 3,629,800 หุ้น หรือ 1.51%

7.บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL ประกอบธุรกิจประกันภัยต่อด้านการประกันชีวิตทุกประเภท โดยเบี้ยประกันภัยรับส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้เป็นเงินสำรองประกันชีวิต และดำเนินการบริหารเงินสำรองประกันชีวิตส่วนนี้โดยนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ครอบคลุมภาระที่จะเกิดขึ้น  

ดร.ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 5 จำนวน 15,552,400 หุ้น หรือ 2.59% มีมูลค่า 75.89 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 4.88 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 จำนวน 10,938,400 หุ้น หรือ 2.59%รวมมูลค่า 2,486.61 ล้านบาท 

ขณะที่ นาง วราณี เสรีวิวัฒนา ปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ CHAYO ลำดับ 8 จำนวน 18,387,715 หุ้น หรือ 1.68% มีมูลค่า 146.18 ล้านบาท เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 จำนวน 10,000,000 หุ้น หรือ 1.67%

ส่วนลูกสาว น.ส. พิชญ์สินี เสรีวิวัฒนา ปัจจุบันปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 หลักทรัพย์ 

1.บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 7 จำนวน 16,125,569 หุ้น หรือ 1.10% มีมูลค่า 685.33 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 42.50 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 จำนวน 2,164,842 หุ้น หรือ 0.55%

2.บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ  UAC ประกอบกิจการนำเข้า ขาย สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี โดยกลุ่มลูกค้าได้แก่ กลุ่มน้ำมัน ก๊าซ โรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่น โรงงานอุตสาหกรรมโพลิเมอร์และพลาสติก โรงงานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภค รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และระบบสาธารณูปโภค

ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 6 จำนวน 20,060,017 หุ้น หรือ 3.00% มีมูลค่า 83.85 ล้านบาท (คำนวณจากราคาปิด ณ วันที่ 1 มิ.ย.66 ที่ 4.18 บาท) เริ่มปรากฎรายชื่อเข้าถือหุ้นใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 จำนวน 1,000,000 หุ้น หรือ 0.67%

รวมมูลค่า 769.18 ล้านบาท 
หากรวมกันทั้งครอบครัว ดร.ไพบูลย์ จะมีมูลค่า 3,941.13 ล้านบาท

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1071603

 
 
 
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

อวสานของตลาดทุน? By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

10 มิ.ย. 2566 เวลา 14:57 น.

นโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของพรรคการเมือง ผู้นำที่กำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลในช่วงนี้นั้น  ก่อให้เกิดความกังวลต่อตลาดทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นไม่น้อย  เหตุผลก็เพราะว่า มีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงแนวทางหรือปรัชญาทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยใช้มานานและ  “ได้ผลดี”

ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้ “เจริญเติบโต” ต่อเนื่องมายาวนาน  นั่นก็คือ  เศรษฐกิจแบบ  “ทุนนิยมเสรี” ซึ่งก็ทำให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้นและส่วนใหญ่ก็  “พ้นจากเส้นขีดของความยากจน”  อย่างไรก็ตาม  จุดอ่อนหรือข้อเสียที่เกิดขึ้นก็คือ  “คนรวย” นั้นรวยขึ้นมาก “เกินไป”  ส่วนคนจนนั้นมีรายได้และทรัพย์สมบัติน้อยเกินไป  ความแตกต่างนั้นสูงลิ่ว  ทำให้เกิดความไม่พอใจในคนจำนวนมากที่ต้องการลดช่องว่างนี้

แนวทางใหม่ที่เสนอก็คือ  การเก็บภาษีธุรกิจที่ “คนรวย” เป็นเจ้าของมากขึ้น  เก็บภาษีกิจกรรมที่คนรวยทำมากขึ้น  และเก็บ “ภาษีทรัพย์สิน” ของคนที่รวยหรือมีความมั่งคั่งมากกว่าปกติมาก  นอกจากนั้น  ก็จะ  “จัดการ” กิจการของคนรวยที่  “ผูกขาด” การทำธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบคนที่รวยน้อยกว่าหรือเป็นธุรกิจรายย่อย  แล้วใช้เงินที่ได้เอามา  “แจกจ่าย”  หรือเป็น “สวัสดิการ” ให้แก่คนจน  หรือมองในทางวิชาการก็คือ  จะเปลี่ยนแนวทางหรือปรัชญาทางเศรษฐกิจให้เป็นแบบ  “สังคมนิยม” ที่เน้น  “ความเท่าเทียม” ทางเศรษฐกิจของประชาชนแทนที่การเน้นการเติบโตอย่างที่ทำติดต่อกันมายาวนาน

แต่คนรวยและรวยมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่และน่าจะมากกว่า 90% ของทั้งหมดที่ไม่ได้มาจากการทำผิดกฎหมายนั้น  ก็มักจะมาจากการ “ลงทุน” ทำธุรกิจ  และในระยะหลังๆ  ก็เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น  ว่าที่จริง  มูลค่าความมั่งคั่งของ “คนรวย” ที่อยู่ในตลาดหุ้นนั้นสูงถึงเกือบ 20 ล้านล้านบาท หรือมากกว่ารายได้ต่อปีของประชาชาติไปแล้ว  ดังนั้น เป้าหมายของการเรียกเก็บภาษีจึงเน้นไปที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์

ตัวอย่างภาษีที่มีการประกาศแล้วว่า อาจจะเก็บก็เช่น  ภาษีนิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 23%  ภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  การจัดการกับการ “ผูกขาด”  ของบริษัทขนาดใหญ่มากที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในตลาดหุ้น  และการเก็บภาษีความมั่งคั่งสำหรับคนที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกินกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจำนวนมากก็เป็นคนที่ถือหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์  เป็นต้น

ทั้งหมดนั้นมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทและการประเมินมูลค่าหุ้นอย่างแน่นอน และอาจจะรุนแรงซึ่งอาจจะทำให้หุ้นตก ซึ่งจะส่งผลให้การระดมทุนเพื่อขยายกิจการไม่เติบโต และในบางกรณีก็อาจจะมีการ “ถอนทุน” ออกจากประเทศไทยไปด้วย  โดยคนที่ถอนอาจจะเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่อาจจะมองว่าตลาดหุ้นไทยไม่เติบโตและให้ผลตอบแทนต่ำกว่าคู่แข่งที่เป็นตลาดที่เติบโตเร็วกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า  หรืออาจจะเป็นนักลงทุนไทยเองที่หันไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ    และนั่นก็จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย  ลดลง   ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินภาษีที่จะเก็บได้ลดน้อยลง  ไม่เพียงพอต่อการให้สวัสดิการที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในอนาคต

การตกลงของดัชนีตลาดหุ้น  ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของผลประกอบการเพราะการเก็บภาษีในระดับสูง  และการเพิ่มขึ้นของ “ต้นทุน” ของการซื้อ-ขายหุ้นเนื่องจากภาษีกำไรจากการลงทุนและอื่นๆ  นั้น  ยังส่งผลต่อ “คนชั้นกลาง” จำนวนมาก  อาจเป็นหลายล้านคน  ที่ลงทุน “ออมหุ้น” เพื่อการเกษียณ  พวกเขาเหล่านั้นต่างก็ลงทุนในหุ้นเองหรือผ่านกองทุนรวมหรือกองทุนต่างๆ  ที่ลงทุนในหุ้นที่เป็นทรัพย์สินที่  “ให้ผลตอบแทนสูงสุด”  เมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นๆ  โดยเฉพาะการฝากเงินในธนาคาร  แต่ถ้าหากว่าหุ้นไทย “ตกลงต่อเนื่องระยะยาว” อันเป็นผลจากนโยบายที่ “ไม่สนับสนุนตลาดทุน” ของรัฐ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร?  พึ่งพาสวัสดิการหรือ?

ทางเลือกหนึ่งของรัฐบาลที่จะทำได้ก็คือ
  การเพิ่มภาษี VAT แทน  ซึ่งจะได้เม็ดเงินเพิ่มตามจำนวนที่ต้องการและ  “ไม่ผิดพลาด” มาใช้ในการทำสวัสดิการที่ต้องการ และไม่เกิด “ผลข้างเคียง” มาก  ว่าที่จริงภาษี VAT ของไทยก็ยังต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก  ในขณะที่ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้น  โอกาสที่เม็ดเงินจะผิดพลาดนั้นสูงมาก  เนื่องจากทรัพย์สินที่อิงกับราคาหุ้นหรือปริมาณการซื้อขายหุ้นจะมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในทางที่ลดลง  ประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีที่ไทยกำลังคิดนำมาใช้นั้น  “น่าผิดหวัง”  หลายประเทศต้องเลิกเก็บภาษีดังกล่าวด้วยซ้ำ

อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ  การปรับลดงบประมาณของประเทศในส่วนงานอื่นที่มีความจำเป็นน้อยกว่า  เพื่อที่จะนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้ในงบสวัสดิการ  นี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะทำอยู่  แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้  อย่างไรก็ตาม  ความจำเป็นที่จะต้องให้สวัสดิการเต็มที่ทันทีก็ไม่ได้มากถึงขนาดนั้น  การค่อยๆ  “ปรับ” งบค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ดีนักก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจจะเหมาะสมกว่า

ในอีกด้านหนึ่ง  เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างรวดเร็วนั้น  ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก  เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและไม่พึงประสงค์ได้  ตัวอย่างเช่น  อาจจะทำให้ตลาดทุนตกต่ำลงซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจรุนแรง  ซึ่งจะกลับมาส่งผลต่อเม็ดเงินที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความยากจนและความเท่าเทียมและลดเม็ดเงินที่จะลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค  ซึ่งก็จะลดการลงทุนของเอกชนในตลาด  กลายเป็น “วัฏจักรแห่งความเลวร้าย”  ซึ่งน่าจะเคยเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในโลกที่ใช้นโยบาย “สุดโต่ง” เกินไป  และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ฟื้นจาก “วิกฤติ” ที่ร้ายแรงของประเทศ

เป้าหมายที่เป็นทางเลือกอย่างหนึ่งแทนที่ความเท่าเทียมเป็นหลักก็คือ  การลดจำนวนประชากรที่ยังอยู่ “ใต้ขีดความยากจนของประเทศ” ให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย  พูดง่าย ๆ  ทุกคนสามารถใช้ชีวิตที่ดีเพียงพออย่าง “มีศักดิ์ศรี” ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ  มีสวัสดิการรองรับในด้านของความเจ็บป่วย  การศึกษาและการตกงาน  เป็นต้น  โดยเป้าหมายนี้ยังเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก  โดยความเชื่อที่ว่า  เมื่อประเทศรวยจนถึงระดับหนึ่ง  เช่น  กลายเป็นสังคมที่มี “รายได้สูง” แล้ว  การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะง่ายขึ้นมาก  เพราะรัฐจะมีเงินมากพอ  เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ที่มีความมั่งคั่งพอที่จะจ่ายภาษีในอัตราที่สูงได้  และนี่ก็คงเป็นโมเดลของประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปหลายประเทศ

หลายคนอาจจะคิดว่าการพูดว่าตลาดทุนหรือตลาดหุ้นจะ  “พัง” หรือมีประสิทธิภาพลดลงมากจนไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้นั้น  อาจจะมองโลกในแง่ร้ายเกินไป  แต่ผมคิดว่าในโลกยุคปัจจุบันนั้น  “ความเชื่อสำคัญเท่า ๆ  กับความจริง” กล่าวคือถ้าคน “เชื่อ” ว่าประเทศเราไม่สนับสนุนตลาดทุนหรือตลาดหุ้น  หรือเราจะเป็น  “สังคมนิยม” เขาก็จะตัดสินใจไม่มาลงทุนหรือถอนการลงทุนออกไป  อาจจะโดยการขายหุ้นในตลาดอย่างต่อเนื่อง นั่นก็จะทำให้คนอื่นต้องทำตามเพราะกลัวหุ้นตก  และในที่สุดก็ทำให้ตลาดทุนและตลาดหุ้นตกต่ำลง  ความเชื่อก็กลายเป็นความจริง

สุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ  หลายคนอาจจะคิดว่า  ผมอาจจะมี  Bias หรือความลำเอียงในฐานะของคนในตลาดหุ้นที่จะต้องเสียภาษีหนัก  คำตอบของผมก็คือ  ถ้าคำนวณว่าสุดท้ายผมต้องเสียภาษีเทียบกับความมั่งคั่งไม่เกินปีละ 0.5-1% ต่อปี  ผมก็คงไม่เดือดร้อนหรอก  ถ้าตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 7-8% และผมอาจจะทำได้ดีกว่านั้นด้วย 

สิ่งที่ผมกลัวก็คือ  ตลาดหุ้นและตลาดทุนจะ  “วาย” ลงทุนแล้วดัชนีมีแต่จะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ   เรากำลังผ่าน  “ทศวรรษที่หายไป” ในปีนี้  และก็หวังว่าเราจะเริ่มฟื้นตัวสู่  “ทศวรรษแห่งความรุ่งเรือง”  หรืออย่างน้อยเป็น “ทศวรรษแห่งความยั่งยืน” หรือทศวรรษปกติ  แต่ถ้ามันไม่ใช่  นี่ก็อาจจะเป็น  “อวสานของตลาดหุ้น” ที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร 

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1072801
 
 
thanonlongtun_p
Posts: 3145
Joined: Mon Apr 17, 2023 1:05 pm

หุ้นสุดยอด…หายนะ By ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร | โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

17 มิ.ย. 2566 เวลา 21:50 น.

ช่วงเร็ว ๆ  นี้เราได้พบเห็นหุ้นที่  “เคยดีมาก” คือราคาเคยขึ้นไปอย่างรวดเร็วและสูงมาก  หลายตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหรือแค่ปีสองปี แต่แล้ว  หลังจากนั้น  มันก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว  หลายตัวลดลงมา 30-40% ขึ้นไป  บางตัวลดลงมาถึง 90%  และราคาเหลือแค่เศษสตางค์หรือหมดค่าไปเลยภายในเวลาไม่กี่เดือนหรือแค่ 2-3 ปี

คนที่ซื้อหุ้นก่อนที่ราคาจะขึ้นและขายก่อนที่มันจะตกลงมาแรง  ทำกำไรได้มโหฬาร  พวกเขาคงเรียกมันว่า  “หุ้นสุดยอด”  คนที่สังเกตการณ์หรือนักลงทุนในตลาดหุ้นเรียกพวกเขาว่า  “เซียน”  ส่วนคนที่เข้าไปซื้อตอนที่หุ้นขึ้นไปสู่จุดสูงสุด และขายตอนที่หุ้นตกลงมาต่ำสุดนั้นคงเรียกว่ามันเป็น “หุ้นสุดยอดหายนะ” เพราะขาดทุนหุ้นหนัก 

อย่างไรก็ตาม หุ้นตัวนั้นก็ไม่ทำให้พวกเขาล้มละลายหรือต้องเลิกเล่นหุ้นไปเลย  พวกเขาก็มักจะ  “Move On” หรือไปหาหุ้นตัวใหม่ที่เขาคิดว่าจะทำกำไรได้รวดเร็วและขายออกไปทัน  นักสังเกตการณ์บางคนเรียกพวกเขาว่า  “เม่า” ที่เป็นนักเล่นหุ้นรายย่อยจำนวนมากที่ชอบเล่นหุ้นที่ขึ้น-ลงรวดเร็วที่พวกเขาจะสามารถ “ทำกำไร” ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ

จากการสังเกตการณ์ของผมเองนั้นพบว่า  หุ้นที่มีลักษณะหรืออาการดังกล่าวนั้น  มักจะมาจากหุ้นอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผมเรียกว่า “Pseudo Growth” หรือหุ้นกลุ่ม “เติบโตเทียม” กลุ่ม “Pseudo Super Stock” หรือหุ้น “ซุปเปอร์สต็อกเทียม”   และกลุ่ม “Fraud” หรือกลุ่ม “หุ้นโกง” โดยที่หุ้นบางตัวนั้นก็อาจจะมีลักษณะคาบเกี่ยวกับทั้ง 3 กลุ่มได้  เช่น  สร้างภาพว่าเป็นหุ้นโตเร็วแต่ในขณะเดียวกันก็มีการโกงโดยการแต่งบัญชีอย่างผิดกฎหมายหรือผิดหลักการทางบัญชีด้วย  เป็นต้น 

วิธีสังเกตว่าหุ้นตัวไหนอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้นเติบโตเทียมก็คือ   ผู้บริหารมักจะมีโปรเจคใหม่มากมายเป็นสไตล์  “จ้าวโปรเจค” และสิ่งที่ทำมากที่สุด เพราะจะทำให้เห็นผลรวดเร็วก็คือ  การทำ M&A หรือซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นของบริษัทที่ทำกำไรอยู่แล้ว  ซึ่งก็จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็น  บริษัทโตเร็วหรือ “หุ้นเติบโต”  ยิ่งบริษัทที่ซื้อเข้ามาอยู่ในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม  “แห่งอนาคต”  ภาพของบริษัทก็ยิ่งดูเติบโตเร็วมากขี้น  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่ดูไฮเทคหรือเป็นดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็หาซื้อได้ยากและจะต้องจ่ายราคาหุ้นที่แพงมากจนอาจจะไม่คุ้ม

ดังนั้น  ธุรกิจหรือหุ้นที่ซื้อมาจึงมักจะไม่ดีและ/หรือแพงเกินไป  โดยมักจะเป็นธุรกิจที่มี “กำไรดี” ในตอนที่ซื้อ  แต่อนาคตก็มักจะแย่ลงเพราะกำไรนั้นไม่โตหรือไม่ยั่งยืน  ตัวอย่างเช่น  บริษัทลีสซิ่งหรือปล่อยกู้ส่วนบุคคลรายย่อย  หรือไม่ก็เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก เป็นต้น  ในส่วนของธุรกิจใหม่แห่งอนาคต  ก็อาจจะกลายเป็นการลงทุนในเหรียญคริปโตหรือการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ในช่วงที่คริปโตกำลังให้ผลตอบแทนที่ดีมาก  เป็นต้น

หนี้สินที่พอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เป็นอีกอาการหนึ่งของกลุ่มหุ้นเติบโตเทียม  เพราะบริษัทต้องใช้เงินจำนวนมากไปซื้อกิจการที่บางทีก็ใหญ่กว่าตัวเอง  และนี่ก็เป็น  “ความเสี่ยง” ที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทมีปัญหา  เพราะบริษัทและกิจการที่ซื้อมาอาจจะประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงและกิจการขายสินค้าที่เป็นแนวโภคภัณฑ์ที่ยอดขายและกำไรผันผวนสูงมาก  ทำให้ฐานะทางการเงินรองรับไม่ได้และกลายเป็นบริษัทที่มีปัญหาในที่สุด

กลุ่มหุ้นซุปเปอร์สต็อกเทียมนั้น  แตกต่างจากหุ้นเติบโตเทียมในแง่ที่ว่าตัวบริษัทเองมีคุณสมบัติที่อาจจะเป็นซุปเปอร์สต็อกหลายอย่าง  เช่น  บริษัทมีแบรนด์หรือมียี่ห้อที่โดดเด่นในสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับหนึ่ง  แม้ว่าจะไม่ถึงระดับแบบซุปเปอร์สต็อก

บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็น “เมกะเทรนด์” เช่น  อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการรับทำโปรแกรมเขียนระบบงานต่างๆ  หรือให้บริการเช่นความปลอดภัยหรือการเก็บรักษาข้อมูลดิจิทัล  แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีความสามารถในการขยายตัวหรือ “ผูกขาด” ธุรกิจอะไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  หรือบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมและ/หรือเป็น  ผู้นำ  ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม  แต่ก็มีปัญหาแบบเดียวกันที่จะต้องแข่งขันและมีข้อจำกัดในการเติบโต  ซึ่งรวมถึงการที่ต้องมีบุคคลากรและสถานที่ที่ไม่ได้ขยายตัวได้ง่าย  หรือพูดง่าย ๆ  “Scalable”  ยาก

สรุปก็คือ  สิ่งที่ซุปเปอร์สต็อกเทียมขาดนั้น  มักจะอยู่ที่ว่าการเติบโตในระยะยาวมีข้อจำกัดมาก  เช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันที่มักจะไม่แข็งแรงพอ  แต่การที่ในช่วงแรกที่เห็นการเติบโตค่อนข้างโดดเด่นนั้น  อาจจะมาจากสถานการณ์พิเศษที่ค่อนข้างเอื้ออำนวย  หรือการที่ผลประกอบการโดดเด่น  “หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” ก็ทำให้คนเชื่อได้ง่ายว่าบริษัทเป็น “สุดยอดกิจการ” อย่างไรก็ตาม  ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปมากและค่า P/E มักจะสูงลิ่ว  ก็ทำให้หุ้นไม่สามารถเป็นซุปเปอร์สต็อก  แต่กลายเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกเทียมที่ทำให้หุ้นตกลงมาเป็นหายนะได้

หุ้นโกง  นี่คือหุ้นที่เจ้าของและ/หรือผู้บริหารตั้งใจโกงบริษัทและนักลงทุนที่เข้ามาเล่นหุ้น  หุ้นบางตัวนั้น  เจ้าของและอาจจะรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่หรือ “เซียน” วางแผนตั้งแต่แรกที่จะเข้ามาหาเงินในบริษัทและตลาดหุ้น  อาจจะโดยการเทคโอเวอร์บริษัทเป้าหมายด้วยวิธีการซื้อหุ้นทั้งหมดหรือแลกหุ้นซึ่งไม่ต้องใช้เงินสด  จากนั้นก็สร้างสตอรี่  ปั้นบริษัทให้เป็นหุ้นแบบเติบโตเทียม  สร้างกำไรโดยการแต่งบัญชี  ไซฟอนเงินจากกิจการโดยตรง  ซึ่งก็มักจะทำในบริษัทลูกโดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในต่างประเทศ  เป็นการโกงเงินจากบริษัท  นอกจากนั้นก็ยัง  “โกงเงินจากนักลงทุนในตลาดหุ้น” โดยการสร้างราคาหุ้นและชวนนักลงทุนทั้งสถาบันและนักลงทุนส่วนบุคคลเข้าซื้อหุ้นที่ราคาแพงเพราะคิดว่าเป็นหุ้นเติบโต

การ “โกง” นั้น  ถ้าจะพูดแบบกว้างก็คือ  มักจะเป็น  องค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของหุ้นที่ “ดีสุดยอดก่อนจะถึงหายนะ”  เกือบทุกกลุ่ม  แต่ในกรณีแบบนี้จะเป็นการโกงแบบที่ “จับไม่ได้” และอาจจะเป็นการโกงที่ “ไม่รุนแรง” แบบ “กลุ่มหุ้นโกง”  ที่สุดท้ายจะถูกเปิดโปงและคนที่ทำอาจจะต้องโดนคดีอาญาแผ่นดิน  ตัวอย่างเช่น  ผู้บริหารหรือเจ้าของ “โกง” โดยการแต่งบัญชีที่ “ไม่ผิดกฎหมาย”  เช่น เปลี่ยนรายจ่ายบางอย่างให้เป็นรายการลงทุน  หรือเลื่อนสถานะลูกหนี้ที่ควรจะเป็นหนี้เสียและต้องตั้งสำรองออกไป  หรือบางทีก็ซื้อของจากบริษัทโดยตัวเองเพื่อสร้างรายได้และกำไรเทียม  เป็นต้น

แต่จะไม่เหมือนกับการโกงดื้อๆ  เพราะบริษัทก็จะพยายามเคลียร์ส่วนที่ “โกง” ไว้ในอนาคต  โดยอาจจะค่อย ๆ  เกลี่ยเงินรายได้และกำไรในอนาคตกลับคืนมาหลังจากที่หุ้น “หมดสภาพ”  เป็น “หุ้นสุดยอด” และกลายเป็น “หุ้นหายนะ” ไปแล้ว  ด้วยวิธีการนี้  คนที่ทำก็ “ลอยนวล” และรวยขึ้นอย่างเหลือเชื่อ  สิ่งที่เสียก็เป็นเพียงชื่อเสียงที่ครั้งหนึ่งนักลงทุนคิดว่าเป็นผู้บริหารที่ “สุดยอด” ในการสร้างผลงานของบริษัท

และนั่นก็นำมาสู่ “สัญญาณ” ของหุ้นสุดยอด…หายนะ สุดท้ายที่จะพูดถึงนั่นก็คือ  ผู้บริหารมักจะเป็น “คนดัง” ที่ให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวและผลงานถี่ยิบ  ไม่ว่าจะสำคัญหรือไม่  พวกเขาชอบที่จะคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใสและการเติบโตสุดยอดที่จะตามมาในไม่ช้า  พวกเขามั่นใจว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทจะโตขึ้นเป็นหลายๆ  เท่าในเวลาอาจจะแค่ 3-4 ปี ที่บริษัทจะมี Market Cap. เป็นหมื่นล้านบาทถ้าบริษัทยังเล็กมาก  แต่บ่อยครั้งสำหรับบริษัทระดับกลางที่จะมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท  หลายคนแสดงความมั่นใจโดยการซื้อหุ้นของบริษัทต่อเนื่องแม้ว่าราคาจะขึ้นสูงมากแล้ว

แต่ในขณะเดียวกันก็ขายหุ้นล็อตใหญ่ให้กับนักลงทุนรายใหญ่และสถาบันลงทุนที่กำลัง  “อิน” มากกับ “สตอรี่” ของบริษัทและราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นต่อเนื่องและมีขนาดที่ใหญ่และสภาพคล่องในการซื้อขายที่เพียงพอสำหรับการลงทุน  แต่นั่นก็มักจะเป็นสัญญาณว่า  หุ้นจะไม่ขึ้นไปเร็วอีกต่อไป  และอาจจะกำลังตกลงมา  บางทีเป็นหายนะ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/finance/1073973
 
Post Reply